กลายเป็นดราม่าในชั่วข้ามคืนเลยทีเดียวสำหรับเรื่องของการฝึกทักษะเด็กไทยในด้านการ Coding ว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่ชื่อ “คอมพิวเตอร์” ความจริงก็คือ การฝึกทักษะด้าน Coding ในระยะเริ่มต้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ก็ได้ และเชื่อว่า บัณฑิตด้านไอทีเมื่อ 20 ปีก่อนหลายคนก็คงเคยเข้าห้องสอบด้วยการเขียนโค้ด หรือตอบเป็น Flow chart ลงบนกระดาษมาแล้วเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การสอน Coding แบบออฟไลน์นั้นจึงยังมีอยู่ และยังสามารถใช้สอนได้จริง โดยอาจกล่าวได้ว่า การสอน Coding แบบออฟไลน์นั้นเหมาะกับ ทุกคนที่สนใจอยากเริ่มต้นเรียน เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจับคนที่มีประสบการณ์เป็นศูนย์กับการเขียนคำสั่งต่าง ๆ มาเริ่มเขียนโปรแกรมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วคอมไพล์คำสั่งกันให้รู้ดำรู้แดงไปเลย ดีไม่ดีพาลจะทำให้ท้อใจและเลิกเรียนกันไปก่อนเปล่า ๆ
มากไปกว่านั้น การ Coding แบบออฟไลน์ยังเหมาะกับเด็กด้วย โดยเราสามารถฝึกทักษะการ Coding ด้วยการให้เด็กลองแก้โจทย์ปัญหาที่เหมาะกับวัย ยกตัวอย่างโจทย์จากเว็บไซต์ coffeefueledclassroom.com นี้ก็ได้ค่ะ
จากโจทย์ดังกล่าว เด็กจะต้องพาตัวเอกไปหาทองคำให้ได้ โดยไม่ให้ชนกับก้อนหิน หรือถูกสัตว์ป่ากิน สิ่งที่เขาจะได้จากโจทย์ในลักษณะนี้ก็คือ การคิดแบบเป็นตรรกะว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ที่สำคัญ วิธีการที่เด็กชาย A ได้มากับวิธีการของเด็กชาย B อาจจะต่างกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตอบเหมือนกันตามรูปแบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคยในระบบการศึกษาไทย
เมื่อผู้เรียนฝึกทักษะการคิดแบบมีตรรกะนี้จนคุ้นเคย พร้อมกับค่อย ๆ เรียนวิธีการ “เขียนโปรแกรม” เช่น ทำความรู้จักกับคำสั่งรูปแบบต่าง ๆ และนำทั้งสองอย่างนี้มาใช้ร่วมกันในการแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็ถือว่าบรรลุผล ดังนั้น การเรียนเขียนโค้ดในระยะเริ่มต้นโดยไม่มีคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด
กระนั้น ความท้าทายของการเรียนด้าน Coding ในเด็ก ๆ อาจไม่ใช่อยู่ที่การมีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีคอมพิวเตอร์เสียทีเดียว เพราะอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคมแวดล้อม เช่น โรงเรียน ครูผู้สอน และพ่อแม่ผู้ปกครองว่าจะมองภาพการเรียน Coding ได้อย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ไม่เช่นนั้น Coding ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งวิชาที่น่าสลดใจ เหมือนที่เราเคยสลดใจมาแล้วกับการสอนภาษาไทยแบบ “โอ-คอ=โค” หรือ “เอ-ปอ-ออ=เปอ”
สิงคโปร์ฝึกทักษะดิจิทัลให้เด็กพิเศษ
นอกจากนั้น การเตรียมความพร้อมแค่ด้าน Coding อาจไม่ตอบโจทย์เด็กทุกคน เพราะในอีกด้านหนึ่งยังมีเด็กที่ไม่พร้อม เด็กที่เจ็บป่วย เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ฯลฯ เด็กเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีทักษะในยุคดิจิทัลที่เหมาะสมกับชีวิตของตนเองเช่นกัน
ตัวอย่างของรัฐบาลสิงคโปร์นั้นน่าสนใจ เพราะมีรายงานว่า เด็กที่เป็นออทิสติกส์ หรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษอื่น ๆ นั้น จะได้ฝึกทักษะดิจิทัลที่จำเป็น 4 ด้านเอาไว้ติดตัว นั่นคือ
- – การเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
- – การทำ e-Payments
- – การใช้ email
- – การแชทผ่านแอปพลิเคชัน
นอกจากนั้น พวกเขายังได้เรียนรู้วิธีการตั้งพาสเวิร์ดให้ปลอดภัย การวิเคราะห์ว่าข่าวใดเป็น Fake News การป้องกันตัวจาก Cyber Bullying และการใช้ SingPass เพื่อเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลเตรียมไว้ให้ด้วย
เหล่านี้น่าจะเป็นทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยไม่แพ้กัน