HomeBrand Move !!8 ปรากฏการณ์ “Libra” เงินดิจิทัลเขย่าโลก

8 ปรากฏการณ์ “Libra” เงินดิจิทัลเขย่าโลก

แชร์ :

หากเอ่ยถึง Blockchain, Cryptocurrency, bitcoin, Ethereum ฯลฯ หลายคนอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว บ้างก็มองเป็นเรื่องของการเก็งกำไร และความผันผวนไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในความเป็นจริง ความไกลตัว การเก็งกำไร ฯลฯ เหล่านี้กำลังขยับเข้ามาหาเรารวดเร็วกว่าที่คิด เห็นได้จากข่าวการจับมือกันของบริษัทชื่อดังจำนวน 28 แห่งเพื่อก่อตั้ง Libra Association ซึ่งเป้าหมายของสมาคมคือการรวบรวมสมาชิกให้ได้ 100 ราย เพื่อสร้างผลผลิตอย่างเงินดิจิทัลในชื่อ “Libra” ขึ้นมาใช้งานภายในปี ค.ศ. 2020

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เหตุที่สกุลเงิน Libra น่าสนใจสำหรับคนไทยเพราะใน 28 ผู้ก่อการที่ตั้ง Libra Association นั้นมีบริษัทที่คนไทยเราคุ้นเคยมาก ๆ อย่าง Facebook รวมอยู่ด้วย และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งาน Facebook สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจากจำนวนแอคเคาน์ที่มีมากกว่า 50 ล้านแอคเคาน์ ดังนั้นโอกาสที่คนไทยจะได้ทดลองใช้เงิน Libra ก่อนใครจึงเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีข่าวว่า Facebook เริ่มออกอาการถอย เพราะเจอแรงต้านจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ แต่เรื่องของ Libra ก็ยังน่าศึกษาอยู่ดี เราจึงขอรวบรวมข้อมูลที่อาจทำให้คนไทยรู้จัก Libra มากขึ้น รวมถึงโอกาสที่ว่า Libra จะมาแทนที่ใครได้บ้างในโลกยุคโลกาภิวัฒน์มาฝากกันค่ะ

1. Libra เงินคริปโตที่ผันผวนต่ำ?

ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม GMO-Zcom Cryptonomics หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาบนเวที “Libra สกุลเงินดิจิทัลเปลี่ยนโลก” เผยว่า Libra หรือเงิน Cryptocurrency เกิดขึ้นมาในฐานะสกุลเงินเข้ารหัส เพื่อให้เราสามารถโอนเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลโดยไม่ผ่านตัวกลาง (เช่น ธนาคาร) และไม่ต้องรายงานต่อผู้คุมกฎ (อย่างธนาคารกลาง, หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสของการทำธุรกรรม เช่น ปปง., กระทรวงการคลัง)

เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของ Cryptocurrency คือบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกเปรียบว่าเป็นอินเทอร์เน็ตในยุคที่ 2 เนื่องจากสามารถส่งสิ่งที่มีมูลค่าหากันได้ เช่น เงิน, ทองคำ, หุ้น, โฉนดที่ดิน ฯลฯ และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นการเก็บแบบกระจาย จึงยากแก่การเจาะระบบหรือทำลายเชนเหล่านั้นลงได้

โดย ดร.เฉลิมรัฐกล่าวเปรียบเทียบว่า หาก Bitcoin คือคลื่นลูกที่ 1 ของ Blockchain คลื่นลูกที่สองก็คือ “Libra”

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะ Bitcoin มีความผันผวนสูงมาก มูลค่าของ bitcoin สามารถเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาท เป็น 600,000 บาทได้ภายใน 60 วัน และไม่มีสินทรัพย์ใดมาค้ำประกัน Bitcoin ได้ (ภายในงานมีการเปรียบเทียบ Bitcoin ว่าเป็นทองคำยุคดิจิทัลด้วย) Libra จึงเกิดมาเพื่อปิดจุดอ่อนนี้และต้องมีสินทรัพย์มาค้ำประกันมูลค่า เพื่อให้ราคาของเหรียญไม่ผันผวนขึ้นลงแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ bitcoin ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ Libra สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง

2. Libra เกิดจาก 28 ผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงด้าน “แหกกฎ”

นอกจากนี้ หากลองไล่เรียงชื่อของผู้ก่อการทั้ง 28 รายจะพบว่า โดยมากแล้วเป็นแบรนด์ที่พร้อมจะแหกกฏ หรือไม่ก็สร้างกระแส Disruption กันมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Uber, Lyft, Stripe, ebay, Facebook, PayPal, Spotify, coinbase, xapo ฯลฯ และการที่เจ้าสัวยุคดิจิทัลเหล่านี้กำลังรวมตัวลงขันกันด้วยเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300 ล้านบาทต่อหนึ่งรายก็ถือเป็นเม็ดเงินที่ไม่สูงเลยเมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการที่เติบโตขึ้น (เฉพาะ Facebook เอง ทันทีที่ประกาศตัวโปรเจ็ค Libra ก็มีรายงานว่ามูลค่าหุ้นของ Facebook มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยแตะไปถึง 200 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว)

โดยสิ่งที่ผู้ก่อการได้รับคือการมีสิทธิมีเสียงในการโหวดเพียง 1 สิทธิ์เท่ากัน และหาก Libra Association หาพันธมิตรได้ 100 รายตามที่กำหนดไว้ ทางสมาคมก็จะมีเงินทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทเอาไว้ใช้จ่าย โดยเงินส่วนหนึ่งที่จะถูกนำไปลงทุนในตราสารระยะสั้น ที่มีสภาพคล่องสูง ส่วนสมาชิกแต่ละรายจะได้รับหน่วยลงทุน (Token) ชื่อว่า Libra Investment Token (LIT) กลับมา ซึ่ง ดร.เฉลิมรัฐเปรียบเทียบว่า คล้าย ๆ กับการประกอบธุรกิจ เมื่อองค์กรมีกำไรก็จะมีปันผลให้กับสมาชิกผู้ก่อการ จากนั้นพวกเขาก็จะออกเงิน Libra ขึ้นมาใช้งาน แต่เป็นเงินคนละรูปแบบกับ LIT เพราะเงินตัวนี้จะมีสินทรัพย์ค้ำประกันอยู่

3. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเราเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงิน Libra 

ทันทีที่เราเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงิน Libra จะเกิดผลอย่างไรตามมาบ้าง ในจุดนี้ คุณทิพย์สุดา ถาวรามร ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางกฎหมายคือ สำหรับ LIT นั้น เข้าข่ายคำจำกัดความโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน แปลว่าหากมีผู้ระดมทุนมาเสนอขายสิ่งนี้ในประเทศไทย ก็ต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายนี้

อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ปัจจุบัน มุมของคุณทิพย์สุดามองว่ายังห่างไกล เพราะเป็นการจำกัดตัวอยู่ใน 28 บริษัทผู้ก่อการเท่านั้น ส่วนการจะเข้าร่วมเป็นผู้ก่อการเพิ่ม ก็มีเกณฑ์มากมายของ Libra Association ให้ต้องปฏิบัติตาม

ส่วน Libra อีกตัวที่ไม่ใช่ LIT นั้นก็เข้าข่ายสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่ม Cryptocurrency เช่นกัน แต่คนที่ถือก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยใด ๆ (เพราะดอกเบี้ยจะตกอยู่กับ Libra Association ไปแล้ว)

“ตามกฎหมาย พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 ไม่ได้เรียกคนที่จะออกเงินคริปโตว่าต้องให้ ก.ล.ต.อนุญาตก่อนจึงจะออกได้ แต่ถ้ามีใครอยากเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการให้คนมาซื้อขายสิ่งนี้ในตลาดประเทศไทย คนเหล่านั้นคือคนที่ต้องขออนุญาตกับ ก.ล.ต.”

โดยความน่าสนใจอยู่ที่ ภาพนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า เนื่องจากเป้าหมายของผู้ก่อการคือต้องการให้ Libra เป็น StableCoin นั่นคือให้มันผันผวนน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อผันผวนน้อยก็จะไม่เกิดการเก็งกำไร และเมื่อไม่มีการเก็งกำไร การซื้อขายก็อาจไม่มีความสำคัญนั่นเอง

หรือในมุมของ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 ก็ถูกเขียนขึ้นเพื่อกำกับกิจกรรม 2 อย่าง นั่นคือการระดมทุน ซึ่ง Libra อาจไม่ใช่ สองคือกำกับกิจกรรมของการเป็นตัวกลางประเภทโบรกเกอร์ที่คอยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในจุดนี้ ก็น่าจะสวนทางกับความตั้งใจของสมาคมที่อยากให้ Libra เป็นเครื่องมือชำระราคา เงิน Libra จึงอาจไม่เข้าข่ายที่จะถูกบังคับอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 เลยก็เป็นได้ ซึ่งนั่นอาจเป็นปัญหาของแต่ละประเทศที่จะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมารองรับต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่น่าสนใจก็คือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมายอมรับว่า บริษัทด้านโซเชียลมีเดียแห่งนี้มีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอพูดคุยเกี่ยวกับโครงการ Libra แล้ว แต่ยังไม่มีการระบุวันและเวลาที่แน่นอนเท่านั้น หรือในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า Libra ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 อย่างไรก็ดี ทาง ก.ล.ต. จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและเตรียมออกกฎหมายลูกมากำกับดูแล เชื่อว่าจะสามารถรับมือได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเส้นตายที่ Libra จะเริ่มใช้งาน

4. ความท้าทายของ Libra ต้องเกิดแบบปูพรม?

การตอบคำถามนี้อาจต้องย้อนกลับไปฟังประโยคที่ David Marcus หัวหน้าโปรเจ็ค Libra จาก Facebook ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า Libra คือระบบการเงินของโลกใหม่ ซึ่งมีขึ้นเพื่อขจัดความเสี่ยงหลายอย่างที่เคยมีมาในโลกการเงินยุคเก่า หนึ่งในนั้นคือการโจมตีค่าเงินของบรรดาขาใหญ่ในวงการค้าเงินตรา เหมือนเช่นที่ประเทศไทยเคยประสบเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งไปเมื่อปี 20 กว่าปีก่อน

แต่ความท้าทายของ Libra คือเรื่องขนาดตลาด โดย ดร.เฉลิมรัฐมองว่า เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงของการเกิดขาใหญ่ในตลาด Libra ต้องเดินเกมเร็ว เปิดตลาดแบบปูพรมเพื่อให้ได้ Market Cap ที่ใหญ่ และทำให้จบทีเดียว ไม่ใช่เปิดทีละประเทศ

เหตุผลก็คือเพื่อป้องกันคนเข้าไปทยอยซื้อเก็บ จนกลายเป็นเจ้ามือ คนเหล่านี้จะกลายเป็นจอร์จ โซรอสเบอร์สองที่พร้อมจะเขย่าตลาดทันทีที่ Libra เปิดใช้งานทั่วโลก ดังนั้น การเริ่มต้นโดยสร้าง Market Cap ให้มีขนาดใหญ่มากจะช่วยตัดตอนคนเหล่านี้ออกไปทำให้ไม่มีรายใหญ่เข้ามาปั่นได้ ซึ่งคำกล่าวนี้สอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุว่า ตัวแทนจาก Libra Association เริ่มติดต่อเข้าพบกับธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ แล้ว

5. Libra อาจเป็น New S Curve ของบริษัทดิจิทัล

ในจุดนี้เป็นการวิเคราะห์ของ ดร.เฉลิมรัฐอีกเช่นกันที่มองว่า ธุรกิจโฆษณาของ Facebook กำลังถึงจุดอิ่มตัว และบริษัทเองกำลังมองหา New S Curve ใหม่อยู่ไม่ต่างจากบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ

“ทุกวันนี้ Facebook เป็นบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยที่ไม่มีคอนเทนต์ – นักข่าวเป็นของตัวเอง และมีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณา โดยประเทศท็อป 10 ที่จ่ายเงินให้เฟซบุ๊กมากที่สุดก็อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพียงแต่ ณ วันนี้ อัตราผลตอบแทนของการลงโฆษณาบน Facebook เริ่มต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด และบางทีอาจต่ำกว่าสื่อทีวีเสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้บริษัทต้องมองหา New S Curve ใหม่ และ New S Curve ใหม่ของบริษัทเทคโนโลยีก็คือการมุ่งสู่ธุรกิจธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น Tencent ที่เริ่มจาก WeChat จนตอนนี้ก็มาเป็น WeBank หรือ LINE ที่ตอนนี้ก็มี LINE Bank”

การคาดการณ์ของ ดร.เฉลิมรัฐคือ Facebook ก็กำลังเดินไปสู่จุดเดียวกัน และรายได้ใหม่ของ Facebook จะมาจาก Banking ธุรกิจที่ถูกเรียกว่าเป็นเสือนอนกินมานานนับศตวรรษนี่เอง

6. ธนาคารจะโดน Disrupt แน่ แต่ “รัฐบาล” จะโดนก่อน

ตัดกลับมาที่ภาพใหญ่ สิ่งที่ตามมาหลังจากการประกาศเปิดตัว Libra Association ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะจากภาครัฐ เห็นได้จากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาออกมาเบรกการเคลื่อนไหวดังกล่าวแทบจะทันที พร้อม ๆ กับแสดงความเป็นห่วงว่า Libra จะทำให้เสถียรภาพการเงินโลกสั่นคลอนได้ อีกทั้งยังนำไปสู่การเชิญ David Marcus หัวหน้าโปรเจ็ค Calibra จาก Facebook เข้าพบเพื่อชี้แจงในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ด้วย

ขณะที่ในมุมของคุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานคณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หนึ่งในคีย์แมนด้านการเงินการธนาคารมองว่า เพลเยอร์เดิมอย่างธนาคารนั้นจมอยู่กับต้นทุนด้านโครงสร้าง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่า ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับบล็อกเชน อย่างไรก็ดี ความที่เป็นระบบปิด คนอื่นไม่สามารถเข้ามาร่วมเล่นด้วยได้ จึงทำให้ธนาคารสามารถชาร์จค่าธรรมเนียมแพง ๆ ได้มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ Libra มาถึง ในฐานะนักการเงินการธนาคาร คุณธีรนันท์เชื่อว่าจะสามารถหาทางไปต่อกับ Libra ได้แน่นอน เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบใดเท่านั้น แต่คนที่จะถูก Disrupt มากกว่าคือรัฐบาล หรือธนาคารกลางของประเทศ เนื่องจากเงิน Libra อาจทำให้เกิด Parallel Economy หรือตลาดที่คนเต็มใจเข้าไปซื้อขายกันโดยที่รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์อีกต่อไป

7. ภาษา Move จะกลายเป็นภาษาสำคัญด้านโปรแกรมมิ่ง

หาก Libra เกิดขึ้นได้จริง และนำไปสู่การสร้างโครงสร้างทางการเงินใหม่ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ภาษา Move จะกลายเป็นภาษาในการเขียนโปรแกรมที่สำคัญมากขึ้นมาอีกหนึ่งภาษา เนื่องจากภาษานี้สามารถเขียน Smart Contract ได้ และมีโอกาสที่จะใช้ Smart Contract ในสัญญารูปแบบต่าง ๆ ได้ โดย ดร.เฉลิมรัฐได้ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงจากการใช้ Smart Contract เช่น กรณีทำสัญญาเงินกู้บน Smart Contract หนังสือสัญญาตัวนี้จะมีสิทธิเข้าไปหักเงินในบัญชีอัตโนมัติเลย ถ้าเข้าตามที่เงื่อนไขกำหนด

8. “เหรียญเจ้าสัว” มาแน่หาก Libra เกิด

หาก Libra เกิดขึ้นได้จริง ดร.เฉลิมรัฐคาดการณ์ว่า จะทำให้เกิดการเลียนแบบ และสร้างสกุลเงินดิจิทัลเพื่อใช้จ่ายกันใน Ecosystem ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ตามมา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีบริษัทที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้านแสนล้านเรียงรายกันอยู่มากมาย การจะควักเงินลงทุน 300 ล้านบาทเพื่อลงขันกันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก

ส่วน “ทำไมถึงต้องทำ” คำตอบมาจากสิ่งที่บริษัทเหล่านั้นจะได้รับ นั่นคือกำลังในการซื้อ – พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่ละราย ที่จะแสดงออกมาผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล โดยข้อมูลนี้สามารถนำไปออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้มากมาย

ส่วนคำถามที่ว่า Libra มา Bitcoin จะต้องจากไปหรือไม่นั้น ตามการคาดการณ์ของ ดร.เฉลิมรัฐมองว่า Bitcoin จะไม่หายไป แต่จะถูกยกระดับขึ้นเป็นทองคำดิจิทัลแทน และมี Libra เข้ามาทำหน้าที่เสมือนเงินตราในการแลกเปลี่ยน

รับมือกับ Libra

มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าภาพของ Libra ได้ถูกฉายออกมาในหลาย ๆ ด้านตามการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญไทยไปพอสมควร แต่คำถามต่อไปคือ เราจะรับมือ Libra กันอย่างไรมากกว่า

ในจุดนี้ คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานคณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลมองว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับตัวคือ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ และมุมมองด้านนโยบายที่จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“อีก 10 ปีข้างหน้าผมเชื่อว่าเงินคริปโตจะอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา แต่จะอยู่ในรูปแบบไหน หรือชื่ออะไรยังไม่สามารถบอกได้ นั่นจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วประเทศไทยพร้อมไหมกับดิจิทัล เรามีการสนับสนุนผู้ประกอบการไปในทิศทางนั้นหรือเปล่า หรือเรากำลังไล่จับเขาแบบที่เคยไล่จับคนที่พัฒนา VoIP เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ทุกวันนี้เราต้องใช้ LINE – Facebook แทน”

“เรามีกฎหมายยกเว้นภาษีให้ VC แต่เงินลงทุนนั้นต้องลงกับสตาร์ทอัปไทยเท่านั้น ก็ทำให้ VC ที่มีความสามารถไม่อยู่ในไทย เราเลยมีแค่ CVC ซึ่งเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์การเติบโตของบริษัท ทำให้การเติบโตของสตาร์ทอัพบ้านเรานั้นแคบมาก”

มองธุรกิจรุ่นใหม่ ทำพายให้ใหญ่ขึ้นก่อน แล้วค่อยแบ่งกัน

แนวคิดทิ้งท้ายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินไทยเวทีนี้จึงอาจเป็นมุมมองของการแข่งขันที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับพาร์ทเนอร์ชิปมากขึ้น เพื่อขยาย “ถาดพาย” ให้ใหญ่ขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยแบ่งกัน การทำเช่นนี้จะทำให้ส่วนแบ่งที่บริษัทต่าง ๆ จะได้รับอาจมากขึ้นตามไปด้วย ดีกว่าการแข่งขันบนถาดพายถาดเดิม ที่เสี่ยงกับการแพ้และได้ส่วนแบ่งน้อยลง

ส่วนพายถาดนี้ของ Libra ใหญ่แค่ไหน ก็แค่เอาโลกทั้งใบเป็นเดิมพันเท่านั้นเอง


แชร์ :

You may also like