HomeDigitalGeneration Gap ของแท้ แค่ 20 ปีผ่านไป “ฟล็อปปี้ดิสก์” ก็กลายเป็นตู้กดน้ำอัตโนมัติ

Generation Gap ของแท้ แค่ 20 ปีผ่านไป “ฟล็อปปี้ดิสก์” ก็กลายเป็นตู้กดน้ำอัตโนมัติ

แชร์ :


ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจต้องเคยตอบคำถามเด็ก ๆ กันมาแล้วว่า คอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่น่ะ ทำไมเริ่มต้นที่ไดรว์ C แล้วไดรว์ A – B มันหายไปไหนกัน ซึ่งเราก็เชื่อว่าคนที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไปน่าจะตอบคำถามนี้ได้แน่นอน แต่วันนี้เด็ก ๆ เหล่านั้นกำลังมีคำถามใหม่มาถามกันอีกแล้ว แถมยังเกี่ยวพันกับเจ้าคำถามไดรว์ A-B เสียด้วย โดยคำถามล่าสุดมีขึ้นบนทวิตเตอร์ เมื่อมีผู้ใช้ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมเครื่องหมาย Save บนโปรแกรม Excel ถึงเป็นรูปตู้กดน้ำอัตโนมัติได้ล่ะ?

คำตอบก็คือ มันไม่ใช่ตู้กดน้ำอัตโนมัติแต่อย่างใด หากมันคือสัญลักษณ์ที่ออกแบบตามหน้าตาของฟล็อปปี้ดิสก์ (Floppy Disk) อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่คน Gen X ตอนปลาย และ Gen Y ตอนต้นน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยฟล็อปปี้ดิสก์ในยุคเริ่มต้นมีขนาดใหญ่ถึง 8 นิ้ว ก่อนจะเล็กลงมาที่ 5.25 นิ้ว และพัฒนามาเป็นรุ่น 3.5 นิ้วตามลำดับ แถมแผ่นขนาด 3.5 นิ้วซึ่งเป็นเจเนอเรชันสุดท้ายของฟล็อปปี้ดิสก์ยังสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 1.44MB ซึ่งความจุดังกล่าวสามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการเพื่อบูทเครื่องคอมพิวเตอร์ (ในยุคนั้น) ให้เปิดขึ้นได้ ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นมักจะสำรองไดรว์ A และ B เอาไว้สำหรับแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์โดยเฉพาะ

ไม่เพียงเท่านั้น การมีทั้งไดรว์ A และ B ในคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องก็ทำให้เราก๊อปปี้งานข้ามจากไดรว์ A มาใส่แผ่นในไดรว์ B ได้เลย เป็นความสะดวกที่หรูมากทีเดียว (ในยุคนั้น)

ส่วนที่ว่าทำไมมันถึงได้สิทธิ์ในการเป็นไดรว์ A และ B แถมมาก่อนฮาร์ดดิสก์ (ไดรว์ C) นั้น เป็นเพราะการตั้งค่าความปลอดภัยของระบบที่ในยุคหนึ่งมีการกำหนดไว้ว่า ให้อ่านจากไดรว์ A กับ B ก่อน (ถ้าเราไม่ได้ใส่แผ่นฟล็อปปี้ดิสก์ใด ๆ ลงไป มันถึงจะมาอ่านที่ไดรว์ C) เผื่อไว้ในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์พัง เราก็สามารถบูธเครื่องฉุกเฉินจากแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์และเข้าไปแก้ไข หรือติดตั้งโปรแกรมใหม่ได้นั่นเอง แต่ถ้าตั้งค่าให้ระบบอ่านจากไดรว์ C ก่อน ถ้าฮาร์ดดิสก์พังขึ้นมา ก็จะซ่อมยากขึ้นอีกเท่าตัว เพราะระบบจะวนเวียนไปอ่านค่าจากไดรว์ C ตลอดเวลา)

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการพัฒนาแผ่น CD และหน่วยความจำแบบแฟลชขึ้นมาใช้งาน รวมถึงการพัฒนา External Harddisk ที่มีความจุสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ฟล็อปปี้ดิสก์ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป โดยแบรนด์คอมพิวเตอร์แบรนด์แรก ๆ ที่มีการตัดไดรว์อ่านฟล็อปปี้ดิสก์ทิ้งไปนั้นก็คือ iMac รุ่นปี 1998 ที่เหลือไว้แต่ไดรว์อ่าน CD-Rom เท่านั้น ตามมาด้วย Dell ที่ประกาศแบบเดียวกันในปี 2003

หลังจากนั้นเพียง 4 ปี พบว่ามีคอมพิวเตอร์ในท้องตลาดเพียง 2% เท่านั้นที่ยังคงติดตั้งไดรว์อ่านฟล็อปปี้ดิสก์มาในตัวเครื่อง ซึ่งก็อาจอนุมานได้ว่าเป็นจุดอวสานของฟล็อปปี้ดิสก์ไปโดยปริยาย และที่เดียวที่เราจะยังคงระลึกถึงจุดกำเนิดของการ Save งานบนฟล็อปปี้ดิสก์ได้ ก็อาจเป็นโปรแกรมออฟฟิศของ Microsoft นั่นเอง

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like