อีสปอร์ตต้องมีสนีกเกอร์ของตัวเองไหม คำถามนี้มีคำตอบแล้ว เมื่อกลางปี 2018 ที่ผ่านมา กับการที่ K-Swiss ผู้ผลิตรองเท้าชื่อดังขวัญใจวัยรุ่น ตัดสินใจจับมือกับ Immortals ทีมอีสปอร์ตยักษ์ใหญ่เปิดตัวรองเท้าผ้าใบสำหรับเจาะตลาดอีสปอร์ตโดยเฉพาะ เพียงแต่ว่า นี่อาจไม่ใช่แค่อีกหนึ่งตลาดสำหรับรองเท้ากีฬา หากแต่เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างตัวตนของแบรนด์ K-Swiss ให้อยู่ในวงการอีสปอร์ตด้วยนั่นเอง
โดยเรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ในเวลานั้น อาจกล่าวได้ว่า เรื่องของวงการอีสปอร์ตเริ่มมีอิทธิพลอย่างสูงต่อหลาย ๆ วงการทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตสนีกเกอร์ชื่อดัง K-Swiss ตัดสินใจจับมือกับทีมอีสปอร์ตยักษ์ใหญ่ Immortals เพื่อผลิตรองเท้าผ้าใบแบบ Limited Edition ออกมาให้ได้ยลโฉมกัน โดยมีกำหนดเปิดตัวช่วงกลางปี 2019
ล่าสุดรองเท้าดังกล่าวก็ได้ฤกษ์เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า ในเวลานี้ไม่ได้มีแค่ K-Swiss ที่สนใจวงการอีสปอร์ต เพราะแบรนด์ดังอย่าง Nike และ Adidas ต่างก็ลงมาลุยในตลาดนี้กันพร้อมหน้า ซึ่งการยกทัพลงมาของบรรดาแบรนด์กีฬาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการคาดการณ์จาก Goldman Sachs ที่ประเมินว่า วงการอีสปอร์ตมีโอกาสสร้างรายได้แตะ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2022 ได้เลยทีเดียว
สำหรับรองเท้าของ K-Swiss ที่เน้นเจาะกลุ่มไปที่นักกีฬาอีสปอร์ตโดยเฉพาะนี้มีชื่อเรียกว่า One-Tap ซึ่งดีไซน์โดยใช้สีดำเป็นหลัก จุดเด่นของรองเท้าคือการออกแบบให้มีน้ำหนักเบา ใส่สบาย มีเส้นใยขนสัตว์เพื่อให้รู้สึกอุ่นสบายเท้าเวลาใส่ในฤดูหนาว แต่ก็สามารถระบายอากาศได้ดีในฤดูร้อน นอกจากนั้นยังสามารถใส่แบบรองเท้าสลิปเปอร์ (ใส่โดยการเหยียบส้น) ได้ด้วย เผื่อว่านักกีฬาอยากเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการเล่นเกมในแมทช์ที่ยาวนาน
Barney Waters ประธานบริษัท K-Swiss กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทสามารถขายรองเท้า One-Tap ได้ถึงครึ่งหนึ่งของสินค้าในสต็อก ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังการเปิดตัว ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เขาได้วิเคราะห์ไว้ว่า
“ปัจจุบัน คอนเทนต์เกมบน Twitch (แพลตฟอร์มสำหรับสตรีมมิ่งเกม) มีผู้รับชมมากกว่า HBO, Netflix, Hulu และ ESPN รวมกันเสียอีก โดยเฉพาะในการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์ที่สำคัญ ๆ เราพบว่ามียอดผู้ชมมากกว่ายอดผู้ชมรอบชิงชนะเลิศของ NBA ถึงสองเท่า แถมกลุ่มที่รับชมมากที่สุดคือกลุ่มวัยรุ่นชาย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่นักโฆษณาเข้าถึงได้ยากมากตามช่องทางปกติ”
เช่นเดียวกับ Eric Haggstrom นักวิเคราะห์จาก eMarketer ที่มองว่า อีสปอร์ตกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่นักโฆษณาให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะกลุ่มผู้ชมเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และไม่ใช่ผู้บริโภคธรรมดาทั่วไป เนื่องจากคนเหล่านี้มักใช้ Ad Blocker ซึ่งทำให้นักโฆษณายากจะเข้าถึงได้ตามช่องทางปกติ Eric จึงมองว่า ความฮอตของอีสปอร์ตนี้ ทำให้เราเริ่มเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola หรือ Verizon เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับอีสปอร์ตมากขึ้น รวมถึงบริษัทผู้ผลิตข้าวของเครื่องใช้สำหรับนักกีฬาอย่าง K-Swiss, Nike และ Adidas ด้วย
ส่วน Nike นั้น เป็นการจับมือกับทีมอีสปอร์ตสัญชาติบราซิลชื่อ Furia พัฒนายูนิฟอร์มของทีมสำหรับแข่งเกม Counter-Strike และ Adidas ก็เป็นผู้สนับสนุนทีมอีสปอร์ตสัญชาติจากสแกนดิเนเวียชื่อ North ด้วยเช่นกัน
รายงานของ Goldman Sachs ยังชี้ด้วยว่า ในปี 2018 มีผู้ชม 167 ล้านคนที่รับชมการแข่งขันอีสปอร์ต และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 276 ล้านคนในปี 2022 ซึ่งคาดว่าภายในปีนั้น อีสปอร์ตจะสามารถทำเงินได้ราว 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐในที่สุด