HomeDigitalบ๊ายบาย Physical … กระแสสตรีมมิ่งฮิตสุดๆ Sony – Samsung แห่ปิดโรงงานผลิตแผ่น CD

บ๊ายบาย Physical … กระแสสตรีมมิ่งฮิตสุดๆ Sony – Samsung แห่ปิดโรงงานผลิตแผ่น CD

แชร์ :

เป็นสถานการณ์ที่น่าจับตาทีเดียวสำหรับ Sony ที่มีการประกาศปิดตัวโรงงานผลิตสื่อเก็บข้อมูลในอังกฤษเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่โรงงานดังกล่าวเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค’80 และเป็นฐานการผลิตแผ่น CD, DVD, UMD และ Blu-ray ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งของ Sony เพื่อตอบสนองธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจ และส่งผลต่อการปิดตัวโรงงานดังกล่าวมาจากสมาคมผู้ค้าปลีกเอนเตอร์เทนเมนต์ (The Entertainment Retailer Association : ERA) ที่ระบุว่า รายได้จากบริการ Mucis Subscription ในปี 2018 ได้เพิ่มขึ้นถึง 38% หรือคิดเป็น 62% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจเพลงในอังกฤษ ส่วนรายได้จากการขายซีดีได้ถดถอยลงไปอยู่ในส่วนแบ่งตลาดอีก 38% ที่เหลือ

การเติบโตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในอังกฤษที่กลายเป็น Generation Rent เน้นการเช่าฟังรายเดือน แทนการครอบครองเป็นของส่วนตัวเหมือนในอดีต และนั่นกำลังกระทบกับธุรกิจสื่อบันทึกข้อมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้น ใช่ว่า Sony จะยกธงขาวให้กับการผลิตแผ่นบันทึกข้อมูลไปเสียทั้งหมด เพราะโรงงานผลิตแผ่นบันทึกข้อมูลของ Sony ในออสเตรีย, สาธารณรัฐเชก และสเปนยังคงเปิดทำงานตามปกติ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ต่อจากนี้ไปคงไม่ใช่ภาวะที่โรงงานผลิตแผ่นบันทึกข้อมูลจะยิ้มได้กันอีกแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ก็มี SamsungOppo ที่ประกาศยุติการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องเล่น Blu-ray และแผ่นข้อมูล Blu-ray ในตลาดสหรัฐอเมริกาไปแล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะ Samsung ผู้เปิดตัวเครื่องเล่น Blu-ray เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน และเป็นบริษัทที่ NPD Group (บริษัทวิจัยตลาด) ระบุว่า มีส่วนแบ่งตลาด Blu-ray สูงสุดในสหรัฐอเมริกาที่ 37% ตามมาด้วย Sony ที่ 31% และ LG ที่ 13% การถอนตัวออกไปของ Samsung จึงทำให้ตลาดอุปกรณ์เครื่องเล่น Blu-ray นั้นมีความเสี่ยงไม่น้อย

ต้นเหตุ Streaming กระทบรายได้

โดยข้อมูลของ NPD แสดงให้เห็นว่ายอดขายเครื่องเล่น Blu-ray ในสหรัฐอเมริกานั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2016 ที่เคยขายได้ 5.6 ล้านเครื่อง เหลือ 4.2 ล้านเครื่องในปี 2018 สวนทางกับการสมัครบริการสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นจาก 33.3 ล้านบัญชี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 เป็น 67.8 ล้านรายในปี 2018

นอกจากนั้น เมื่อหันมาดูในด้านต้นทุนค่าอุปกรณ์ก็พบว่าบริการสตรีมมิ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะเครื่องเล่น 4K Blue-ray เครื่องหนึ่งนั้น อาจมีราคาประมาณ 3,000 บาท แต่อุปกรณ์สตรีมมิ่งที่รองรับการเชื่อมต่อกับค่ายต่าง ๆ นั้นอาจมีราคาเริ่มต้นแค่ 900 บาทเท่านั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในงาน CES 2019 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ค่ายผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนมากต่างตัดสินไม่เปิดตัวเครื่องเล่น Blu-ray รุ่นใหม่ของทางค่ายอีกต่อไป โดยมีเพียง Panansonic และ Sony เท่านั้นที่นำสินค้ารุ่นใหม่มาให้ยลโฉมกัน

โอกาสใหม่ Blu-ray ขายความเก๋า 

ในวันที่บริการสตรีมมิ่งเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกสบายกว่า อาจเป็นเวลาที่เครื่องเล่นแผ่น Blu-ray เตรียมระเห็จออกจากห้องนั่งเล่นของบ้านไปอยู่ในร้านรับซื้อของเก่าแทนมากขึ้นก็จริง แต่เราเชื่อว่า นั่นไม่ใช่จุดจบของเครื่องเล่นฺ Blu-ray เสียทีเดียว เพราะยังมีโอกาสใหม่ ๆ รออยู่เช่นกัน

หนึ่งในโอกาสของ Blu-ray คือการเจาะกลุ่มผู้ที่ได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ความไม่เสถียรของภาพและเสียงที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงมีการพบว่า คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยพยายามเก็บสะสมแผ่นหนัง – เพลง และเครื่องเล่น Blu-ray อยู่อย่างขะมักเขม้นเพื่อการรับชมส่วนตัว ไม่ต้องพึ่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ยุ่งยาก

นอกจากนั้น ในยุคที่ค่ายสตรีมมิ่งต่าง ๆ เริ่มมีการแข่งขันกันด้านคอนเทนต์มากขึ้น หนังจากค่าย A อาจไม่สามารถมาฉายที่แพลตฟอร์ม B ซึ่งเป็นของคู่แข่งได้ ปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายจึงอาจตกที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินทั้งแพลตฟอร์ม A และแพลตฟอร์ม B ถึงจะได้ดูคอนเทนต์ที่ตัวเองชื่นชอบทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการประหยัดกว่าหากจะหาซื้อแผ่นภาพยนตร์ที่ชื่นชอบมาเก็บเอาไว้ดูแทน

ยุคที่ Blu-ray เป็นสื่อกระแสหลักด้าน entertainment อาจผ่านไปแล้วก็จริง แต่การเป็นสื่อทางเลือกในโลกที่สตรีมมิ่งครองเมือง ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายเสมอไป

Source

Source

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like