HomeBrand Move !!อีคอมเมิร์ซขาขึ้น “แสนสิริ” เปิดบริการจองคอนโด บน Lazada ได้แล้ว

อีคอมเมิร์ซขาขึ้น “แสนสิริ” เปิดบริการจองคอนโด บน Lazada ได้แล้ว

แชร์ :

ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเริ่มให้บริการจองที่อยู่อาศัยผ่านช่องทาง Online Booking” จนกลายเป็นกระแสในแวดวงธุรกิจอสังหาฯ ชนิดที่ว่าหากโครงการไหนเปิดขายแล้วไม่มีรอบ Online Booking ถือว่าไม่ตอบโจทย์ผู้ซื้อยุคดิจิทัล ที่ปัจจุบันแทบจะคลิกซื้อทุกอย่างผ่านออนไลน์กันหมดแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“แสนสิริ” เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่นำช่องทาง Sansiri Online Booking มาใช้เช่นกัน และประสบความสำเร็จจากช่องทางดังกล่าว ด้วยยอดจองเต็มโควตาในหลายโครงการที่มีการ “เปิดรอบ Pre-Sale บนออนไลน์”

จากความสำเร็จข้างต้น ทำให้ แสนสิริ มองเห็นโอกาสใหม่บนออนไลน์ จึงเข้าไปจับมือกับ “ลาซาด้า” ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้บริการจองคอนโดบน “Sansiri Official Store” ผ่าน LazMall โดยมี Live Streaming ที่ทำหน้าที่เสมือนพนักงานพาชมโครงการและห้องตัวอย่าง เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

เดินให้เร็วกว่าคู่แข่ง จับมืออีคอมเมิร์ซ ต่อยอด Porp Tech

จากการที่ “แสนสิริ” วางตนเองเป็น Property Technology โดยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำการตลาด นับตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการทำ Digital Sales Kit บนหน้าจอ Multitouch ช่วยให้การขายโครงการสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเป็นผู้นำในการเปิดจองที่อยู่อาศัยผ่านทาง Sansiri Online Booking ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะพัฒนาต่อเนื่องมาสู่การจับมือกับลาซาด้าในครั้งนี้

ในแง่หนึ่ง แสนสิริ มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตมากขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย และโอกาสในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของคอนโดมีเนียมของแสนสิริ

นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าแล้ว สิ่งที่แสนสิริจะได้จากความร่วมมือกับลาซาด้า คือ “ฐานข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้า” ที่ลาซาด้ามีอยู่ในมือราว 10 ล้านคน ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดทำ Digital Marketing เพื่อนำเสนอ “Special Deal” ในอนาคต

คุณปิติ จารุกำจร รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบริหารกลยุทธ์โครงการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันลาซาด้ามีฐานลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคน แม้ว่าจะยังคาดการณ์ถึงจำนวนผู้ที่สนใจซื้อคอนโดบนแพลตฟอร์มไม่ได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าที่ “ใหญ่” มากขึ้น

เราพบว่า Customer Journey ของคนที่ซื้อที่อยู่อาศัยกว่า 70% จะค้นหาข้อมูลโครงการบนออนไลน์ อ่านรีวิวต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจซื้อและกลับไปที่ออฟไลน์ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต”

 

ในช่วงแรก “Sansiri Official Store” จะเปิดจองคอนโดในโครงการพร้อมอยู่และที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จในปลายปีนี้ ทั้งทำเลกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 45 ยูนิต จาก 9 โครงการของแสนสิริ (ปัจจุบันมีทั้งหมด 30 โครงการ) เช่น คอนโด The Best , The Line ราคาตั้งแต่ 2-6 ล้านบาท ด้วยราคาจองเริ่มต้นที่ 10,000 บาท ซึ่งเมื่อลูกค้าทำการจองและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของแสนสิริติดต่อกลับไป

“การเปิด Sansiri Official Store เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาคอนโดเพื่ออาศัยอยู่จริง (Real Demand) ซึ่งคอนโดที่จะเปิดจองบนลาซาด้า ทางแสนสิริได้ศึกษาและคัดมาให้แล้วว่า เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น อยู่ในทำเลที่ใกล้กับรถไฟฟ้า แหล่งสาธารณูปโภค รวมถึงมหาวิทยาลัย และด้วยการเสนอราคาขายที่ชัดเจนบนหน้าเว็บ และระดับราคาที่ยังไม่ถึง Luxury เชื่อว่าความร่วมมือกับลาซาด้า จะช่วยสร้างยอดขายคอนโดมิเนียมปีนี้มียอดขายตามเป้าหมาย 21,600 ล้านบาท”

ลาซาด้าได้เพิ่มเซ็กเมนต์ “ที่อยู่อาศัย”

ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม LazMall มี Official Store ของแบรนด์สินค้ามากกว่า 800 ร้านค้า มีสินค้าจำหน่ายกว่า 400 ล้าน SKU โดยมีกลุ่มสินค้า High Involvement หรือสินค้าที่มีราคาสูงจำหน่าย เช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม แต่ครั้งนี้เป็นการเปิด Official Store ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการขยายเซ็กเมนต์ใหม่บนแพลตฟอร์มของลาซาด้า

คุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอายุ 25-35 ปีขึ้นไป ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและชอบซื้อของออนไลน์ ต้องการความสะดวกในการจองที่อยู่อาศัยผ่านออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากเปิด Sansiri Official Store ครั้งแรกเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เข้าเยี่ยมชมร้านค้ากว่า 4,500 คน และผู้กดติดตามร้านค้าแล้วเกือบ 500 คน

ทั้งนี้เมื่อลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มของลาซาด้า จะมีการบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการซื้อ ขณะเดียวกัน ลาซาด้าได้ทำงานใกล้ชิดกับแบรนด์ เพื่อร่วมวางแผนกลยุทธ์ ออกแบบสื่อสาร และปรับรูปแบบการนำเสนอตลอดเวลาแคมเปญ โดยฝั่งแบรนด์ จะสามารถใช้โซลูชั่นทางการตลาด กระดานแสดงผลข้อมูลทางธุรกิจ (Business Advisor Dashboard) ของลาซาด้าได้  และยังสามารถสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง ผ่าน Customized Marketing รวมถึงสามารถจัดการหน้าร้านได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารสต็อกสินค้า และตัดสินวางแผนเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมหน้าร้านได้แบบเรียลไทม์ หรือแม้แต่การตัดสินใจเพิ่ม Brand Awareness ผ่านฟีเจอร์ต่างๆ

สำหรับ การร่วมมือกับแสนสิริในครั้งนี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์คึกคักมากขึ้น และไม่เพียงแต่แสนสิริเท่านั้น หากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นสนใจ ก็เปิดโอกาสให้เช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตลาซาด้ามีแผนที่จะร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ในหลากหลายทุกกลุ่มธุรกิจต่อไป

แบรนด์อสังหา แห่ปรับตัวเข้าหา E-Market Place 

ไม่ใช่แค่ทางฝั่ง “แสนสิริ” และ Lazada เท่านั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณต้นปี Ananda ก็เดินหน้าเปิดจองคอนโดมิเนี่ยม ผ่านแพล็ตฟอร์มของ Shopee มาแล้ว

หลังจากนั้น พฤกษาฯ ก็เป็นอีกรายที่กระโดดเข้ามาทดลองทำตลาดผ่านช่องทาง E-Market Place จัดดีลพิเศษให้กับลูกค้าที่จองบ้าน, ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนี่ยมบน Official Shop ของ พฤกษา ผ่านทาง Shopee

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในมุมของนักการตลาดต้องบอกว่า สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้า High Involvement ต่างก็พยายามหาช่องทางที่จะปิดการขายให้ได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์เลย หลังจากที่ก่อนหน้านี้หลายปี “สื่อออนไลน์” ทำหน้าที่บอก Information กับผู้ที่สนใจสินค้ามาแล้ว นับจากนี้ต้องปิดการขายให้ได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น ผ่านช่องทางที่ Engagement กลับกลุ่มเป้าหมาย แบบเหมาะเจาะ คอนโดมิเนี่ยมที่ทั้ง แสนสิริ, อนันดา, พฤกษาเลือกมาทำตลาดในช่องทางนี้ จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่สูงนัก เข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่ช็อปปิ้งบนทั้งสองแพล็ตฟอร์มนี้เช่นกัน  ส่วนสินค้าที่มีราคาสูงก็ยังคงใช้ช่องทางเว็บไซต์ของแบรนด์เช่นเดิม

ขณะนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใด เปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขการจองผ่านช่องทางใหม่นี้ มีผลตอบรับเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ นักจิตวิทยาผู้บริโภคบอกว่า เวลาที่คนเรามีความสุขก็มักจะจดจำประสบการณ์นั่นๆ ไว้ในความทรงจำ …ช็อปปิ้งเพลินๆ แล้วมีคอนโดมิเนี่ยมโผล่ขึ้นมา ถ้าผู้บริโภคได้เห็นแบรนด์แว้บๆ กดคลิกเข้าไปดูสักหน่อย แค่นี้ฝั่งเจ้าของสินค้าก็ได้ Brand Awareness, Brand Engagement แล้วละน่าาาาาาาา

 


แชร์ :

You may also like