หากจับสัญญาณความเคลื่อนไหวในแวดวงอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ในระยะนี้ เราอาจเห็นสัญญาณบางประการที่เกิดขึ้นทั้งบนแพลตฟอร์มสัญชาติไทย และแพลตฟอร์มข้ามชาติที่มียักษ์ใหญ่จากจีนถือหุ้นอยู่เบื้องหลัง นั่นคือเรื่องของการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SME ก้าวไปสู่การทำ Cross-Border Trade หรือการค้าข้ามพรมแดน
โดยในฟากอีคอมเมิร์ซ สัญญาณนี้ถูกส่งออกมาจากทั้ง ebay, Shippop, Amazon ฯลฯ หรือในฟากขนส่ง ผู้บริหารของ Flash Logistics, SCG Logistics และอีกหลายค่ายต่างก็มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีข้อสังเกตจากนักวิเคราะห์ของ TechInAsia อย่าง Jeffrey Towson ที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจมุ่งให้เกิดการรวมศูนย์ด้านการค้าข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ที่สามารถเชื่อมผู้ค้าและลูกค้า “ทั่วโลก” เข้าด้วยกันอย่างที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง และมี “Alibaba” เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
สิ่งหนึ่งที่ Jeffrey มองเห็น มีจุดเริ่มต้นจากบูธของ Alibaba ในมหกรรม CES เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยนอกเหนือจากโดรน และหุ่นยนต์ที่ดึงความสนใจจากผู้เข้าชมงานได้แล้ว Alibaba ยังมีมุมที่จัดแสดงในส่วน B2B เอาไว้ด้วย โดยส่วนดังกล่าวได้เล่าถึงการก่อตั้ง Alibaba.com ในยุคเริ่มต้น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมบริษัทต่างชาติให้มาพบเจอโรงงานต่าง ๆ ในจีนเพื่อซื้อขายสินค้ากันได้คล่องตัวมากขึ้น
แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะต่อมาในปี 2003 และ 2006 Alibaba ก็ได้สร้างเถาเป่า (Taobao) และทีมอลล์ (Tmall) เพื่อเชื่อมผู้ค้ากับผู้บริโภคเข้าด้วยกันอีกสองแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงจีนทั้งประเทศเข้าสู่ยุคการค้าออนไลน์ ผลก็คือ ในอีก 10 ปีต่อมา โลกต่างจับจ้องไปที่ความสำเร็จด้าน B2C ของ Alibaba กับการสร้างยอดการใช้จ่ายออนไลน์ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจนต้องบันทึกไว้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์
ทศวรรษใหม่ ต้องเดินเกมใหม่
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา Alibaba กำลังเดินเกมที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งการเชิญรัฐมนตรีด้านการค้าจากทั่วโลกมาพบปะกันที่สำนักงานใหญ่เมืองหังโจว หรือการเดินหน้าพบปะผู้นำรัฐบาลและฝ่ายที่ดูแลด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ผู้นำด้านการค้าของประเทศเหล่านั้น รวมถึงไทยทำหลังจากมีการพบปะกับผู้นำ Alibaba มักไม่พ้นการออกมากล่าวถึงประโยชน์ที่ SME จะได้รับจากการค้าไร้พรมแดน รวมถึงกระตุ้นให้ธุรกิจ SME กล้าที่จะคิดใหญ่กว่าเดิม
สิ่งที่ Jeffrey คาดการณ์จึงเป็นการสร้างอภิมหาแพลตฟอร์มด้านการค้าที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด New Retail ของ Alibaba สำหรับนำพา SME ชาติต่าง ๆ ไปเจอลูกค้าทั่วโลกได้โดยตรง ฯลฯ ซึ่งไปสอดคล้องกับคำอีกคำหนึ่งที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในแวดวงอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ในระยะหลังก็คือ บรรษัทข้ามชาติ (Multi National Corporation : MNC) ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางเดียวกันกับที่ Alibaba ต้องการให้ SME ก้าวขึ้นมาประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น
เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะที่ผ่านมา ธุรกิจที่สามารถรองรับการค้าข้ามพรมแดนได้นั้นมักเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องซัพพลายเชน และผู้จัดจำหน่าย จึงจะสามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำ Cross-border หรือความยุ่งยากต่าง ๆ ได้ ซึ่งแน่นอนว่าแต้มต่อของธุรกิจ SME ไม่สามารถก้าวข้ามความยุ่งยากเหล่านั้นได้เลย
Alibaba น่าจะมองเห็นข้อจำกัดนี้ของ SME พร้อม ๆ กับเห็นโอกาสครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม หากบริษัทสามารถหาทางลดค่าใช้จ่ายในการทำ Cross-border Trade ลงเพื่อให้ SME สามารถก้าวขึ้นมาทำธุรกิจในระดับโลกได้ไม่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่นั่นเอง
ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เครื่องมือต้องพร้อมด้วย
โดยเครื่องมือที่จะทำให้การค้าไร้พรมแดนเกิดขึ้นได้จริงสำหรับทุกบริษัทไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กนั้น คนทั่วโลกน่าจะมีพร้อมแล้ว นั่นคือสมาร์ทโฟน สิ่งที่ Alibaba ต้องเติมลงไปมีเพียง 4 ข้อ ได้แก่ แอปพลิเคชันที่ใช้ในการค้นหาสินค้าจาก “ทั่วโลก” แทนที่จะจำกัดแค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง
ต่อมาคือเครื่องมือด้าน VDO Conference ที่มาพร้อมระบบแปลภาษาเพื่อให้ง่ายต่อการเจรจาซื้อขาย ซึ่งเครื่องมือนี้ Alibaba ก็มีแล้วเช่นกัน
สามคือเครื่องมือด้าน Virtual Factory Tours ที่สามารถใช้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับการซื้อขาย ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality เข้ามาช่วย
และสุดท้ายคือเรื่องของสัญญาซื้อขาย, ระบบโลจิสติกส์และการชำระเงิน ซึ่งข้อสุดท้ายนี้น่าจะเป็นความท้าทายมากที่สุดของ SME ในการทำการค้าข้ามพรมแดน เพราะข้อกำหนดด้านการนำเข้าส่งออกของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน รวมถึงการจะชำระเงินข้ามพรมแดนก็ด้วย
แต่ถ้าการพบปะผู้นำด้านการค้าในหลาย ๆ ประเทศเป็นไปเพื่อสร้างสัญญาซื้อขายกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทุกประเทศทั่วโลก หรือการเจรจาเพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์แบบ Door-to-Door หรือข้ามไปถึงระบบชำระเงินมาตรฐานแล้วล่ะก็ โลกใหม่หลังจากนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สงครามการค้ากลายเป็นเรื่องขี้ผงไปเลย