HomeReal Estate & Condoอยู่ที่เรียนรู้อยู่ที่ยอมรับมัน! “อนันดา” ได้อะไรจากกรณี Ideo Q พหลฯ-สะพานควาย

อยู่ที่เรียนรู้อยู่ที่ยอมรับมัน! “อนันดา” ได้อะไรจากกรณี Ideo Q พหลฯ-สะพานควาย

แชร์ :

คงไม่มีโอกาสได้เห็นกันบ่อยนัก สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ ระดับแฟลกชิพมูลค่ากว่าหมื่นล้าน ที่หลังจากเปิดตัวพร้อมให้จองได้เพียงสองเดือนกว่าๆ ก็ต้องกลับลำยกเลิกการขาย เพื่อทบทวนโครงการใหม่ทั้งแบบแปลน วัสดุ ราคา รวมไปถึงการเปลี่ยนแบรนด์ที่จะนำมาสวมให้กับโครงการใหม่ เรียกได้ว่า  กลับไป “ทำการบ้านใหม่” ทั้งหมด เพื่อให้ได้โครงการที่สอดคล้องและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โครงการคอนโดไฮไรซ์อย่าง “ไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย” คือหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นและถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะหลังจากเริ่มเปิดให้จองซื้อไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา จนกระทั่งมีเอกสารจากทาง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ชี้แจงว่า บริษัทได้ทำการปรับรูปแบบโครงการใหม่ เพื่อนำเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ BIM รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทันสมัยมาใช้ในโครงการ เพื่อให้บริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมทั้งปรับราคาขายลงมาอยู่ที่ 1.49 แสนบาทต่อตารางเมตร จากเดิมเปิดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 1.89 แสนบาทต่อตารางเมตร พร้อมกำหนดการเปิด Soft Opening ครั้งใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี โดยมอบสิทธิ์ให้ลูกค้าที่เคยจองโครงการไว้ก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มแรกที่มีโอกาสได้จองก่อนใคร พร้อมด้วยสิทธิพิเศษเพิ่มเติมต่างๆ ​

จากสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้น และการติดตามคอมเม้นต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ผ่านโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทิศทางคอมเม้นท์จะวิจารณ์ไปที่เรื่องของราคาขายเป็นหลัก ส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในระดับราคาที่แพงมากเกินไป แม้​โครงการจะชูจุดแข็งสำคัญอยู่ที่ทำเลทองที่หาได้ยากจากโครงการอื่นๆ ด้วยระยะห่าง 0 เมตร จากรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คนสนใจโครงการได้จริงเพราะทางเข้าหน้าโครงการอยู่ตรงทางลงรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควายพอดี

ด้วยทำเลทอง และประโยคขายอย่าง “0 เมตร จาก บีทีเอสสะพานควาย” เป็นเหตุผลให้ทางอนันดาเลือกใช้แบรนด์ระดับบนอย่าง Ideo Q (ไอดีโอ คิว) มาพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของทำเล​ รวมทั้งตรงกับภาพลักษณ์และคาแร็คเตอร์ของกลุ่มเป้าหมาย แต่เมื่อเปิดราคาขายมาค่อนข้างสูง ทำให้จุดเด่นของโครงการจากการมีทำเลศักยภาพสูง กลับถูกนำไปเปรียบเทียบกับทำเลที่สถานีอื่นๆ ในย่านสำคัญ หรือในแถบ CBD อื่นๆ ทำให้รู้สึกว่าราคาที่ทางอนันดาตั้งขึ้นมาค่อนข้างสูงเกินไป และไม่สมเหตุสมผล

ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฟังดูค่อนข้างมีเหตุผลและน่าจะมีความเป็นไปได้สูง เพราะในเอกสารชี้แจงจากผู้พัฒนาโครงการระบุไว้ว่า ยังมีกลุ่มลูกค้าจำนวนมากอีกกว่า 3 เท่า ที่ให้ความสนใจและต้องการเข้าถึงโครงการนี้ ​จึงเป็นเหตุผลให้มีการปรับรูปแบบของโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและตลาด โดยเฉพาะการหาเทคโนโลยีก่อสร้างเพื่อมาช่วยลดต้นทุน และสามารถขายได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแบรนด์จากไอดีโอ คิว มาเป็นไอดีโอ ธรรมดา ​

แต่เพื่อความเคลียร์และเข้าใจที่ตรงกันถึงเหตุผลที่อนันดา ยกเลิกขายโครงการไอดีโอ คิว พหลฯ​-สะพานควาย ก่อนที่ความเห็นและการคาดการณ์ต่างๆ ในสังคมจะส่งเอฟเฟ็กต์มาสู่ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ต่างๆ ในเครืออนันดา ทำให้นอกจากมีเอกสารชี้แจงอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว ทางผู้บริหารอย่างคุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยังได้ทำคลิปเพื่อชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมอธิบายเหตุผลต่างๆ ด้วยตัวเอง

คุณโก้ อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับโครงการ ไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย ถือเป็นหนึ่งใน Case Study ที่น่าสนใจของอนันดาหรือแม้แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่อง Change Organization ที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการบริการองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน เพราะหมายถึงการที่ธุรกิจต้องมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถรับมือต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่พร้อมจะเข้ามา Disrupted ตลอดเวลา ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ การมี Business Model ใหม่ๆ เจนเนอเรชั่นที่มีความหลากหลายและแตกต่าง รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“ธรรมชาติของธุรกิจอสังหาฯ ในการพัฒนาโปรเจ็กต์หนึ่ง อาจใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี รวมทั้งยังมีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้รับเหมา สถาปนิก ดีไซน์เนอร์ หรือเวนเดอร์ต่างๆ รวมแต่ละโครงการอาจมีไม่ตำ่กว่า 40 บริษัท ​​ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนต่างๆ โดยเฉพาะ​การปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นความท้าทาย ไม่ต่างจากการบังคับให้เรือไททานิคเลี้ยว​ แต่หากสามารถทำได้สำเร็จก็สะท้อนได้ดีถึงความรัก ความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นของคนในองค์กร”

คุณโก้ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและการแก้ไขปัญหาของทางอนันดาฯ เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงการเป็น Change Organization ที่แม้จะลอนช์โครงการออกมาแล้ว แต่ก็ยังฟังเสียง ฟังความต้องการของลูกค้า และพร้อมที่จะเริ่มใหม่ แก้ไขใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดและลูกค้าได้อย่างดีที่สุด ​ซึ่งการมี Change Organization ไม่ใช่เพียงแค่คัลเจอร์ของอนันดาเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีคิดและคัลเจอร์ร่วมกันที่เกิดขึ้นตลอดทั้ง Value Chain​ ​ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ง่ายๆ

ดังนั้น การตอบรับต่างๆ ที่มีต่อโครงการ ไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควาย รวมไปถึงการตัดสินใจเลือกที่จะฟังเสียงลูกค้า และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสิ่งที่ใช่ของลูกค้าและผู้บริโภค ด้วยการมองหาเทคโนโลยีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ให้ต้นทุนการผลิตโดยภาพรวมลดลงได้ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดขายโครงการออกไปจากกำหนดเดิม แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต่างเป็นสิ่งที่อนันดาภูมิใจที่ได้ทำ และสะท้อนถึงตัวตนของอนันดาต่อความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

 


แชร์ :

You may also like