หากเอ่ยชื่อ Meituan-Dianping พร้อมคำนิยามว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านการจัดส่งอาหาร เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีการแข่งขันดุเดือด ระหว่าง Meituan-Dianping กับ Ele.me แต่ในความเป็นจริง Meituan-Dianping อยู่ใกล้เรากว่าที่คิด เพราะสตาร์ทอัพรายนี้เข้ามาเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2017 และมีร้านค้าในไทยให้ความสนใจเข้าไปเปิดร้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยหนึ่งในจุดเด่นของ Meituan-Dianping อาจเป็นโลโก้ที่อาจจะแปลกกว่าสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ กันสักนิด นั่นคือประกอบด้วยโลโก้สองอันแยกออกจากกัน สะท้อนประวัติในอดีตว่า ครั้งหนึ่ง Meituan และ Dianping เคยเป็นคู่แข่งกัน ก่อนจะหันมาจับมือกันในที่สุด
โดยในฉากหน้า Meituan และ Dianping ยังคงแยกกันให้บริการ แต่ดาต้าด้านหลังของทั้งสองแพลตฟอร์มนั้นเชื่อมต่อถึงกันเรียบร้อยแล้ว และถึงแม้จะแยกกันให้บริการ 2 แอป ทว่าแต่ละตัวก็มีจุดเด่นของตัวเอง นั่นคือ Meituan จะโดดเด่นด้านคูปองส่วนลด หรือคล้ายกับ Ensogo เมื่อในอดีต ส่วน Dianping จะเด่นเรื่องการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการหาข้อมูลว่าควรจะไปกินอะไรดี อาหารที่ไหนอร่อย คล้าย ๆ กับ tripadvisor นั่นเอง
ปัจจุบัน Meituan-Dianping มีผู้ใช้งาน 600 ล้านแอคเคาน์ และในจำนวนนี้เป็น Annual Active Buyer ประมาณ 400 ล้านคน
สำหรับอินเทอร์เฟสการทำงานของแอปพลิเคชันเป็น Location-Based ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากนักท่องเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ ข้อมูลที่แสดงในแอปพลิเคชันก็จะเป็นร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ในกรุงเทพฯ (รวมถึงโปรโมชันด้วย) แต่ถ้านักท่องเที่ยวคนนั้นย้ายไปพัทยา หรือภูเก็ต ข้อมูลก็จะเปลี่ยนตามไปเช่นกัน
Meituan-Dianping บอกว่า มีการออกแบบอินเทอร์เฟสในลักษณะนี้มากกว่า 2,800 แห่งทั่วโลก และมีร้านค้าอยู่บนระบบแล้วมากกว่า 30 ล้านแห่ง โดยในจำนวนนี้มีกว่า 5 ล้านแห่งที่เริ่มทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาซื้อของ
แล้วผู้ใช้ของ Meituan-Dianping คือใคร ใช้จ่ายอย่างไรกันบ้าง
ในจุดนี้ คุณสรวิชญ์ วิจิตรพรกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Meituan-Dianping ประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันผู้ใช้งาน Meituan-Dianping หลัก ๆ คือผู้หญิง คิดเป็น 65% ผู้ชาย 35% สาเหตุที่ผู้หญิงมากกว่าเพราะผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานอะไรดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้หญิงเป็นคนถือเงิน
สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานหลัก 85% อายุระหว่าง 20-35 ปี และ 54% มาจากหัวเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, กว่างโจว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ยังพบว่า 62% มีรายได้มากกว่า 15,000 หยวน หรือ 75,000 บาทต่อเดือน
ด้านหน้าที่การงาน พบว่า 71% เป็นกลุ่ม White-Collar และ 16% เป็นระดับบริหาร ซึ่งคุณสรวิชญ์เผยว่าการใช้จ่ายในระหว่างการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 6,000 หยวน หรือประมาณ 30,000 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าโรงแรมที่พัก) ส่วนมื้ออาหารนั้นอยู่ที่ 1,500 บาทต่อคนต่อมื้อ และ 93% จะเดินทางสองคนขึ้นไป มีเพียง 7% ที่เดินทางคนเดียว
Meituan-Dianping แพลตฟอร์มที่ต้อง “ออกไข่”
อีกหนึ่ง Core Value ของ Meituan-Dianping ก็คือรีวิวจากผู้ใช้บริการ หรือที่บริษัทเปรียบว่าเป็นการ “ออกไข่” ซึ่งคุณสรวิชญ์ มองว่า รีวิวเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะตัวนักท่องเที่ยวผู้เป็นเจ้าของรีวิวอาจจะไม่ได้กลับมายังร้านค้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวนั้นได้บ่อย ๆ การมีรีวิวคือไข่ที่เขาทิ้งเอาไว้ให้ คนจีนที่เห็นก็จะสนใจและอยากตามมาชิม ซึ่งปัจจุบัน แพลตฟอร์มมีรีวิวแล้วกว่า 4.7 ล้านครั้ง
สำหรับหน้าที่ของ Meituan-Dianping ในตลาดไทยนั้น ตามการเปิดเผยของคุณสรวิชญ์ระบุว่า แท้จริงก็คือมาเพื่อเสิร์ฟชาวจีนที่คุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม และเมื่อชาวจีนเหล่านั้นมาอยู่ในประเทศไทย ก็ไม่แปลกที่ Meituan-Dianping จะตามมาให้บริการด้วยนั่นเอง Meituan-Dianping จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่อาจจะเป็นทางเลือกในการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนสำหรับผู้ประกอบการไทยไม่ว่ารายใหญ่หรือเล็กนั่นเอง