HomeBrand Move !!“บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ” ความท้าทายใหม่ผู้บริโภคในยุคที่ใคร ๆ ก็อยากกอบกู้โลกจาก “ขยะพลาสติก”

“บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ” ความท้าทายใหม่ผู้บริโภคในยุคที่ใคร ๆ ก็อยากกอบกู้โลกจาก “ขยะพลาสติก”

แชร์ :

บรรจุภัณฑ์ของ Haagen-Dazs ที่ปรับตัวตามแนวคิด Loop System ด้วยการเปลี่ยนมาใช้กระป๋องสแตนเลสในการบรรจุไอศกรีมแทนกระดาษ

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์มายาวนาน ช่วงเวลานี้อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่นักออกแบบทั่วโลกจะกลับมารู้สึกตื่นเต้น และมีไฟขึ้นอีกครั้ง กับโอกาสในการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง เห็นได้จากการปรากฏตัวของ Loop System แพลตฟอร์มที่สามารถดึงบริษัทชั้นนำอย่าง Procter & Gamble, Nestle, PepsiCo และ Unilever ให้มาเข้าร่วมได้เป็นผลสำเร็จ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยหากย้อนไปถึงจุดกำเนิดของ Loop System พบว่าเป็นแนวคิดของวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อ Tom Szaky ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทดังด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง TerraCycle แห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา Tom คืออีกหนึ่งคนที่ต้องการต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในทะเล เนื่องจากมีผลการศึกษาของ the Ellen MacArthur Foundation และ McKinsey and Company ระบุว่า ในแต่ละปีนั้น ขยะพลาสติก 32% จากน้ำหนักรวม 78 ล้านตันที่ถูกผลิตขึ้นมาไว้ใช้งานจะถูกปล่อยทิ้งลงในทะเล หรือหากเทียบให้เห็นภาพจะเท่ากับว่า มีรถบรรทุกขยะพลาสติกหนึ่งคันเทพลาสติกเหล่านั้นลงทะเลทุก ๆ นาที

หากยอมให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป บริษัทผู้ศึกษาผลกระทบดังกล่าวคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าจำนวนปลาแน่นอน ขณะที่แนวทางที่จะสะกัดไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะตัวเลขด้านการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นพบว่า มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพียง 14% ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และมีเพียง 2% ที่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ

Loop System ของ Tom จึงเกิดมาเพื่อการนี้

 

 

โดยสินค้าที่อยู่ภายใต้แนวคิด Loop System จะเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งหมายความว่า ขวดน้ำส้ม, ขวดใส่มายองเนส, แกลลอนน้ำยาซักผ้า, ถ้วยไอศกรีม ฯลฯ ที่อยู่ในโครงการนี้อาจเคยผ่านมือลูกค้าคนอื่น ๆ มาแล้วนับสิบครั้ง ก่อนที่จะอยู่ในมือเรา

ที่น่าสนใจคือสินค้าอย่างแปรงสีฟัน และโรลออนดับกลิ่นกายก็อยู่ในโครงการนี้ได้เช่นกัน โดยแปรงสีฟันจะมีการเปลี่ยนขนแปรงใหม่ ส่วนโรลออนก็เปลี่ยนลูกกลิ้งออก ส่วนแบรนด์ไอศกรีมอย่าง Häagen-Dazs ก็มีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นสแตนเลสเพื่อให้เก็บความเย็นได้ยาวนานขึ้น และมีความคงทนขึ้นเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์กระดาษ

แต่ Tom ไม่ได้ประสบความสำเร็จภายในเวลา 1 – 2 ปี ตรงกันข้าม เขาต่อสู้ภายใต้แนวคิดนี้มานานกว่า 16 ปี ซึ่งการที่แนวคิดของ Tom เริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้างอาจเป็นเพราะผู้คนทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องปัญหาขยะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เห็นได้จากการที่เมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มนำแนวคิดของ Loop System ไปใช้งาน เริ่มจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะตามด้วย มหานครนิวยอร์ก, รัฐนิวเจอร์ซีย์ และรัฐเพนซิลวาเนีย ในสหรัฐอเมริกา

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเหล่านี้ ก็คือการมีร้านค้าออนไลน์สำหรับขายสินค้าในกลุ่ม Loop โดยเฉพาะ เมื่อผู้บริโภคกดสั่งซื้อสินค้า พวกเขาต้องจ่ายเงินมัดจำสำหรับตัวบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจมีราคาระหว่าง 25 เซนต์ ถึง 10 เหรียญสหรัฐ (บริษัทขนส่งจะนำสินค้าใส่กล่องมาส่งให้ถึงหน้าบ้าน) และเมื่อใช้สินค้านั้น ๆ หมด บริษัทขนส่งก็จะมารับบรรจุภัณฑ์นั้นกลับไปโรงงานเพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค และเติมสินค้าใหม่ ก่อนจะนำมาวางจำหน่ายอีกครั้งบนระบบ (กระบวนการนี้ผู้บริโภคไม่ต้องล้างทำความสะอาดใด ๆ)

นอกจากการเริ่มต้นของเมืองใหญ่แล้ว ในส่วนของภาคเอกชน “คาร์ฟู” ห้างค้าปลีกของฝรั่งเศส และห้าง Tesco ในอังกฤษก็เข้าร่วมในโปรแกรมดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งกระบวนการของห้างคาร์ฟูก็คือ เมื่อใช้สินค้าหมด ลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาเปลี่ยนได้ที่ห้างเลย

Laure Cucuron ผู้จัดการทั่วไปของ TerraCycle กล่าวว่า สิ่งที่ Loop ทำไม่ใช่การเข้าไปเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดจำหน่ายสินค้า แต่เป็นการผนวกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น และหาโซลูชันที่ดีที่สุดขึ้นมาเพื่อให้เกิดการรีไซเคิลได้ แม้ผลของโปรแกรมนี้อาจทำให้สินค้าบางรายการมีราคาแพงขึ้น 10 – 15% จากราคาปกติ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อช่วยกู้โลก

ในมุมนักออกแบบ Stuart Leslie ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท 4sight เผยว่า แนวคิด Loop System คือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้กลายเป็น Device ชิ้นหนึ่งสำหรับนำพาสินค้าจากผู้ผลิตไปหาผู้บริโภค แทนที่จะมองมันเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อขาดเหมือนเคย และแนวคิดนี้สามารถต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ ๆ ได้มากมาย เช่น ตลับใส่ยาที่สามารถเตือนได้ว่าเราต้องกินยานั้นตอนไหน, บรรจุภัณฑ์ที่เตือนได้ว่าอาหารนั้นใกล้หมดอายุแล้วหรือยัง ฯลฯ

แม้ผลประกอบการของ TerraCycle อาจไม่อู้ฟู่นัก (ปี 2017 พวกเขาทำรายได้ไป 24 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 จากจำนวนพนักงาน 260 คน) แต่การที่ Tom Szaky และ TerraCycle สามารถโน้มน้าวบริษัทยักษ์ใหญ่ให้หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนแนวคิดด้านบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้น่าจะมีคุณูปการต่อโลกอย่างไม่อาจประเมินค่า

ที่สำคัญ เวลาของเราอาจจะเหลือน้อยลงทุกที เพราะมีตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า มนุษย์เหลือเวลาอีกเพียง 12 ปีเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้นไม่ว่าจะ Loop System หรือโมเดลใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่มนุษย์ต้องทำอาจเป็นการปรับพฤติกรรมให้ได้เร็วที่สุด

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like