ชาวจีนกำลังติดกับความสะดวกสบายและสนุกสนานจากการที่ทุกสิ่งในชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นด้วยแอปพลิเคชั่น ที่ออกมาไม่หยุดหย่อนด้วยสารพัดฟีเจอร์เพื่อรองรับทุกสิ่งที่พวกเขาต้องทำในชีวิตประจำวัน จนตอนนี้มันเลยเถิดไปถึงเรื่อง “การคัดแยกขยะ”
หลังจากมีเสียงโอดครวญจากชาวเซี่ยงไฮ้มาซักพักเกี่ยวกับความยากลำบากในการคัดแยกขยะออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เพราะกฎใหม่ที่พึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของจีนต่างก็เห็นถึงความยากลำบากนี้ และรีบพากันกระโดดเข้าไปเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นมาช่วยเหลือ
ยักษ์ใหญ่แห่ขนเทคโนโลยีมาใช้กับ “ขยะ”
กฎใหม่ที่ว่านี้ต้องการให้ขยะถูกแยก และย่อยสลายตามแบบที่มันควรจะเป็น โดยแบ่งสี่ประเภท: ขยะย่อยสลายได้, ขยะแห้ง, ขยะมีพิษและขยะรีไซเคิลได้ ชาวบ้านร้านตลาดที่ล้มเหลวในภารกิจการแยกขยะตามสี่หมวดนี้จะถูกปรับเงิน และอาจถูกลดคะแนนเครดิตทางสังคม แต่การจะเริ่มอะไรตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และตามสไตล์พี่จีนชั่วโมงนี้ บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายก็เลยพัฒนาสารพัดแอปฯ ใช้โปรแกรมหลายอย่างเข้ามาช่วย
เริ่มจาก Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของแอปส่งข้อความ WeChat อันโด่งดัง เปิดตัวมินิโปรแกรม Master of Trash Sorting สำหรับผู้ใช้ในเมืองปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้นและกวางโจว เป็นแอปที่มีคำแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับการแยกและกำจัดขยะตามคีย์เวิร์ด ลดปัญหาความงงงวยว่า เอ…เจ้าขยะชิ้นนี้ต้องโยนทิ้งเข้าถังไหน, วางขยะให้รถมาเก็บยังไงดีนะ?
ในฝั่งของ Alipay อาวุธทางการเงินของอาลีบาบาได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าได้ติดตั้ง AI และเพิ่ม AR ให้กับโปรแกรมขนาดเล็กสำหรับการคัดแยกขยะในเซี่ยงไฮ้และเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน วิธีการใช้งานก็สนง่ายดาย ผู้ใช้เพียงสแกนขยะชิ้นที่ต้องการโดยการใช้กล้องบนสมาร์ทโฟน เพื่อดูข้อมูลว่าขยะชิ้นนั้นๆ เป็นขยะประเภทใด
Alipay กล่าวว่าโปรแกรมขนาดเล็กที่ว่านั้นมีการจัดทำดัชนีขยะมากกว่า 4,000 ประเภทที่แตกต่างกันในปัจจุบัน และได้ช่วยเหลือผู้คนไปแล้วมากกว่า 3 ล้านคนตั้งแต่ช่วงทดสอบแบบเบต้าในต้นเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ Alipay ยังได้เปิดตัวมินิโปรแกรมอีกหนึ่งรายการที่ช่วยให้ผู้คนใน 16 เมืองทั่วประเทศจีนสามารถขายขยะรีไซเคิลจากบ้านของพวกเขาได้
และเพื่อไม่ให้น้อยหน้า คู่แข่งขันอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาอย่าง JD.com กล่าวว่าเป็นเทคโนโลยี AI-backed image recognition technologies หรือการใช้การจดจำภาพที่โดย AI เพื่อให้ธุรกิจสามารถัดแยกได้ง่ายขึ้น และถ้าคุณคิดว่าการพิมพ์คีย์เวิร์ดแบบ Tencent ก็ง่ายดี แต่การถ่ายรูปแบบ Alibaba นั้นง่ายกว่า คุณจะพบว่า JD.com งัดไม้ตายในแบบที่ว่าผู้ใช้แค่พูดถามคำถามก็ได้จะคำตอบเลย เช่น “ขยะประเภทนี้คืออะไร” และ“ ฉันจะรีไซเคิลขยะชิ้นนี้ได้อย่างไร”
ด้วยประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน ทำให้จีนเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ แต่การเรียกร้องหาพฤติกรรมการคัดแยกขยะนั้นพัฒนาไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในทศวรรษที่ผ่านมา
ดังนั้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองในประเทศจึงได้ริเริ่มที่กฎการคัดแยกและรีไซเคิลขยะอย่างเข้มงวดเพื่อทดลองและเลียนแบบความสำเร็จจากนโยบายที่คล้ายคลึงกันนี้ที่มีในญี่ปุ่นและไต้หวัน
เทรนด์การแยกขยะและรีไซเคิลนี้ยังได้รับความสนใจจากสตาร์ทอัพเกมในจีน ที่พึ่งปล่อยวิดีโอความยาว 15 วินาทีของเกม VR คัดแยกขยะที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพของ VitrellaCore ได้กลายเป็นไวรัลทั่วโซเชียลมีเดียของจีนเมื่อไม่นานมานี้
เกมดังกล่าวเปิดตัวที่งาน Mobile World Congress ในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนที่แล้วซึ่งมีผู้สนใจมาต่อคิวรออย่างล้นหลามเพื่อที่จะทดลองเล่นเกมดังกล่าว ตามรายงานจากสื่อของซินหัว
วิธีการเล่นคือ ผู้เล่นจะต้องสวมแว่นตา VR และจะเห็นขยะประเภทต่างๆ และถังขยะรีไซเคิล ผู้เล่นจะได้รับคะแนนเมื่อขยะถูกนำไปใส่ในถังขยะที่เหมาะสม
และถ้าคุณคิดว่านั่นเจ๋งมากๆ แล้ว… เราอยากให้คุณเจอสิ่งนี้ก่อน ในปักกิ่งได้ออกแบบถังขยะพร้อมระบบจดจำใบหน้าติดตั้งในพื้นที่เขตชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อระบุว่าใครกำลังทิ้งขยะ!! ชาวบ้านที่ทิ้งขยะลงในถังขยะที่ถูกต้องจะได้รับคะแนนเครดิตทางสังคมมากขึ้น ข้อมูลนี้มาจากวิดีโอที่ถูกโพสต์บน Weibo (ก็สนุกดีอ่ะนะ ถ้าเราใส่ขยะถูก แต่ถ้าผิดละ….)
ชาวจีนที่ยังคงสับสนมึนงงอาจจะลองมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการคัดแยกขยะอย่างพิถีพิถัน และเป็นพิธีกรรมที่ต้องฝึกให้ทำให้ถูกต้องสำหรับผู้มาอยู่ใหม่ ขยะประเภทต่างๆ จะต้องอยู่ในถุงที่ถูกต้อง ซึ่งแบ่งตามสีและนำออกมาวางในวันที่ถูกต้อง (ญี่ปุ่นะมีวันเก็บขยะที่ชัดเจน หากไม่ใช่วันเก็บขยะ จะไม่สามารถเอาถุงขยะมาวางรอไว้หน้าบ้านได้) หากไม่เช่นนั้นผู้อาศัยจะเสี่ยงต่อการถูกทำให้อับอายโดยการส่งขยะคืนมาที่บ้าน หรือในกรณีที่รุนแรงกว่านั้นอาจต้องเผชิญกับการขับไล่ออกจากชุมชนกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับเรื่องดังกล่าวที่ไม่ใช่แค่แอป เพื่อปรับปรุงทั้งการเก็บขยะและการกำจัดขยะ รวมไปถึงการขนส่งขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การเผาขยะอัตโนมัติ, วิธีการรีไซเคิลอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านอย่างปลอดภัย และเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่สามารถทำให้ขยะมีเสถียรภาพในระยะเวลาอันสั้นขึ้น
ในส่วนของไต้หวันก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ ในการเป็นประทศที่มีอัตราการรีไซเคิลสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลไต้หวันกล่าวว่ามีขยะเกือบ 60% จากช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปีที่แล้ว ที่ถูกนำมารีไซเคิล
เห็นแบบนี้แล้วมองย้อนมาที่บ้านเรานี่ก็ต้องบอกว่าเมื่อเทียบกันเราอาจจะยังหละหลวมอยู่เรื่องการคัดแยกขยะ ไม่แน่ใจอนาคตเราอาจมีนวัตกรรม หรือวิธีการสนุกๆ ที่ชวนคนมาแข่งกันแยกขยะได้แบบนี้บ้างก็เป็นได้