HomeBrand Move !!สำเพ็ง 2019 ทรุดจริง หรือยังไม่ตื่นจากความรุ่งเรืองในอดีต

สำเพ็ง 2019 ทรุดจริง หรือยังไม่ตื่นจากความรุ่งเรืองในอดีต

แชร์ :

ตลอด 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนได้เห็นการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกไทยต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และกระแส Digital Disruption ปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น บ้างก็ไปสร้างตัวตนอยู่บนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ หนักไปกว่านั้นก็จับมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังเพื่อลุยตลาดเสียเองก็มี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ท่ามกลางสีสัน และการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกกันพรึ่บพรั่บนั้น หันมาอีกด้าน แหล่งค้าส่งชื่อดังใจกลางเมืองหลวงอย่าง “สำเพ็ง” กลับสะท้อนบรรยากาศตรงกันข้ามออกสู่โลกโซเชียล ด้วยภาพของพ่อค้าแม่ค้านั่งตบยุง บ้างก็นั่งหลับ ขณะที่ถนนหนทางในตลาดก็มีผู้ซื้อร่อยหรอไปอย่างเห็นได้ชัด ต่างจากเมื่อ 10 – 20 ปีก่อนที่ “สำเพ็ง” มักจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะวันธรรมดา หรือวันเสาร์อาทิตย์ ฝนตกหรือแดดออก เราก็มักจะพบเห็นแม่ค้าขายส่งหิ้วสินค้าถุงโต ๆ ออกมายืนรอรถสามล้อกันจนชินตา

หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดภาพนี้ เราอาจต้องย้อนไปฟังเสียงจากผู้ค้าในสำเพ็ง โดยคุณวรรณา (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของร้านกิ๊ฟช็อปในตลาดสำเพ็งเล่าว่า คนที่หายไปจากตลาดสำเพ็งมากขึ้นเรื่อย ๆ คือแม่ค้าขายส่ง ซึ่งมาสำเพ็งเพื่อซื้อของจริง ๆ ต่างจากลูกค้าขาจรทั่วไปที่แค่มาเดินชมบรรยากาศเท่านั้น

ไม่เฉพาะตลาดสำเพ็งตอนกลางวัน ตลาดสำเพ็งในตอนกลางคืนที่เคยคึกคักเพราะจะมีแม่ค้าขายส่งจากต่างจังหวัดนั่งรถตู้มาซื้อของไปขายก็พลอยหายไปด้วย ส่งผลให้ร้านค้าสำเพ็งจากที่เคยเปิดร้านกันจนโต้รุ่ง ปัจจุบัน ตีสองตีสามก็ต้องปิดร้านกันแล้ว เพราะไม่มีคนเดิน

นอกจากนั้น สิ่งที่เราได้รับการบอกเล่าจากคุณวรรณาเพิ่มเติมก็คือ ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มรัดเข็มขัดกันมากขึ้น บางอย่างไม่จำเป็นก็จะไม่ซื้อ โดยคุณวรรณาชี้ว่าเมื่อผู้บริโภคซื้อน้อยลง แม่ค้าที่จะมาเลือกหาสินค้าจากตลาดสำเพ็งก็น้อยลงไปเป็นทอด ๆ จึงกลายเป็นที่มาของสำเพ็ง 2019 ที่สื่อออนไลน์หลายเจ้าฟันธงว่า “เจ๊งแน่”

ตลาดสำเพ็ง 2019

ความท้าทายใหม่ของสำเพ็ง

อย่างไรก็ดี การพุ่งเป้าไปที่สภาพเศรษฐกิจที่คนรัดเข็มขัดกันมากขึ้น และชี้ว่าเป็นตัวการของความถดถอยในตลาดสำเพ็งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่การมองที่รอบด้าน เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจตลาดของทีมงาน Brandbuffet พบว่า ไม่ใช่แค่กำลังซื้อถดถอยที่กำลังสั่นคลอนสำเพ็ง แต่สิ่งที่สำเพ็งกำลังเผชิญในตอนนี้ก็คือ การมี “ลูกค้ากลุ่มใหม่” เข้ามาร่วมเดินอยู่ในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตลาดสำเพ็งคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งพฤติกรรมของคนเหล่านี้จากการบอกเล่าของแม่ค้าก็คือ มักเน้นถ่ายภาพบรรยากาศ แต่ไม่เน้นซื้อของ หรือหากซื้อก็มักซื้อติดมือเป็นของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ รองลงมาก็คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และลูกค้าขาจรที่พบเห็นได้มากขึ้น

สำเพ็งในวันนี้จึงยังคลาคล่ำด้วยผู้คน แต่เป็นผู้คนที่มีพฤติกรรมการซื้อแตกต่างจากในอดีตมากขึ้นเรื่อย ๆ

ลูกค้าเปลี่ยน แล้ว “สำเพ็ง” ล่ะเปลี่ยนไหม?

หากมองหาการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก ก็คงต้องบอกว่า สำเพ็งในวันนี้เดินง่ายกว่าสำเพ็งที่ผู้เขียนเคยเดินเมื่อ 20 ปีก่อนมากพอสมควร เพราะรถมอเตอร์ไซค์ขนผ้า รถเข็นขายอาหารที่เคยเป็นสีสันในซอยแคบ ๆ หายไปเยอะมาก แถมยังมีหลังคาคอยปกป้องในวันฟ้าฝนไม่เป็นใจ ไม่เพียงเท่านั้น ร้านค้าต่าง ๆ ยังติดเครื่องปรับอากาศ และปล่อยแอร์เย็น ๆ ออกมาถึงทางเดิน ทำให้เราไม่รู้สึกร้อนเหมือนในอดีต

แต่หากมองในแง่ของการขาย เราพบว่า สำเพ็งกำลังถูกท้าทายจากลูกค้ากลุ่มใหม่พอสมควร โดยความท้าทายประการแรกคือ การที่สำเพ็งยังคงความเป็นตลาดค้าส่งเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นทำให้สำเพ็ง “เหมาะ” กับผู้ซื้อแค่บางกลุ่ม ไม่ใช่ทุกกลุ่ม

ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างเลือกซื้อสินค้า เราสังเกตเห็นแม่ค้าขายส่งบางรายเตรียมคีมยาว ๆ มาด้วย เพราะการจัดวางสินค้าในสำเพ็งคือการเรียงสินค้าขึ้นไปสุดลูกหูลูกตา เรียกว่าแหงนหน้ามองฝาผนังร้านจนเมื่อยคอก็ว่าได้ การมีคีมมาด้วย ช่วยอำนวยความสะดวกให้แม่ค้าขาประจำหยิบสินค้าได้เร็วขึ้น แต่สำหรับลูกค้าขาจร การไร้ซึ่งอุปกรณ์ช่วย ทำให้หลายคนเข้าไม่ถึงสินค้า แม้ว่ากระเป๋าเงินในมือกำลังสั่นก็ตาม

หรือในด้านป้ายราคา ร้านค้าในสำเพ็งส่วนหนึ่งไม่มีการติดป้ายราคาที่มองเห็นได้ชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร สิ่งที่ผู้ซื้อต้องทำคือหยิบมาพลิกดูราคาเอาเอง ซึ่งคงไม่แปลกหากจะเป็นลูกค้าขาประจำของร้านที่มีความคุ้นเคยกันดี แต่ในวันที่ลูกค้าขาประจำลดน้อยลง กลายเป็นลูกค้าขาจร ลูกค้าต่างชาติ ลูกค้านักเรียนมาเดินเพิ่มขึ้น การต้องมานั่งตอบคำถามว่าของชิ้นนั้นราคาขายปลีกเท่าไร และจะลดได้เหลือเท่าไรถ้าจะซื้อราคาส่ง ไม่ใช่สิ่งที่พนักงานขายในสำเพ็งจะยินดีตอบได้ตลอดวัน

สามคือเรื่องของตัวพนักงานขาย หลายร้านที่เราเดินเข้าไป นอกจากจะพบกับพนักงานขายที่ทำงานอย่างไม่ค่อยมีความสุขแล้ว หลายคนยังไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้มากนัก และไม่อยากคุยกับลูกค้าขาจรสักเท่าไร ในจุดนี้การเป็นแม่ค้าขายส่งมาซื้อจึงน่าจะโดนใจพนักงานมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องสื่อสารกันมาก แต่ลูกค้าขาจรไม่น่าจะถูกใจสิ่งนี้

ส่วนความท้าทายประการสุดท้าย เราพบจากการสนทนากับคุณตุ้ม เจ้าของร้านของเล่นแห่งหนึ่งในสำเพ็ง นั่นก็คือ การไม่สนใจโลกออนไลน์

โดยคุณตุ้มยอมรับว่า รายได้จากโลกออนไลน์เทียบไม่ได้เลยกับรายได้จากการขายส่ง เธอซึ่งคุ้นเคยกับการขายของจำนวนมาก ๆ และรับเงินก้อน ไม่ถนัดที่จะมาตอบแชทลูกค้าทีละคน ๆ ซึ่งจะซื้อหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แถมยังต้องมาแพ็กใส่กล่อง ไปส่งไปรษณีย์อีกต่อ กว่าจะได้เงินมา เธอยอมรับว่ามันมีขั้นตอนซับซ้อนกว่าสิ่งที่เธอทำมาตลอดชีวิตมากนัก

ไม่เฉพาะผู้ค้าในสำเพ็ง ทีมงานได้สอบถามคนขับวินมอเตอร์ไซค์ในย่านดังกล่าวว่าสภาพของสำเพ็งในปัจจุบันนั้นซบเซาจริงหรือ คำตอบที่ได้ก็เป็นไปทิศทางเดียวกัน โดยผู้ขับวินมอเตอร์ไซค์บอกว่า ถ้าไม่ซบเซาจริง พวกเขาคงไม่มานั่งว่าง ๆ เช่นนี้หรอก แต่เมื่อถามต่อว่า ปัจจุบันมีทางเลือกเช่น บริการ Ride-hailing เปิดอยู่มากมาย คำตอบก็คาดเดาได้ นั่นคือการตอบว่าพวกเขานั้นไม่ได้สนใจรายได้จากโลกออนไลน์แต่อย่างใด

สถานการณ์ของสำเพ็งในวันนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียว ว่าสำเพ็งจะหยัดยืนความเป็นตลาดค้าส่งออฟไลน์เอาไว้ได้อีกนานแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าในความเป็นจริง ยุครุ่งเรืองของการค้าออฟไลน์นั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการฟาดฟันกันของยักษ์ใหญ่บนตลาดออนไลน์ที่ต้องมีความพร้อมทั้ง Data และเทคโนโลยี Analytics ครบมือ

การไม่เปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่คำถามว่า สำเพ็งจะเดินหน้าต่อไปในรูปแบบใด หรือจะยอมเป็นตลาดเก๋ ๆ ที่คนรุ่นใหม่อยากมาเดินเพื่อซึมซับบรรยากาศออฟไลน์ ฯลฯ เป็นความท้าทายที่ยากจะหาคำตอบได้จริง ๆ


แชร์ :

You may also like