“โรงพยาบาลถือเป็นของดี” ที่ทุกประเทศ ทุกชุมชนอยากมีไว้ใช้ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียนที่กำลังพัฒนา ขณะที่ ‘เมียนมาร์’ เป็นประเทศที่มีศักยภาพและเศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่ยังมีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสากลไม่เพียงพอต่อความต้องการ ลองวาดภาพว่า โรงพยาบาลในประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน มีสภาพเดียวกับโรงพยาบาลไทยเมื่อ 30 ก่อน ที่ยังขาดทั้งความพร้อมในด้านของเทคโนโลยีทางการแพทย์ มาตรฐานการรักษา รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีประชาชนที่ต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก
เปิดอินไซด์ คนพม่าชอบมารักษาที่ไทย
จากการศึกษาการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในย่างกุ้งเมื่อราวๆ 5 ปีก่อน โดย “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” หรือ “THG” เครือข่ายการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์ ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันเมืองย่างกุ้ง มีโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐอยู่ 3-4 แห่ง และโรงพยาบาลของเอกชนอีก 7-8 แห่ง ซึ่งมีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียงเท่านั้น โดยเกือบทั้งหมดเป็นของท้องถิ่น มีแห่งเดียวที่เป็นทุนของอินโดนีเซีย ในแง่ของจำนวนถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีถึง 6 ล้านคน
ขณะเดียวกันพบว่า จากจำนวนคนไข้ 1.8 ล้านคนทั่วโลกที่นิยมเดินทางมารักษาตัวและตรวจสุขภาพที่ไทย ในจำนวนนี้มีชาวเมียนมาร์อยู่เฉลี่ยวันละ 600 คน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เข้ามารักษาตัวที่ไทยมากที่สุด
ลงทุน 2 พันล้านบาท เมียนมาร์ร่วมถือหุ้น
เมื่อเมียนมาร์ยังขาดทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ประกอบกับความต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของชาวเมียนมาร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ THG ตัดสินใจร่วมลงทุนพัฒนาโรงพยาบาล Ar Yu International Hospital โดยที่มาจาก ‘อายุ ’ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในเมืองย่างกุ้ง ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท ARYU International Health Care Company Limited ด้วยงบลงทุนราว 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2,000 ล้านบาท
โดยในการร่วมทุนครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่ THG รายเดียว แต่มีผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ถือหุ้น 40% 2. Ga Mone Pwint Company Limited หรือ GMP ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ถือหุ้น 50% และบริษัท Aryu Ananta Medical Services Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นที่มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในเมียนมาร์เป็นผู้ถือหุ้น อีก 10%
ปัจจุบัน โรงพยาบาล Ar Yu International Hospital เปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยนอก (OPD) และแผนกผู้ป่วยใน (IPD) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง ห้องผ่าตัด 8 ห้อง และห้องพัก 142 ห้อง โดยมีพนักงานทั้งหมด 300-400 คน โดยเป็นทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 120 คน
มีศูนย์ตรวจการรักษาที่ให้บริการครอบคลุม อาทิ ศูนย์ศูนย์หัวใจ (Heart (Cardiology) Center), ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร (Endoscopic (GI) Clinic), ศูนย์กุมารเวชศาสตร์ (Children’s (Pediatrics) Clinic), ศูนย์หู คอ จมูก (Ear Nose and Throat Clinic), แผนกฉุกเฉิน (Emergency Department), ศูนย์ไตเทียม (Hemodialysis Department), ศูนย์กระดูกและข้อ (Orthopedic) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศูนย์สุขภาพ (Wellness Center) ที่นำเสนอโปรแกรมตรวจสุขภาพอย่างครบวงจรด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
สามารถรองรับชาวเมียนมาร์ นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีระบบและการให้บริการตรวจรักษาที่มีมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับโรงพยาบาลธนบุรีในประเทศไทย
เจาะกลุ่มคนป่วยกระเป๋าหนัก
นพ. ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG บอกว่า ปัจจุบันรายได้หลักของ โรงพยาบาล Ar Yu International Hospital มาจากผู้ป่วยนอกหรือ (OPD) ในส่วนค่าเอกซเรย์และค่าแล็บเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยใน (IPD) เริ่มมีมากขึ้น จากการที่มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดทุกวัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายปี สัดส่วนของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะขยับมาใกล้เคียงกัน เหตุผลเพราะ เริ่มมีผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในรัฐอื่นของเมียนมาร์ เช่น รัฐฉาน เดินทางมารักษาที่นี่ เพราะเคยได้ยินชื่อจากคนที่เคยเดินทางมารักษา
ส่วนค่ารักษาพยาบาล เมื่อเทียบกันแล้วค่ารักษาของที่นี่จะถูกกว่าที่ประเทศไทย เพราะค่าแรงของคนเมียนมาร์เฉลี่ยจะอยู่ที่วันละ 120 บาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าแรงคนไทย
“แต่จริงๆแล้วใครมาก็รักษาหมด เพราะโรคกว่า 95% ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่ไทย ทำให้สามารถเข้ามารักษาที่นี่ได้ โดยผู้ป่วยนอกมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,200 – 1,500 ต่อครั้ง ส่วนนอนโดยไม่ผ่าตัดคืนละ 6,000 – 7,000 บาท เมื่อเทียบกับการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งเฉลี่ยคืนละ 12,000 – 13,000 บาท แต่มองว่า เป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ราว 45,000 – 60,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 30% ของฐานประชากรย่างกุ้งที่มีกว่า 6 ล้านคน”
แค่ทำห้องน้ำให้สะอาดกว่า ก็ชนะแล้ว
แน่นอนว่าชื่อเสียงของโรงพยาบาลธนบุรี ในความเป็นโรงพยาบาลชั้นนำจากประเทศไทย เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานการรักษา ประกอบกับการนำบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรระดับผู้บริหารจากประเทศไทยมาที่นี่โดยตรง ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้
แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Ar Yu แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆที่มีอยู่ก่อนหน้า นพ. ธนาธิป มองว่า
หากสามารถทำโรงพยาบาลให้ดีกว่าเดิม ทั้งในเรื่องของกายภาพ ที่มองจากภายนอกแล้วเห็นตึกชัด เดินเข้ามาแล้ว ไม่ชื้นไม่เหม็น “ทำห้องน้ำให้สะอาดกว่า” ก็เพียงพอจะชนะที่อื่นแล้ว รวมไปถึงการสร้างบริการที่ใส่ใจเหมือนกับการไปรักษาที่เมืองไทย เมื่อเข้ามาแล้วสัมผัสได้ถึงความเป็นโรงพยาบาลไทย ที่มีคนไทยมาถือหุ้นและบริหาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงความท้าทายในระยะเริ่มต้น
เพราะในระยะยาว นพ.ธนาธิป มองว่า จำเป็นต้องพัฒนาบุคคลทางการแพทย์ และสร้างโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อดึงดูดให้แพทย์เมียนมาร์ที่ยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศ เดินทางกลับมาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการแพทย์เมียนมาร์
“จริงๆแล้ว ก็ต้องบอกว่าไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพียงแต่ลอกโจทย์ประเทศไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาทำก็เท่านั้นเอง”