HomeDigital“จำเป็นเทียบเท่าคณิตศาสตร์” เบื้องหลังเทรนด์ฮิตอินเดีย เปิดโรงเรียนจับเด็กรุ่นใหม่ฝึกเขียนโปรแกรม

“จำเป็นเทียบเท่าคณิตศาสตร์” เบื้องหลังเทรนด์ฮิตอินเดีย เปิดโรงเรียนจับเด็กรุ่นใหม่ฝึกเขียนโปรแกรม

แชร์ :

“ทักษะการเขียนโปรแกรม” คำนี้อาจเป็นยาขมสำหรับผู้ใหญ่หลายคน พร้อมภาพในหัวที่มองว่ามันเป็นเรื่องยาก แถมหน้าจอก็มีแต่ภาษาประหลาด ๆ ที่อ่านไม่เข้าใจ แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่สำหรับเด็กอินเดียอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่หันมาจับกลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ที่อยากส่งเสริมลูกให้เรียนเขียนโปรแกรมกันตั้งแต่เล็ก ๆ มากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจุบัน ภาพของอินเดียกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ตัดกันไม่ขาด ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก อินเดียมีประชากรราว 1.3 พันล้านคน ในจำนวนนี้มีโทรศัพท์มือถือใช้ 1.19 พันล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 560 ล้านคน และใช้งานโซเชียลมีเดีย 310 ล้านคน (เป็นการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์สื่อสารถึง 290 ล้านคน)

โดยข้อมูลจาก We Are Social ระบุว่า กิจกรรมที่คนอินเดียนิยมทำผ่านโทรศัพท์มือถือมีทั้งการส่งข้อความ, ดูวิดีโอ, เล่นเกม, ทำธุรกรรมทางการเงิน, บริการแผนที่ แต่ในแง่ของแอปพลิเคชัน คนอินเดียมีการใช้จ่ายกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากถึง 282.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 และยังพบว่าสถิติการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟนตลอดปี 2018 ยังมากถึง 17,160 ล้านครั้งเลยทีเดียว

นั่นจึงไม่แปลก หากคนอินเดียจะมองหาโอกาสทำเงินจากความยิ่งใหญ่ของโลกดิจิทัลในประเทศตัวเอง รวมถึงการฝึกลูกให้มีทักษะด้าน Programming กันมากขึ้น

โดยหนึ่งในแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้เด็ก ๆ หันมาเรียนเขียนโปรแกรมกันก็คือ Whitehat Jr ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตคนทำสื่อและคนไอที ทั้งจาก Google, Boston Consulting Group, Discovery Networks ฯลฯ มารวมตัวกัน

Karan Bajaj ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Whitehat Jr เผยว่า “ทักษะการเขียนโปรแกรมในปัจจุบันมีความสำคัญเทียบเท่ากับวิชาคณิตศาสตร์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม”

“เด็กทุกวันนี้สามารถปัดซ้ายปัดขวาแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนหน้าจอได้อย่างคล่องแคล่วก่อนที่พวกเขาจะเดินได้กันเสียอีก ดังนั้นมันจึง Make Sense ที่จะสอนให้เขามีทักษะในการสร้างเครื่องมือไว้ใช้บนอุปกรณ์ที่พวกเขาถนัดกันตั้งแต่เล็ก ๆ”

อย่างไรก็ดี เมื่อเอ่ยถึงทักษะการเขียนโปรแกรมอาจทำให้บางคนสับสนกับเรื่องของภาษาที่จะใช้เขียน ว่าเด็กจะต้องเรียนภาษาไหนถึงจะรุ่ง แล้วลูกจะอ่านคำสั่งเหล่านั้นรู้เรื่องหรือไม่ ในจุดนี้ Karan บอกว่ามันคือคนละส่วนกัน เพราะภาษาในการเขียนโปรแกรมนั้นเป็นเรื่อง “เก่าไปใหม่มา” โลกจะมีภาษาในการเขียนโปรแกรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และภาษาที่เรียนในวันนี้อาจใช้ไม่ได้ในโลกอนาคตก็เป็นได้

ส่วนทักษะในการเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องของการฝึก Logic เพื่อให้สามารถคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้น การฝึกทักษะนี้ให้กับเด็กจึงเป็นการเรียนรู้วิธีการออกแบบความคิดว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาที่โจทย์กำหนดมาได้ หาใช่การลงมือเขียนประโยคคำสั่งที่เราไม่ถนัด หรืออ่านไม่เข้าใจแต่อย่างใด สิ่งที่โรงเรียนจำเป็นต้องทำคือ ทำให้ทักษะนี้ติดตัวพวกเขาไปในอนาคต แล้วค่อยไปเรียนรู้เพิ่มว่าจะเขียนคำสั่งของแต่ละภาษาอย่างไรนั่นเอง

Bharat Divyang ผู้ก่อตั้ง Brain Gym อีกหนึ่งห้องเรียนสำหรับฝึกทักษะด้านโปรแกรมมิ่งในอินเดียกล่าวว่า เขาไม่คิดว่า เด็กที่เข้าเรียนในคลาสจะโตขึ้นมาเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์กันทั้งหมด เขาอาจไปเป็นหมอ ศิลปิน หรือครูก็ได้ แต่สิ่งที่เราเชื่อคือ ทักษะด้านนี้จะช่วยให้เขาไปได้ไกลมากขึ้นในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าด้วยกันกับเทคโนโลยีดิจิทัล”

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะด้าน Programming กันมากขึ้น และในบางประเทศถึงกับบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนกันเลยทีเดียว เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยจุดมุ่งหมายของรัฐบาลก็คือการสร้างบุคลากรขึ้นมาเสริมให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศนั่นเอง แต่อินเดียจะก้าวไปถึงจุดนั้นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

Source

Source


แชร์ :

You may also like