การเปิดตัวตุ๊กตาบาร์บี้เวอร์ชันล่าสุดที่ได้แรงบันดาลใจจาก Ziggy Stardust ของค่าย Mattel อาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ใหญ่สมัยนี้ที่คุ้นเคยกับบาร์บี้มาหลายสิบปี แต่สำหรับเด็ก 7 ขวบ เป็นไปได้ว่าคงไม่มีเด็กคนไหนอยากแคะกระปุกเพื่อเอาเงินค่าขนม 40 ปอนด์มาซื้อ เพราะดูเหมือนว่าบาร์บี้เวอร์ชันนี้จะเป็นของเล่นที่ผลิตมาเพื่อคนกลุ่มอื่น ไม่ใช่เด็ก ๆ อย่างพวกเขาสักเท่าไร
ผู้ที่ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวคือ Emily Beecham เจ้าของรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจาก Cannes Film Festival โดยเธอยังได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องดังอย่าง Toy Story 4 ที่เธอได้พาลูกสาววัย 9 ขวบไปรับชมว่า ในโรงมีแต่เสียงหัวเราะจากผู้ใหญ่ ขณะที่กลุ่มเด็ก ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของภาพยนตร์ดิสนีย์กลับไม่มีเสียงหัวเราะเล็ดรอดออกมาให้ได้ยินนัก (ลูกสาวของ Emily Beecham แอบบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ห่วยด้วย)
แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่ Toy Story 4 เท่านั้น เพราะภาพยนตร์ดิสนีย์อย่างอาละดิน และดัมโบ้ ก็ไม่สามารถทำให้ลูกสาวของ Emily Beecham พอใจได้เช่นกัน โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องอะลาดินที่ลูกสาวเธอเคยชื่นชอบจากการดูต้นฉบับมาก่อน (5.5 รอบภายในวันเดียว) เมื่อมาดูเวอร์ชันสร้างใหม่ของดิสนีย์ เธอถึงกับเอ่ยถามขึ้นมากลางเรื่องเลยว่า เมื่อไรหนังจะจบ
สิ่งที่นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเวที Cannes กำลังสะท้อนออกมาก็คือ น่าจะมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในวงการเกม ของเล่น และภาพยนตร์ (สำหรับเด็ก) ทุกวันนี้เสียแล้ว
โดยที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสร้างตัวละครเพื่อให้อยู่ในความทรงจำของเด็ก ๆ นั้น ต้องอาศัยเวลากว่าจะ “คืนทุน” เพราะเราต้องรอจนเด็กคนนั้นโตถึงระดับหนึ่ง เช่น ทำงานและมีรายได้เป็นของตัวเอง พวกเขาจึงจะกลับมาอุดหนุนสินค้าที่เคยเป็นความชอบของตัวเองเมื่อครั้งวัยเยาว์ แต่ปัจจุบัน เริ่มมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ที่ส่งสัญญาณว่า พวกเขา “รอไม่ได้” และอยากจะทำเงินเร็ว ๆ
ธุรกิจเหล่านี้จึงมีการเปลี่ยนโฟกัสของตนเองจากที่เคยเป็นเด็ก ๆ ไปสู่กลุ่มที่มีกำลังซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันก็คือกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 22 – 37 ปี) ผลก็คือ ตลาดเต็มไปด้วยสินค้าประเภท ตุ๊กตาบาร์บี้ราคา 40 ปอนด์ (ประมาณ 1,542 บาท), เสื้อ Coach ดัมโบ้ราคา 395 ปอนด์ (ประมาณ 15,228 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าเด็ก ๆ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของสินค้าอีกต่อไป
ซึ่งเมื่อถามว่าเหมาะสมไหมกับการปล่อยให้เด็ก ๆ ในวันนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยหนังภาคต่อที่ (อาจจะ) ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อพวกเขา ในมุมของ Emily มองว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากกว่าที่เกิดคำถามนี้ขึ้น เพราะเด็กยุคนี้จะโตขึ้นมาโดยที่ไม่มีคาแรคเตอร์ใด ๆ เลยที่สร้างขึ้นมาเพื่อพวกเขาอย่างแท้จริง
“คนยุคมิลเลนเนียลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคยกล่าวโทษคนยุคเบบี้บูมเมอร์ว่าเป็นคนที่ขโมยความฝัน ความหวัง และโอกาสของพวกเราไป แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าเด็ก ๆ ที่จะเติบโตตามขึ้นมาอาจจะกล่าวโทษพวกเราเช่นนั้นบ้างก็ได้ ถึงเวลาที่เราจะต้องกล้าเสี่ยง กล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น และสร้างสิ่งที่แตกต่างขึ้นมา เหมือนที่บอนนี่ (จากภาพยนตร์ Toy Story 4) ปฏิเสธของเล่นที่มี และพยายามสร้างของเล่นใหม่ขึ้นด้วยตัวเอง” Emily กล่าวปิดท้าย