HomeBrand Move !!PLANET SCB บัตรเติมเงินที่ยอมทิ้งค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน 2.5% แลกกับข้อมูลการใช้จ่ายทั่วโลก

PLANET SCB บัตรเติมเงินที่ยอมทิ้งค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน 2.5% แลกกับข้อมูลการใช้จ่ายทั่วโลก

แชร์ :

เรียกได้ว่าปรากฏการณ์ Track การใช้จ่าย “Around the World” ของสถาบันการเงินไทยวันนี้ ดุเดือดไม่แพ้วงการไหน โดยล่าสุดเป็นไทยพาณิชย์ที่ยอมทิ้งค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน 2.5% เพื่อเข้าถึง Data ชุดใหม่ กับการเปิดตัวบัตรเติมเงิน PLANET SCB  เจาะ 3 กลุ่มเป้าหมาย “นักท่องเที่ยว – นักช้อปออนไลน์ – นักเรียนไทยในต่างประเทศ” ตั้งเป้า 200,000 ใบภายในหนึ่งปี และยอดใช้จ่าย 5,000 ล้านบาท

ความเที่ยวเก่ง ใช้จ่ายเก่งของคนไทย เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลาย ๆ วงการยอมรับ เห็นได้จากการสำรวจของ Visa ที่พบว่า ในปี 2017 คนไทยมีการวางแผนทริปเฉลี่ยแล้ว 3.9 ครั้ง (ขณะที่ตัวเลขทั่วโลก คนจะวางแผนเที่ยวกันแค่ปีละ 2.7 ทริปเท่านั้น) ขณะที่ตัวเลขนักเดินทางนั้น พบว่ามีการเติบโตขึ้น 12% ในช่วง 5 ปีหลัง โดยในปี 2018 มีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากถึง 10 ล้านคนเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อมีการเดินทางก็ต้องมีการใช้จ่าย ทว่า ความท้าทายของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็คือยังไม่มีใครล้วงเอาข้อมูลออกมาได้มากนักว่าคนไทยนำเงินออกไปใช้จ่ายกับเรื่องอะไรบ้าง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ 52% ยังคงเน้นพกเงินสดติดตัวเป็นหลัก (อ้างอิงจากรายงาน EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์) ผ่านการแลกเงินจากร้านรับแลกเงินที่มักมีเรทต่ำกว่าแลกกับธนาคาร

จากข้อมูลที่ยังไม่มีใครล่วงรู้กันมากนักนี้มีการประเมินกันว่ามีมูลค่ามากถึง 3.2 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าแปลงออกมาเป็น Data ได้ก็เชื่อว่าจะมีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้กัน นั่นเลยนำไปสู่การจับมือกันระหว่างไทยพาณิชย์กับ Visa เปิดบัตรเติมเงินน้องใหม่ PLANET SCB ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มนักช้อปออนไลน์ และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในต่างประเทศ ที่สำคัญคือบัตรนี้ รองรับการใช้จ่ายในประเทศไทยได้เช่นกัน (สามารถถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้เท่าที่มีเงินในบัตรโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม)

(ซ้ายไปขวา) คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย และคุณอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์

โดยบัตรเติมเงิน PLANET SCB นั้นหนึ่งบัญชีสามารถเปิดได้แค่ 1 ใบ และควบคุมได้ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ส่วนตัวบัตรมาพร้อมชิป Contactless สามารถแตะที่เครื่องชำระเงินก็จ่ายค่าสินค้าหรือบริการได้เลย

อย่างไรก็ดี บัตร PLANET SCB เป็นบัตรเติมเงินที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารของเราเหมือนบัตรเดบิท ดังนั้น การจะใช้งานได้ก็คือต้องเติมเงินเข้าไปก่อน (คล้าย ๆ กับเติมเงินในบัตรแรบบิทเมื่อต้องการขึ้นรถไฟฟ้า BTS) ส่วนรูปแบบการใช้จ่ายก็เหมือนบัตรแรบบิทอีกเช่นกัน นั่นคือเป็นบัตรแบบ Contactless ที่เพียงแค่แตะ หรือเสียบเข้าไปที่จุดชำระเงินก็สามารถทำธุรกรรมได้แล้ว

จาก Cashless Society สู่ชำระเงินแบบ Contactless

ในจุดนี้ คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย เผยว่า รูปแบบการชำระเงินแบบ Contactless กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมยกตัวอย่างการเดินทางในสิงคโปร์ ที่สามารถใช้บัตร Contactless แตะแล้วก็ผ่านเข้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้เลย

หรือกรณีการเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะในเนเธอร์แลนด์ที่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องมีคนดูแลห้องน้ำแล้ว เพราะใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาติดตั้ง ผู้ที่มีบัตรแบบ contactless ก็สามารถนำบัตรมาแตะเพื่อจ่ายค่าเข้าห้องน้ำได้เลยเช่นกัน (สามารถใช้สมาร์ทโฟน – นาฬิกาอัจฉริยะ ที่รองรับการชำระเงินแบบ Contactless ได้) ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังพัฒนาไปในทิศทางนั้นกันถ้วนหน้า

โดยคุณสุริพงษ์เผยว่า สำหรับประเทศไทยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของการชำระเงินแบบ Contactless ภายในปี 2020 นี้ ซึ่งอาจรวมถึงการชำระเงินผ่านบริการขนส่งสาธารณะเช่นรถไฟใต้ดิน MRT ด้วย

เติมเงินในบัตรทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy

ยังไม่มีแผนเสนอลูกค้าใช้แทนบัตรเดบิท

เมื่อถามถึงสิทธิประโยชน์ของบัตร PLANET SCB ที่ในหลาย ๆ ด้านก็ไม่เป็นรองใคร แถมดีไม่ดีอาจจะแซงหน้าบัตรเดบิทของธนาคารด้วย เนื่องจากไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยได้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ฯลฯ ในจุดนี้ เมื่อถามว่า บัตรเติมเงินดังกล่าวจะเข้ามาแทนที่บัตรเดบิทที่ธนาคารมักจะเสนอให้ลูกค้าที่มาเปิดบัญชีแทนบัตรเดบิทหรือไม่

คุณอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า บัตรเติมเงินจะยังไม่เข้ามาแทนที่บัตรเดบิทแต่อย่างใด แต่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดบัตรเติมเงิน แทนการเปิดใช้บัตรเดบิทได้เช่นกัน

ดีกว่าโอนเงินข้ามประเทศ?

นอกจากเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปใช้จ่ายต่างแดนแล้ว อีกสองกลุ่มเป้าหมายของ SCB ก็คือ กลุ่มนักช้อปออนไลน์ที่ชอบซื้อของจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ (เติบโต 19% และมียอดการใช้จ่ายในปี 2018 มากถึง 28,000 ล้านบาท) และกลุ่มที่ต้องมีการโอนเงินไปให้จากประเทศไทย เช่น พ่อแม่โอนเงินให้ลูกที่เรียนในต่างแดน (มียอดการใช้จ่าย 94,000 ล้านบาท เติบโต 6%) ที่ SCB มองว่าเป็นกลุ่มที่น่าศึกษาพฤติกรรมเช่นกัน

จากฐานข้อมูลที่มี ทำให้ไทยพาณิชย์เลือกที่จะให้บัตร PLANET SCB มาพร้อมอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ (เทียบเท่าร้านแลกเงิน) ใน 13 สกุล ได้แก่ USD, EUR, GBP, JPY, AUD, CHF, SGD, HKD, NZD, CAD, CNY, KRW, TWD เพราะเป็นประเทศที่คนไทยให้ความสนใจเดินทางไปมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยสามารถแลกเงินได้ตามต้องการ ขั้นต่ำ 100 บาท และสามารถมียอดเงินสูงสุดในบัตรต่อวันได้ไม่เกิน 500,000 บาท (ทำผ่านทางแอปพลิเคชัน SCB Easy ทั้งหมด)

ส่วนถ้าต้องเดินทางไปประเทศที่ใช้สกุลเงินนอกเหนือจากนี้ก็สามารถแลกได้เช่นกัน แต่อาจไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ

งานนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการทลายข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายในต่างแดนที่สร้างอิมแพคให้กับวงการมากทีเดียว ซึ่งหากเทียบกับคู่แข่งที่มีการเปิดตัวไปก่อนหน้าอาจพบว่า คู่แข่งมีข้อจำกัดมากกว่าหลายประการ เช่น ใช้ได้แค่ประเทศที่กำหนดไว้เท่านั้น แถมไม่สามารถใช้ในประเทศบ้านเกิดอย่าง “ประเทศไทย” ได้เสียอีก ซึ่งข้อติดขัดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก หากสถาบันการเงินต้องการจะมี BigData ที่นำไปต่อยอดได้อย่างแท้จริง

 


แชร์ :

You may also like