ย้อนหลังกลับไปสัก 10 ปีก่อน เราคงเคยได้ยินกรณีศึกษาที่ “สายการบินต้นทุนต่ำ” (Low-Cost Airline) กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่เข้ามาแทนที่ “รถทัวร์” หรือ “รถไฟ” แต่ดูเหมือนว่า วินาทีนี้ธุรกิจสายการบินเอง ก็ต้องเตรียมตัวเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ “รถยนต์ไร้คนขับ” (Driverless Car) ซะแล้ว
ก่อนหน้านี้เราเคยกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ “รถยนต์ไร้คนขับ” อาจส่งผลกระทบกับเมืองของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย การจ้างงานคนขับรถ พ่วงด้วยพนักงานเก็บค่าผ่านทาง แต่วันนี้ผลกระทบของ Autonomous Car อาจเชื่อมโยงไปถึงการใช้บริการ “สายการบิน” ด้วย
เราอาจเคยวาดภาพกันว่าถ้าวันนึงมีรถยนต์ไร้คนขับจริงก็อาจใช้มันแทนรถในชีวิตประจำวัน ในระยะทางสั้นๆ อย่างขับไปรับหญิง ไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน หรือปิกนิกช้อปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ Stephen Rice และ Scott Winter คู่หูศาสตราจารย์จาก Embry-Riddle Aeronautical University ให้สัมภาษณ์กับ The Conversation เมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีแนวโน้มที่จะเริ่มพิจารณาการใช้รถยนต์ไร้คนขับสำหรับการเดินทางไกลๆ บ้างแล้ว
นั่นถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับสายการบิน
ชั่วโมงแห่งการซื้อขายเพื่อความสะดวกสบาย
ความจริงพื้นฐานที่ Rice และ Winter กล่าวถึงนั้นเรียบง่ายและเป็นความจริง “ทุกคนเกลียดการบิน” ทั้งเรื่องของความดีเลย์แล้วดีเลย์เล่า ที่นั่งหดขาจนไร้ซึ่งความสบาย การเช็คความปลอดภัยแบบตลกๆ ค่าธรรมเนียมแอบแฝงต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายที่เราล้วนเคยเผชิญจนหงุดหงิดใจจากการใช้บริการสายการบิน รถยนต์ไร้คนขับแพ้เครื่องบินด้วยปัจจัยเดียวคือ “ความเร็วในการเดินทาง” แต่เมื่อไหร่ที่รถยนต์ไร้คนขับกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันของเรา ทำไมคนถึงจะไม่เริ่มพิจารณาถึงทางลือกในการเดินทางไกล ที่พวกเขายินดีที่จะแลกเวลาเดินทางที่ยาวนานกว่า เพื่อความสะดวกสบายที่มากกว่าล่ะ?
Rice และ Winter ยกตัวอย่างการทดสอบเพื่ออธิบายความคิดของพวกเขา:
ลองนึกภาพคนที่อาศัยอยู่ในแอตแลนตาและต้องการที่จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อทำธุรกิจ ระยะทางดังกล่าวใช้เวลาการขับรถประมาณ 10 ชั่วโมง ในขณะที่เที่ยวบินใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงหากไม่มีความล่าช้า แต่เราต้องไม่ลืมบวกเพิ่มเวลาที่เราขับไปยังสนามบิน โหลดกระเป๋า ผ่านด่านเช็คตั๋ว ตรวจความปลอดภัย และไปรอที่เกท เมื่อเดินทางมาถึงดี. ซี. อาจใช้เวลาอีก 30 นาทีในการรับกระเป๋าและหารถเช่า และเพิ่มเวลาไปอีกในการขับรถไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ดังนั้นคนทั่วไปจะใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณสี่ถึงห้าชั่วโมง และคนส่วนใหญ่เลือกที่จะบินแทนที่จะขับรถเอง
อย่างไรก็ตามหากพวกเขามีรถยนต์ไร้คนขับพาพวกเขาไปได้ ตัวเลือกจะเปลี่ยนไป ผู้โดยสารสามารถกินดื่ม ทำงานและนอนหลับระหว่างช่วงเวลาเดินทาง 10 ชั่วโมง พวกเขาสามารถจอดพักได้ทุกเมื่อที่ต้องการและนึกขนอะไรไปด้วยก็ได้ รวมทั้งของเหลวและมีดพก เพราะมันไม่มีการค้นหาหรือสแกน เมื่อพวกเขาไปถึง D.C ก็ไม่ต้องหารถเช่าเพื่อไปยังปลายทางอีกที
ถ้าเป็นเราจะเลือกแบบไหน?
หากคุณถูกยั่วยวนด้วย 10 ชั่วโมงแห่งความสบายแล้วล่ะก็ บอกเลยว่าไม่ใช่แค่คุณ งานวิจัยพบว่าเมื่อพวกเขาไปถามคนที่มีสถานการณ์การเดินทางสมมุติต่างๆ ว่าพวกเขาต้องการขับรถเอง, ใช้รถไร้คนขับ หรือเลือกจะบิน คนจำนวนมากถูกล่อลวงด้วยความสบายที่เบาะหลังและปล่อยให้หุ่นยนต์ขับรถให้ ตัวอย่างผลการวิจัยพบว่าสำหรับการเดินทางเจ็ดชั่วโมง ร้อยละ 16.7 ต้องการใช้รถไร้คนขับ และอีก 12.6 เปอร์เซ็นต์ สนใจแนวคิดนี้หากช่วยให้พวกเขาลดความยุ่งยากในการเช่ารถที่ปลายทาง
แม้ว่านั่นจะไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ที่ใหญ่โต แต่ควรเพียงพอที่จะสร้างความกังวลให้กับสายการบิน
“การสูญเสียลูกค้า 1 ใน 10 รายจะลดรายได้ของสายการบินลงอย่างมาก พวกเขาไม่ได้ทำเงินมากในแต่ละเที่ยวบิน นั่นทำให้รายได้ที่น้อยลงอาจทำให้บริการของพวกเขาถดถอยไปด้วยเช่นกัน ไปจนถึงการลดจำนวนเที่ยวบินและยุบบางเส้นทางไป”
และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าไม่เพียงแต่รถยนต์ไร้คนขับจะต้องปลอดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ผู้บริโภคจะต้องเชื่อด้วยว่ามันปลอดภัย และเรื่องราวดูเหมือนจะมีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น นอกจากเรื่องของการใช้เวลาแล้ว ตอนนี้ยังมีแนวโน้มเรื่อง “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อมนุษย์เดินทางด้วยเครื่องบิน และสายการบินหลายแห่งในยุโรปก็กำลังแก้ไขเรื่องนี้ ถ้ารถยนต์ไร้คนขับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในด้านการขนส่ง ผู้บริโภคที่เบื่อหน่ายกับบริการที่น่ากลัวของสายการบินน่าจะแฮปปี้ไม่ใช่เล่น และนั่นอาจจะถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจสายการบินต้องหันกลับมาดูตัวเองว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
ย้อนกลับมาถามตัวเองเรากันดูบ้างดีกว่า ถ้าเป็นคุณคุณจะเลือกรถยนต์ไร้คนขับแทนเที่ยวบินสั้นๆ (อย่างเที่ยวบินในประเทศ) มั้ย ถ้าคุณรู้ว่าปลอดภัยและสะดวกสบายกว่าจริงๆ