แวดวงสตาร์ทอัพคงจะคุ้นเคยกับชื่อของ “เจคอป กรีนสแปน” (Jacob Greenshpan) หัวหน้าทีมด้านการออกแบบ UX และ UI ให้กับโครงการ Google Launchpad Accelerator หรือที่รู้จักกันในนาม “โยดาแห่ง UX/UI” ผู้ซึ่งเคยเป็นโค้ชให้กับสตาร์ทอัพระดับโลกมาแล้ว ด้วยประสบการณ์ทำงานด้าน UX/UI มานานกว่า 22 ปี
ล่าสุด คุณเจคอป เดินทางมาเป็นวิทยากรคนสำคัญให้กับสตาร์ทอัพไทย ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ dtac Accelerate batch 7 พร้อมทั้งเผยแนวคิดด้าน UX/UI ไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพในการนำมาปรับใช้ และนี่คือ 5 เรื่อง ที่ Jacob ฝากไว้ให้คิด
UX/UI จะกำหนดชะตา
ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เรามักจะได้ยินคำว่า UX/UI ควบคู่กันเสมอ User Experience (UX) คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งานต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งสัมพันธ์กับ User Interface (UI) หรือความยากง่ายในการใช้งานของผู้ใช้งาน (User)
ปัจจุบัน UX/UI ถูกนำมาพัฒนาเข้ากับการออกแบบแอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มให้บริการทางดิจิทัลต่างๆ โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับ User ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของประสบการณ์ใช้งาน หรือความรู้สึกในการใช้งาน ดังนั้น UX/UI จะเป็นตัวกำหนดว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะถ้าหากมี UX/UI ที่ดี จะทำให้ User ติดใจ (Good Experience) และเข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์เป็นประจำ
ทำไม UX/UI จึงมีความสำคัญถึงขนาดกำหนดชะตาของสตาร์ทอัพได้ ลองนึกภาพว่า สตาร์ทอัพรายหนึ่ง เริ่มต้นออกแบบแอปพลิเคชั่นขึ้นจากความรู้สึกส่วนตัว คาดเดาเองว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะชอบ/ต้องการแบบนี้ โดยที่ยังไม่เคยไปเจอกับ User จริงๆ และเมื่อเอาไปให้ User ทดลองใช้ ปรากฏว่า User เกิดไม่ประทับใจ (Negative Emotion) จนถึงขั้นไม่ใช้งานต่อ หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ อาจทำให้แอปพลิเคชั่นนั้นต้องล้มเหลวไป เลวร้ายสุดคือไม่สามารถกลับมาในตลาดได้อีกเลย
รู้ว่า User ต้องการอะไร ผ่าน “Think Aloud”
ดังนั้นสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องทำ คือ “ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ได้ โดยเอาความต้องการของเขาเป็นที่ตั้ง” แล้วจึงสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาให้ตรงใจมากที่สุด แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาต้องการอะไร? คุณเจคอป แนะนำเทคนิคในการอ่านใจง่ายๆ คือ “หมั่นสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของ User”
สตาร์ทอัพจะต้องให้ User ทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์จริงๆ จากนั้นเรียนรู้ข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมของ User ขณะที่กำลังใช้งาน เช่น วิธีกดปุ่ม กดปุ่มกดไหน/ไม่กดปุ่มไหน และให้เขาพูดออกมา “Think Aloud” ทันที ว่าใช้แล้วรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงในครั้งต่อไป
ไปหาเครื่องมือมาช่วยอ่านใจซะ
สตาร์ทอัพอาจจะตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่มีเครื่องมือที่มาช่วยอ่านใจ User ได้เลยหรอ? ต้องบอกว่า ในอนาคตอาจจะมีคนพัฒนาเครื่องมือที่มาช่วยอ่านใจมนุษย์ได้ แต่เมื่อเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น
เทคนิคหนึ่งที่สตาร์ทอัพสามารถนำมาปรับใช้ได้ คือ การนำ Machine Learning หรือสมองของ AI มาช่วยในการเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมของ User และทดลองมอบสิ่งที่เขาต้องการให้ในขณะนั้น ยกตัวอย่าง Google ที่คาดเดาความสนใจของ User ได้ หลังจากเรียนรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมผ่านการเสิร์ชคำค้นหาต่างๆ
UX/UI ที่ดี คือการไม่มี UX/UI
อาจจะฟังดูแล้วสับสนพิกล แต่ความจริงคือ “UX/UI ที่ดี คือการไม่มี UX/UI”
อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองนึกถึงประตูเปิดอัตโนมัติ ประตูที่สามารถเปิดเองได้โดยไม่ต้องมีลูกบิด ไม่ต้องออกแรงผลักหรือดึง ไม่ต้องมีปุ่มกดให้ยุ่งยาก แถมยังสะดวกต่อคนที่ไม่สามารถใช้มือประตูได้อีก นี่แหละ คือ UX/UI ที่ดี เพราะมันเป็นอะไรที่ง่ายแต่ตอบโจทย์มากๆ
เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม มนุษย์ก็คือมนุษย์ และความต้องการพื้นฐานของเรา คือ ต้องการมีชีวิตที่ดีและง่ายขึ้น ดังนั้นเรื่อง UX/UI จึงแทรกซึมอยู่ทุกๆ ผลิตภัณฑ์และบริการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดน้ำดื่มที่เปิดปิดฝาง่าย หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งสบาย ไปจนถึงเทคโนโลยีอันซับซ้อน UX/UI ถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการออกแบบประสบการณ์การใช้งานทั้งนั้น
ต้องเข้าใจ User ระดับไหน จึงจะ Success
คุณเจคอป ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจากการออกแบบ UX/UI อย่าง “UBER” ที่นำ GPS มาใช้ในการค้นหาตำแหน่งผู้โดยสารว่าอยู่ตรงไหน ทำให้ User ไม่ต้องเสียเวลาบอกทางเอง และเมื่อรถมาถึง ก็สามารถขึ้นไปนั่งได้เลยทันที โดยไม่ต้องบอกคนขับว่าจะไปที่ไหน ก็สามารถถึงที่หมายได้ แถมตอนจะลงจากรถ ยังไม่ต้องควักเงินสดออกมาจ่ายอีกด้วย เพราะสามารถจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นได้เลย
อย่างไรก็ตาม คุณเจคอป ได้เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของ UX/UI คือ การเข้าใจในความต้องการของ User เพราะพวกเขาคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้ “ชีวิตง่ายและดีขึ้น” ดังนั้นสตาร์ทอัพที่อยากประสบความสำเร็จต้องหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อที่ตามเทรนด์ความต้องการของ User ในโลกที่หมุนเร็วนี้ให้ทัน