HomeBrand Move !!SCB ทุ่มลงทุน GOJEK – KBank ลงทุน Grab “ศึกชิงดาต้า” ผ่าน Ride-hailing ที่แท้ทรู

SCB ทุ่มลงทุน GOJEK – KBank ลงทุน Grab “ศึกชิงดาต้า” ผ่าน Ride-hailing ที่แท้ทรู

แชร์ :

เมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา คงไม่มีดีลยักษ์ใหญ่ดีลไหนได้รับความสนใจเท่ากับการประกาศร่วมลงทุนใน Grab บริการ Ride-Hailing สัญชาติสิงคโปร์ของธนาคารกสิกรไทย เป็นมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1,500 ล้านบาท นัยว่าเพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem และนำไปสู่การเชื่อมต่อข้อมูล – บริการทางการเงินหลังบ้านเข้าหากัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่หลังจากการลงทุนของกสิกรไทยผ่านไปเพียง 8 เดือน การลงทุนในธุรกิจ Ride-Hailing ในประเทศไทย ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการจับคู่กันระหว่าง GOJEK สตาร์ทอัพระดับ Decacorn (มูลค่ากิจการระดับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) จากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Get ประเทศไทย กับธนาคารไทยพาณิชย์ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการเงินฝั่งรัชโยธิน

โดยหากเล่าถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจเริ่มต้นจากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศลงทุนซีรีส์ F ใน GOJEK อย่างเป็นทางการ (ยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้ เนื่องจากการระดมทุนในรอบนี้ยังไม่สิ้นสุด) พร้อมดึง Get บริษัทลูกของ GOJEK เป็น Strategic Partner และเชิญ “พี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ของ Get นับร้อยคันเข้ามาเปิดบัญชีธนาคารที่ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่กันเป็นที่คึกคักเมื่อช่วงเช้าของวันนี้

 

พาร์ทเนอร์ที่ต้องตามหากันจนเจอ

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เผยว่า การลงทุนใน GOJEK นั้นสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของธนาคาร ที่หากมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางจะตระหนักดีกว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เลยนำไปสู่การไปเป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มอย่าง GOJEK ที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนที่ธนาคารขาดหายไป เช่น ด้านโลจิสติกส์ได้

“อยากให้มองว่า การพาร์ทเนอร์ในลักษณะนี้เป็นการต่อยอดการเติบโตของธนาคาร ที่ต้องเริ่มลงทุนในวงการต่าง ๆ เพิ่มเติม และสำหรับเหตุผลที่เลือก GOJEK เป็นเพราะ GOJEK สามารถแก้ Pain Point ของคนอินโดนีเซียได้สำเร็จ และวันนี้กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับ Decacorn หรือคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณที่ 300,000 กว่าล้านบาท”

ในขณะเดียวกัน การพาร์ทเนอร์กับธนาคารของแต่ละประเทศ ก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ GOJEK มองหาเช่นกัน (แม้ว่า GOJEK จะมีบริการทางการเงินของตัวเองก็ตาม) โดยคุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เผยว่า เหตุผลมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือแต่ละประเทศมีนโยบายทางการเงินที่แตกต่างกัน การจับมือกับพาร์ทเนอร์ทางการเงินในประเทศนั้น ๆ (ซึ่งประเทศไทยก็คือไทยพาณิชย์) จะทำให้ GOJEK สามารถเปิดตัวบริการทางการเงินได้สะดวกรวดเร็วกว่า

ทำไมสถาบันการเงินไทยถึงสนใจลงทุนใน Ride-Hailing?

คำตอบสำหรับคำถามนี้คือการย้อนกลับไปดูว่า ไทยพาณิชย์ มีการ “ต่อยอด” อย่างไรภายหลังเกิดการลงทุน โดยสิ่งที่คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยก็คือ จะมีการเชื่อมโยงบริการอย่าง แม่มณี, Google MyBusiness ฯลฯ เข้ากับแพลตฟอร์มของ GOJEK และเป้าหมายของธนาคารไทยพาณิชย์ก็คือการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้เกิดขึ้นครบลูป (ไม่ต่างจากธนาคารกสิกรไทยทำเมื่อปลายปีก่อน)

“คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนมากไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีสลิปเงินเดือน ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถกู้เงินได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือหากต้องการกู้เงินด่วนก็จะเป็นเงินนอกระบบที่มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก แต่วันนี้ เมื่อเขาเข้ามาอยู่ใน Ecosystem ของเรา โมเดลที่เรามีทำให้เราสามารถมองเห็นพฤติกรรมของเขาได้ และทำให้การปล่อยกู้เกิดขึ้นได้จากดาต้าที่มีอยู่”

สร้างประสบการณ์ชำระเงินแบบไร้รอยต่อ 

ทั้งนี้ เป้าหมายของการทำงานร่วมกันคือการสร้างประสบการณ์การชำระเงินแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเห็นได้จากการโอนเงินเข้า และนำเงินออกจากบริการ Get Pay กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของ Get มาสู่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ได้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม (ปัจจุบัน บริการ Get Pay อยู่ระหว่างการทดสอบระบบและมีกำหนดจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้)

Food Delivery โต ทั้ง Get และ Grab 

จากการเปิดเผยของคุณภิญญา พบว่า ธุรกิจ Food Delivery ของ Get นั้นมีการเติบโตขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงที่เปิดตัวเมื่อต้นปี

“เราเพิ่งเปิดบริการ Get Food มาได้ 4 เดือน แต่ผลตอบรับดีมาก ทำให้เราเชื่อมั่นว่า เราคือเบอร์หนึ่งผู้ครองส่วนแบ่งตลาด Food Delivery ในกรุงเทพฯ แล้วอย่างเป็นทางการ”

โดยหากเปรียบเทียบกับข้อมูลของฝั่ง Grab ที่เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่า มีสัญญาณโตไม่ต่างกัน ด้วยยอดออเดอร์ 4 ล้านครั้งภายใน 4 เดือน สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเปิดใจให้กับแพลตฟอร์ม Ride-hailing มากขึ้น และ Grab ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายตลาดไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ส่วน Get นั้นคาดว่าจะให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ผู้บริหารของทั้ง Grab และ Get ต่างยอมรับไปในทิศทางเดียวกันว่า บริษัทพร้อมจะสู้ในสงครามราคาของบริการ Ride-hailing ครั้งนี้แน่นอน แม้จะต้องยืดเยื้อนานนับปีกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะก็ตาม


แชร์ :

You may also like