21 สิงหาคม ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ฟ้องเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วน ซึ่งทำให้กลุ่มผู้เข้าประมูลโครงการอู่ตะเภาดังกล่าว ต้องหมดสิทธิ์เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาด้านเทคนิค ปมดังกล่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร นี่คือบทสรุปทั้งหมด!
ย้อนปม 3 ทุนใหญ่ ชิงเค้กอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน
สำหรับข้อพิพาทข้างต้น ที่เดินทางมาถึงการยกฟ้องของศาลปกครองกลางในคร้ังนี้ มาจากการที่
1. ทางกองทัพเรือ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถยื่นซองประมูลเพื่อร่วมลงทุนกับภาครัฐได้ ภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและการเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท
2. กำหนดระยะเวลาในการยื่นซองประมูล เอกชนแต่ละรายที่สนใจสู้ในศึกนี้ จะต้องส่งซองประกวดราคา, รายละเอียดต่างๆ ภายในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 -15.00 น.
3. ในวันและเวลาดังกล่าว มีหนึ่งในภาคเอกชนที่ไม่สามารถยื่นซองประมูลได้ทันในเวลาดังกล่าว ซึ่งก็คือ กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยมีกลุ่มทุนใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพีเป็นหนึ่งในพันธมิตร ร่วมกับกลุ่มทุนอื่นๆ อาทิ บี.กริม, อิตาเลี่ยนไทย และ ช.การช่าง เป็นต้น โดยนำส่งเอกสารช้ากว่ากำหนดราว 9 นาที ด้วยเหตุผลว่าในวันนั้น “รถติด” มากเป็นพิเศษ จนนำมาสู่การฟ้องร้องข้างต้นนี้
4. นอกเหนือจากเอกชนกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมี ผู้เข้าร่วมประมูลอีก 2 ราย คือ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS โดยกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, การบินกรุงเทพฯ และชิโน -ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ 2. กลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม นำโดย แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ , คริสเตียนีและนีลเส็น, เอเชีย เอวิเอชั่น รวมทั้ง ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน และ GMR Group Airport จากอินเดีย
5.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งยื่นซองไม่ทัน ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลวินิจฉัยยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาซอง และขอให้ยังคงพิจารณาซองเอกสารทั้งหมดของกลุ่มต่อไป
6. 21 พฤษภาคม 2562 ศาลปกครองรับพิจารณาคำฟ้องของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร
7.21 สิงหาคม ศาลปกครองตัดสินว่า “ยกฟ้อง” หมายความว่า คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ มีสิทธิ์ “ไม่” ต้องพิจารณาซองของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เพราะว่ามาช้ากว่าที่คณะกรรมการฯ กำหนดระยะเวลาไว้
8. ขั้นตอนต่อไปของการประมูล คือการพิจารณารายละเอียดเชิงเทคนิคการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามเป็นการพิจารณาเฉพาะผู้เข้าประมูล 2 รายที่เหลือเท่านั้น ซึ่งคาดกว่าขั้นตอนนี้จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน
สำหรับรายละเอียดการตัดสินของศาล มีดังนี้
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 757/2562 หมายเลขแดงที่ 1066/2562 ระหว่าง บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 2 บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีที่ 4 และบริษัทโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในนาม กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดเปิดการยื่นซองในวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 นาฬิกา และปิดการรับซองในวันเดียวกัน เวลา 15.00 นาฬิกา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ยื่นซองข้อเสนอ ประกอบด้วย เอกสารซองที่ไม่ปิดผนึก เอกสารซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป เอกสารซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ เอกสารซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และเอกสารซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ รวม 11 กล่อง พร้อมกล่องสำเนา และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหลักฐานการยื่นซองข้อเสนอให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าแล้ว แต่ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งผลการยื่นข้อเสนอว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 เนื่องจากเป็นเอกสารที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอ
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาตามขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนต่อไป คดีมีประเด็นวินิจฉัยว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ในส่วนของสถานที่ วัน เวลาเปิดการรับซอง ปิดการรับซอง และการเปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดว่า จะเปิดให้การรับซองข้อเสนอในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 นาฬิกา และปิดการรับซองข้อเสนอในวันเดียวกัน เวลา 15.00 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้
สำหรับหลักเกณฑ์การเปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ กำหนดว่า (ก) จะเปิดซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอ ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 16.00 นาฬิกา จากข้อกำหนดดังกล่าว ซองข้อเสนอที่ผู้ประสงค์จะยื่นแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ข้อเสนอไม่ปิดผนึก (ซองที่ 0) กับ กลุ่มที่สอง ข้อเสนอปิดผนึก (ซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ)
ซึ่งในวันยื่นข้อเสนอวันที่ 21 มีนาคม 2562 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นซองข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม ให้ครบถ้วนภายในเวลา 15.00 นาฬิกา หลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าวได้กำหนดขึ้นเพื่อให้การแข่งขันในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน อันเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคู่สัญญาจะต้องวางตัวเป็นกลางและรักษากติกา กล่าวคือ ต้องดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ในวันยื่นซองข้อเสนอเวลาประมาณ 12.21 นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำข้อเสนอซองไม่ปิดผนึกมายังสถานที่รับซอง และเวลา 13.52 นาฬิกา ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้นำซองข้อเสนออีกจำนวน 8 กล่อง เข้ามา ต่อมาในเวลา 15.00 นาฬิกา คณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอตรวจสอบหมายเลขซองข้อเสนอที่ระบุบนกล่องข้อเสนอทั้งหมดของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่มาถึงสถานที่รับซองแล้ว พบว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีความประสงค์ที่จะยื่นข้อเสนอจำนวนทั้งหมด 11 กล่อง แต่ข้อเสนอมีเพียง 9 กล่องเท่านั้นที่มาถึง โดยขาดข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 (ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) และกล่องที่ 9 (ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา) ต่อมา เวลาประมาณ 15.09 นาฬิกา ซองข้อเสนอ 2 กล่อง ได้แก่ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มาถึงยังสถานที่รับซอง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายอมรับตามคำชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าส่งมอบเอกสารดังกล่าวล่าช้า เนื่องจากการจราจรติดขัด จึงรับฟังได้ว่า เอกสารซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า จำนวน 2 กล่อง ดังกล่าว มาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 นาฬิกา อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ของเอกสารการคัดเลือกฯ
ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (3) โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุม ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ไม่รับซองข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา จึงชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับซองข้อเสนอทั้งหมดไว้แล้วในวันนั้นโดยไม่ได้อิดเอื้อนหรือมีท่าทีปฏิเสธ และได้เลื่อนการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ของผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายออกไป ทั้งผู้ถูกฟ้องคดียังให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าชำระค่าธรรมเนียมประเมินซองข้อเสนอและหลักประกันซอง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ถือเอากำหนดเวลายื่นและรับซองข้อเสนอในเอกสารคัดเลือกฯ ข้อ 31 (1) เป็นสาระสำคัญ และถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ขยายระยะเวลารับซองโดยปริยายแล้วนั้น
เห็นว่า กระบวนการยื่นและรับข้อเสนอซองไม่ปิดผนึกรวมทั้งซองปิดผนึก (ซองที่ 1 ถึงซองที่ 4) ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15.00 นาฬิกา เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนที่แยกต่างหากออกจากกระบวนการตรวจสอบเอกสารในซองไม่ปิดผนึก ทั้งการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารซองไม่ปิดผนึกก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการยื่นข้อเสนอซองปิดผนึก หากแต่เป็นขั้นตอนภายหลังในชั้นของเงื่อนไขการพิจารณาให้คะแนนเท่านั้นประกอบกับความล่าช้าของการดำเนินการที่ส่งผลให้กำหนดการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ต้องล่าช้าออกไปจนต้องมีการแจ้งเลื่อนนั้น เป็นเรื่องของการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารซองไม่ปิดผนึกเพราะเอกสารที่ยื่นมีเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งขยายเวลากำหนดการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามข้อ 31 (2) ประกอบกับการปฏิเสธไม่รับข้อเสนอที่ยื่นเกินเวลาดังกล่าว ไม่จำต้องกระทำในเวลาที่มีการยื่นแต่อย่างใด หากข้อเท็จจริงปรากฏชัดในภายหลัง ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับได้ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่อาจรับฟังได้
ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง