การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากการซื้อมาเป็น “การเช่า หรือขอยืม” แนวคิดนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับบริการประเภท Ride-Sharing ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคมองการครองครองสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ หรือบ้านพัก ว่าเป็นภาระที่เจ้าของต้องแบกรับ ทั้งเรื่องของภาษี ค่าเสื่อมราคา การขายต่อที่ขาดทุน ฯลฯ แต่ล่าสุดแนวคิดนี้กำลังขยายมาสู่ตลาด “โทรศัพท์มือถือ” ด้วยเช่นกัน หลังพบว่าตลาดดังกล่าวกำลังเผชิญกับโจทย์ใหม่ที่ท้าทายทั้งปัญหาตลาด “อิ่มตัว” และการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องช้ามากขึ้น
โดยหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาตลาดสมาร์ทโฟน ถูกจุดขึ้นจากการเปิดตัวแพลตฟอร์ม “ยืมมั้ย” ของบริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด ผลงานการจับมือกันของสองบริษัทอย่าง เอสซีไอ และ โกลด์อีลีท ปารีส พร้อมดึงพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ เอไอเอส เมืองไทยประกันภัย และคอมเซเว่น เข้าร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการให้ยืมโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะต่อพ่วงไปกับอีกหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องระดับไฮเอนด์ คอมพิวเตอร์พีซี เงิน รถยนต์ ฯลฯ
ทำไมคนไทยต้องยืมใช้ “สมาร์ทโฟน”
จากตัวเลขของบริษัทวิจัยตลาด Canalys ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคมากถึง 35.6% ใช้โทรศัพท์มือถือนานกว่า 2 ปีจึงจะเปลี่ยนเครื่อง ขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนในไทยเมื่อปี 2018 อยู่ที่ 19.2 ล้านเครื่อง ลดลงจากปี 2017 ถึง 8.6% ซึ่งในมุมของนักวิเคราะห์มองว่า ปรากฏการณ์นี้ชี้ว่าตลาดสมาร์ทโฟนนั้นได้อิ่มตัวแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า พายถาดนี้ไม่ได้ใหญ่พอจะดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาได้อีกแล้ว
แต่ในมุมของคุณสุทธิเกียรติ กิตติภัทรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ปัญหานี้มาจากวงการสมาร์ทโฟนเองที่เติบโตและเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้าง Pain Points ให้กับผู้บริโภค
“สิ่งที่เราพบก็คือความต้องการจะเปลี่ยนเครื่องของคนไม่ได้ลดลง แต่เพราะสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ มีราคาแพงมากขึ้น (พร้อมยกตัวเลขราคาการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปจาก 2 ยี่ห้อดังอย่าง Samsung และ iPhone ว่ามีราคาเกิน 35,000 บาททั้งสิ้น) ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถจ่ายได้ไหวอีกต่อไป ยังไม่นับรวมค่าบริการรายเดือนที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอีกหลายร้อยบาท แถมเมื่อใช้ไปสักหนึ่งปี อยากขายเครื่องเก่าเปลี่ยนเครื่องใหม่ สมาร์ทโฟนยี่ห้อดัง ๆ ที่เคยซื้อมาหลายหมื่นบาท ก็อาจถูกกดราคารับซื้อได้ถึง 65% ซึ่งเรามองว่าปัญหาเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ทันคนอื่น”
แต่ในความท้าทายก็มีโอกาสซ่อนอยู่เช่นกัน โดยคุณสุทธิเกียรติมองว่า หากใครสามารถเสนอบริการที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ ก็มีสิทธิเจอพื้นที่ทำเงินแห่งใหม่ จึงกลายมาเป็นแพลตฟอร์มยืมมั้ยในที่สุด
โดยคุณสุทธิเกียรติมองว่า การสร้างแพลตฟอร์ม “ยืมมั้ย” คือการขยายถาดพายให้ใหญ่ขึ้น ด้วยการดึงพาร์ทเนอร์จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาร่วม ทั้งสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม บริษัทผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการประกันภัย ส่งผลให้เมื่อคำนวณแล้ว ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายต่อการใช้สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องมีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อราว 20 – 25%
“ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งราคา 30,000 บาท แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะเราต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนอีกอย่างน้อย ๆ 500 – 600 บาท เมื่อใช้ไปหนึ่งปี อยากขายเพื่อเปลี่ยนเครื่องใหม่ ก็อาจถูกกดราคาลงประมาณ 65% จึงจะขายได้ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกขาดทุน”
“สำหรับแพลตฟอร์มยืมมั้ย ผู้บริโภคจะได้รับเครื่องใหม่แกะกล่องเช่นกัน ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการรายปีแล้วอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าบาท และเมื่อครบ 1 ปี ถ้าสนใจยืมต่อเราก็จะมีสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ไปส่งให้ถึงบ้าน ในจุดนี้ เรามองว่า หากผู้บริโภคเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกันแล้ว การให้ยืมจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการซื้อ ซึ่งก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ และหันมาใช้บริการมากขึ้น นั่นจะทำให้พายถาดนี้ใหญ่พอที่จะมีกำไรสำหรับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ นอกเหนือจากการทำรายได้ในตลาดเดิม ๆ ของตนเอง”
ดึง 3 แบรนด์ดังเข้าแพลตฟอร์ม
สำหรับสมาร์ทโฟนที่จะเปิดให้บริการยืมบนแพลตฟอร์มนั้นประกอบด้วย 3 แบรนด์ดังได้แก่ iPhone, Huawei และ Samsung ซึ่งปัจจัยในการเลือกนั้น คุณสุทธิเกียรติบอกว่า จะพิจารณาจากตลาดมือสองเป็นสำคัญ ยี่ห้อใดที่ตลาดมือสองไม่แข็งแรง ก็จะไม่รับเด็ดขาด โดยในระยะเริ่มต้นมีสมาร์ทโฟนให้บริการ 4 รุ่น (ต่ำสุดคือ iPhone 7 Plus) และภายใน 2 เดือนจะเพิ่มเป็น 10 รุ่น โดยตั้งเป้าการให้บริการในปีแรกไว้ที่ยอดการยืม 100,000 เครื่อง และคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 2 ปี
ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ “ยืมมั้ย” คุณสุทธิเกียรติมองว่ามีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มพ่อแม่ที่อยากมองหาโทรศัพท์เครื่องแรกให้ลูก (นักเรียน) ไว้ใช้งาน กลุ่มลูก (วัยทำงาน) ที่อยากหาโทรศัพท์ให้พ่อแม่สูงอายุ กลุ่มองค์กรที่อยากให้พนักงานได้ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ฯลฯ แต่ในระยะเริ่มต้นจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีบัตรเครดิตก่อน โดยประเทศไทยมีตัวเลขผู้มีบัตรเครดิตอยู่ราว 25 ล้านคน
ผู้บริโภคต้องรู้ “ยืม” ต่างจากซื้อตรงไหนบ้าง
โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้สนใจยืมโทรศัพท์มือถือก็คือ ประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากการซื้อ เนื่องจากต้องเริ่มต้นจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ยืมมั้ย” และกรอกข้อมูลส่วนตัว (เวอร์ชันเว็บไซต์จะเปิดตัวภายหลัง) พร้อมกดปุ่มขอยืมเสียก่อน (ระบบจะมีการเก็บมัดจำจากผู้บริโภคไปด้วย โดยค่ามัดจำเริ่มต้นที่ 575 บาทต่อเดือน)
ส่วนระยะเวลาในการยืมในปีแรกจะกำหนดไว้ที่ 12 เดือน (365 วัน) นับจากวันได้รับเครื่อง และไม่สามารถยกเลิกก่อนกำหนดได้ รวมถึงในกรณีเกิดความเสียหาย จะมีประกันที่ทำไว้กับเมืองไทยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายให้ 90% แต่ในจุดนี้ ผู้บริโภคต้องนำเครื่องไปซ่อมที่ร้านซึ่งเป็นคู่ค้าตามที่บริษัทกำหนด หรือในกรณีทำเครื่องหายจะมีการหักเงินจากมัดจำที่วางเอาไว้
“ถ้าหมดสัญญา 1 ปี แล้วลูกค้าไม่กดปุ่มยืมต่อ ระบบจะโอนเงินกลับเข้าบัญชีลูกค้าหลังคืนเครื่องไม่เกิน 7 วัน” คุณสุทธิเกียรติกล่าว
แผนงานปีที่ 2 ได้เวลาของ AI
ส่วนแผนงานในปีที่ 2 ของบริษัทนั้น คุณสุทธิเกียรติเผยว่า นอกจากให้ยืมโทรศัพท์เครื่องใหม่ต่อเนื่องแล้ว จะเริ่มเปิดตัวบริการยืมสมาร์ทโฟนมือสอง (นำเครื่องใช้แล้วจากการให้บริการในปีที่ 1 มาให้บริการ) อีกต่อ โดยจะสามารถแบ่งการให้ยืมเป็นวัน หรือเดือนได้ สำหรับผู้ที่ต้องการขอยืมไปใช้ชั่วคราว เช่น เดินทางท่องเที่ยว
นอกจากนั้น จะเริ่มดึง AI จากธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาร่วมวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้บริการ สังเกตได้จากการระบุไว้ในเงื่อนไขการให้บริการว่า
“ผู้ใช้บริการตกลงยินยอมให้บริษัทสามารถใช้ หรือเก็บรวบรวมข้อมูลที่ผู้ใช้บริการแจ้งให้บริษัททราบหรือแจ้งระบุไว้ในโปรแกรมยืมมั้ย หรือ ใน www.yuemmai.com ยกเว้นข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดหมายเลขต่าง ๆ ในบัตรเครดิต โดยไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวมโดยบริษัทหรือตัวแทน หรือโดยบุคคลอื่นที่บริษัทได้มอบหมาย และยินยอมให้บริษัทส่งมอบข้อมูล เปิดเผย หรือโอนถ่ายข้อมูลดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นได้ รวมทั้งบุคคลในต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการ การปรับปรุง พัฒนา หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริการของบริษัท หรือของตัวแทน บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามสัญญานี้ หรือเพื่อการติดต่อสื่อสารแจ้งให้ทราบในเรื่องเกี่ยวกับบริการอื่น ๆ ที่มีไว้ให้สำหรับลูกค้า หรือที่เกี่ยวกับข้อเสนอในการส่งเสริมการขาย หรือกิจกรรมทางการตลาดที่ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับ หรือตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะกำหนด บริษัทไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมใด ๆ จากผู้ใช้บริการอีก และผู้ใช้บริการตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากบริษัททั้งสิ้น”
จากย่อหน้าดังกล่าว อาจชัดเจนพอสมควรทีเดียวว่า การนำ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลคืออีกหนึ่งเป้าหมายหลักของแพลตฟอร์ม ส่วนจะเข้ามาทำอะไรบ้างกับ Data ของผู้ใช้บริการนั้น อาจเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่าย และการสร้างฐานข้อมูลเครดิต โดยเป็นไปได้ว่าสามารถนำไปต่อยอดกับอีกหลายธุรกิจได้เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้จึงเห็นได้ว่า นอกจากการขยายถาดพายของตลาดสมาร์ทโฟนให้กลับมาใหญ่ขึ้นแล้ว ในอีกหนึ่งด้าน มันคือแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นเพื่อเก็บ Data หรือที่หลายคนเปรียบว่ามันคือ New Oil ของโลกใหม่นั่นเอง