ประเทศไทยพูดถึง “การกลั่นแก้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying)” กันมาหลายปีแล้ว แต่ทำไมปัญหาดังกล่าวถึงยังคงอยู่ ? สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ “การแกล้งกันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย” เริ่มต้นจากการกลั่นแกล้งทางวาจา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเรื่องโกหก ล้อชื่อพ่อแม่ ล้อเลียนปมด้อย ก่อนนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางกาย กลั่นแกล้งทางสังคม ไปจนถึงกลั่นแกล้งทางความรู้สึก กลั่นแกล้งทางเพศ และการกลั่นแกล้งบนออนไลน์
แกล้งกันในโลกความเป็นจริง ก่อนจะลุกลามไปบนไซเบอร์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งแฝงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ส่วนใหญ่ ต้องเคยมีประสบการณ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือผู้พบเห็นการกระทำ เพียงแต่ปัจจุบันเรามีอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงที่เข้ามามีบทบาท ทำให้ความสามารถในการแกล้งกันของทุกคนใกล้เคียงกันมากขึ้น ไม่ว่า “ใคร” ก็สามารถใส่ร้ายโจมตีได้บนออนไลน์
จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,606 คน ระบุว่า นักเรียนกว่า 91% เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน 88% เคยถูกกลั่นแกล้งทางวาจา 64% ถูกกลั่นแกล้งทางร่างกาย และ 30% ถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ซึ่งพฤติกรรมการกลั่นแกล้งเหล่านี้ สามารถส่งต่อแลกเปลี่ยนกันได้ เช่น การกลั่นแกล้งทางกาย สัมพันธ์กับการกลั่นแกล้งทางวาจา ดังนั้นหากต้องการหยุดการกลั่นแกล้งทางร่างกาย จะต้องย้อนกลับไปแก้ที่วาจา ต้องรู้ว่าอะไรควรพูด หรือไม่ควรพูด
สถานที่ที่เกิดการกลั่นแกล้งกันมักจะเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยและมีโอกาส 67.2% เกิดขึ้นในห้องเรียน 26.5% เกิดขึ้นในสนามโรงเรียน,โรงอาหาร และ 26.3% เกิดขึ้นทางเดินหน้าห้องเรียน, บันได
ไทยมีวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม บุญต้องทดแทน แค้นต้องชำระ?
มีการตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งของเด็กไทยแตกต่างจากต่างประเทศ ที่มักเกิดขึ้นระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ขณะที่ไทย จะเกิดขึ้นกับคนที่รู้จักกัน หรือมีการสร้างความสัมพันธ์กันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง
รศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเด็กยุคใหม่ คนที่ถูกรังแกและคนที่รังแกคนอื่นมีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่ามีการ “เอาคืน” มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเทคโนโลยีเป็นรูปแบบการรังแกที่มีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนสูงขึ้น และถึงแม้อาจไม่ได้รับความเจ็บปวดทางกาย แต่ความเจ็บปวดทางใจมีความรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่านออนไลน์จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น
นอกจากนี้พบว่า การกลั่นแกล้งกันส่วนใหญ่ ผู้กระทำมักเป็นเพศชาย ซึ่งความน่าสนใจคือลักษณะการแกล้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อ “อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม” โดยใช้จำนวนที่มากกว่าการสร้างความรุนแรง หรือมีวัฒนธรรมบุญคุณ ที่ทำให้การแก้แค้นกับบุญคุณกลายเป็นเรื่องเดียวกัน จะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่ม “LGBT ที่มักเป็นผู้ถูกกระทำ” ทั้งทางวาจา ทางเพศ และทางไซเบอร์
และเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งขึ้น ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง มีเพียง 34% ที่จะยอมเล่า โดย 64.4% เลือกบอกเพื่อน รองลงมา คือ การบอกพี่น้อง 37.1% , ครูประจำชั้น 33.8% และพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 33.8% และเหตุผลที่บอกกับผู้อื่น เพราะต้องการแก้แค้นหรือเอาคืน
“เป็นธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ที่ค่อนข้างไว้ใจเพื่อนจึงเป็นเหตุผลที่เมื่อมีปัญหามักจะบอกเพื่อนก่อน ส่วนการบอกปัญหากับผู้ใหญ่ อย่างครูและผู้ปกครอง เราพบว่า ครูที่เด็กอยากบอกปัญหากลับไม่ใช่ครูที่สนิทกับเด็กเป็นพิเศษ แต่เป็นครูที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเด็กมีความรู้สึกว่า ถ้าไปบอกครูที่สนิทจะเกิดความลำเอียง ขณะที่พ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก เราพบว่าเด็กอยากเข้าไปเล่าปัญหาให้ฟัง”
ทั้งนี้ รศ.ดร.ธานี ให้คำแนะนำถึง 3 สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา Cyberbullying ข้อแรก คือ การแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งทางกายภาพ ต่อมา ต้องมี Tried party เช่น Chat bot สายด่วน ที่เข้ามาบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น และสุดท้ายต้องมีการกำหนดมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดีย แต่มีความยากอยู่จะทำอย่างไรให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกตีกรอบจนเกินไป ดังนั้นผู้ใหญ่อาจจะต้องเข้าไปกำหนดกฎกติการ่วมกันกับเด็ก
สร้างภูมิคุ้มกัน ผ่านหลักสูตรออนไลน์ “Safe Internet”
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา Cyberbullying “ดีแทค” ได้ดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หรือ “dtac Safe Internet” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible business) ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของความยั่งยืนดีแทค ที่ต้องการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 90%
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล (Stop Cyberbullying day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ดีแทคพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet บนเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com ที่จะเปิดให้บริการพร้อมกันใน 13 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เด็กอายุ 5-16 ปี ครอบครัวและครู สามารถพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล
หลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ได้รับการออกแบบโดย “Parent Zone” ผู้ให้บริการด้านความรู้ในการเลี้ยงเด็กในยุคดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ ประกอบด้วยเกมทดสอบความเข้าใจโลกออนไลน์ คลังคำศัพท์ แบบฝึกหัด และคำแนะนำสำหรับครู ตลอดจนผู้ปกครอง
อีก 2 ปีเยาวชนต้องตระหนักรู้หน้าที่ “พลเมืองดิจิทัล”
“เราจะเห็นปัญหาว่า พ่อแม่ยังขาด Awareness ความรู้และเข้าใจในการใช้งานอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ยกตัวอย่าง กฎเกณฑ์ของผู้ใช้งาน Facebook ที่ห้ามผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 13 ปี แต่พ่อแม่หลายคนสมัครใช้งานให้ลูก ซึ่งไทยยังไม่มีการให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้องและจริงจังเหมือนอย่างในต่างประเทศ อีกเรื่องคือ ประเทศไทยควรมีการสอนเรื่อง Digital literacy ให้กับเยาวชน ดีแทคเชื่อว่าใน 2 ปีต่อจากนี้จะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปในชั้นเรียนมากขึ้น เพราะนอกจากเยาวชนจะรู้หน้าที่พลเมืองแล้ว จะต้องรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วย”
นอกจากการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์แล้ว ดีแทคจะไม่หยุดที่จะแก้ไขปัญหา Cyberbullying ให้หมดไป ขณะนี้ได้เริ่มทำ Focus group กับ Stalkholder อีกหลายแห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาบนออนไลน์ในมิติที่ยังอาจเข้าไม่ถึง
“วันนี้ต้องบอกว่า เราเลยจุดที่จะออกมาบอกว่ามันมี Cyberbullying คืออะไร เราต้องมาพูดกันแล้วว่าถ้าเยาวชนเจอแล้วจะต้องทำอย่างไร หรือเราจะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง”
อย่างในปีที่แล้ว ดีแทคทำแคมเปญร่วมกับ “a day” โดยมี “น้องแพร พาเพลิน” มาช่วยสื่อสารใน Key message ถ้าคุณโดนกลั่นแกล้ง สิ่งที่จะต้องทำคือตอบโต้ด้วยสันติวิธี นอกจากนี้สื่อสารไปถึงคนเมือง ที่ต้องมี “Self-stream” หรือการสร้างความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้แพ้ภัยเมื่อถูกกลั่นแกล้ง.