SmartNews สตาร์ทอัพด้านข่าวของญี่ปุ่นขอโตสวนกระแส Apple-Google-Facebook กับการพัฒนาแอปพลิเคชันนำเสนอข่าวที่ไม่เพียงเอาใจผู้อ่านด้วยคอนเทนต์ที่ Personalization ให้ตรงกับความชอบเพียงอย่างเดียว แต่จะนำเสนอข่าวสารจากอีกด้านให้ผู้อ่านรับทราบด้วย โดยผู้ก่อตั้งประกาศบุกตลาดสหรัฐอเมริกา หวังใช้เวทีเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 เป็นสถานที่วัดกึ๋น
เรียกว่าแหวกแนวกันทีเดียวสำหรับธุรกิจสื่อในยุค Personalization เมื่อ Ken Suzuki อดีตนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน SmartNews เมื่อปี 2012 ออกมาเผยว่า โลกของข้อมูลข่าวสาร มันต้องนำเสนอสองด้านสิ
โดยสิ่งที่แอปของเขาทำนั้นค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple หรือ Google ทำกับอุตสาหกรรมสื่อ ที่เรามักพบว่า บริษัทเทคโนโลยีมักสร้างพื้นที่รวบรวมข่าวของตัวเอง และใช้พื้นที่นั้นเสิร์ฟข่าวให้กับผู้อ่านจำนวนมหาศาลบนแพลตฟอร์ม โดยจะแบ่งเพียงยอดเงินโฆษณาจำนวนหนึ่งกลับไปยังสำนักข่าวเหล่านั้นแทน หรือการพยายาม Personalization คอนเทนต์ข่าวให้เข้ากับจริตของผู้อ่านแต่ละราย เพื่อดึงให้ผู้อ่านอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองนาน ๆ ซึ่งในท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การถูกโน้มน้าวชักจูงโดยอัลกอริธึมได้โดยง่าย
Suzuki เผยว่า แอปพลิเคชันที่เขาพัฒนาขึ้นอย่าง SmartNews นั้นต้องการชี้ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ซึ่งทำให้แอปของเขาไม่เพียงนำเสนอข่าวที่ผู้อ่านสนใจ แต่ยังนำเสนอข่าวจากฟากตรงข้ามมาให้ผ่านตาด้วย
“งานของ SmartNews คือการทำงานร่วมกับสำนักข่าวหลัก ๆ ของโลก เพื่อนำเสนอข่าวของสำนักข่าวเหล่านั้นกับยูสเซอร์ของแพลตฟอร์มที่มีประมาณ 20 ล้านคนให้ได้อ่านข่าวที่มาจากแหล่งที่หลากหลาย”
ปัจจุบัน แหล่งที่มาของข่าวบนแอป SmartNews นั้นพบว่ามีราว 400 สำนักข่าวรวมถึง Bloomberg และ Associated Press ด้วย ซึ่งนอกจากนำเสนอข่าวแล้ว ทางทีมงานยังมีการมอนิเตอร์ว่าผู้อ่านข่าวนั้น ๆ นานแค่ไหนด้วยเช่นกัน
เป็นสตาร์ทอัพด้านสื่อที่ไม่ได้เน้นจ้าง “นักข่าว”
สำหรับทีมงานของ SmartNews มีทั้งสิ้น 200 คน แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมเมอร์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายเหมือนกัน เพราะคู่แข่งที่เป็นสตาร์ทอัพด้านสื่อเหมือน ๆ กันอย่าง BuzzFeed ก็ไม่ได้เลือกเดินในทางนี้ (สุดท้าย แนวทางของ BuzzFeed นำไปสู่การประกาศเลย์ออฟพนักงานไปแล้วหลายร้อยคน เพื่อลดต้นทุน)
ส่วน SmartNews ล่าสุด บริษัทสามารถระดมทุนรอบใหม่ได้สำเร็จ ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีสถานะเป็นยูนิคอร์นไปแล้วเรียบร้อย โดยหนึ่งในผู้ลงทุนคือ Japan Post Capital กองทุนที่บริหารจัดการโดยผู้ให้บริการไปรษณีย์ของญี่ปุ่น กับเงินลงทุน 28 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดย SmartNews เผยว่า เมื่อได้เงินจำนวนนี้มา พวกเขาจะไปจ้างโปรแกรมเมอร์เพิ่ม
ความแตกต่างอีกข้อของ SmartNews เมื่อเทียบกับแอปรวมข่าวอื่น ๆ ก็คือ SmartNews จะส่งผู้อ่านตรงไปยังเว็บไซต์ของสำนักข่าวนั้น ๆ แทนที่จะดึงคอนเทนต์ข่าวมาเก็บไว้บนแอปของตัวเองอย่างที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มักจะทำกัน ซึ่งแน่นอนว่า เป็นพฤติกรรมที่ถูกอกถูกใจบรรดาสำนักข่าวออนไลน์อย่างมาก เห็นได้จากการที่ Nieman Journalism Lab จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเผยว่า แอปในลักษณะนี้ช่วยสร้างทราฟฟิกให้กับสำนักข่าวออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน SmartNews มียอดเงินระดมทุนแล้ว 116 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะไปหาเพิ่มในตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ที่แอปบอกว่ามียอดการเติบโตของผู้ใช้งานถึง 6 เท่าภายในปีเดียว
ส่วนกลยุทธ์หลักของแอปคือศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ที่มองว่าคนอเมริกันต้องการหาข่าวอ่านในมุมที่แตกต่างออกไป
Fabien-Pierre Nicolas รองประธานฝ่ายการตลาดของ SmartNews กล่าวว่า “เราต้องหยุดการใช้ฟิลเตอร์ เพื่อให้คนได้เห็นข่าวสารจากอีกด้าน นั่นคือสิ่งที่เราต้องการทำให้เกิดขึ้นให้ได้”