ทุกองค์กรต้องการการเติบโต แต่จะโตอย่างไรในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตอบคำถามนั้นให้ได้ต่างหากคือจุดเปลี่ยนสำคัญ วันนี้เรามีอีกหนึ่งประสบการณ์จากผู้ที่นำพาองค์กรก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่าน ที่หมายถึงการเปลี่ยนทุกอย่าง ทั้งการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวิธีการแข่งขัน เปลี่ยนวิธีการคัดเลือกคน และสุดท้ายคือการเปลี่ยนมุมมอง และชุดข้อมูลที่จะใช้ในการวิเคราะห์ อย่างคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่มาบอกเล่าประสบการณ์บนเวที TMA Thailand Management Day 2019 ว่าองค์กรอาจต้องเริ่มต้นจาก
1. เข้าใจตัวเอง
โดยในมุมของคุณรวิศ มองว่า สิ่งที่แบรนด์วันนี้กำลังเจอก็คือ Social Threat เราจึงพบว่าแบรนด์จำนวนมากต้องอัปเกรดตัวเอง จากแค่ขายสินค้า เป็นขาย Purpose เพราะการซื้อของผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่ได้ซื้อเพราะว่าแบรนด์ทำของดีหรือเปล่าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าผู้บริโภคซื้อเพราะเชื่อว่าแบรนด์สามารถ Deliver Purpose เดียวกับที่ตัวผู้บริโภคคนนั้นเชื่อได้หรือไม่ และการมี “สาวก” ก็อาจเป็นหนึ่งในหลักฐานว่าแบรนด์สามารถอัปเกรดตัวเองในข้อนี้ได้สำเร็จ
2. เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในการทำงาน และการจ้างงาน
ในอนาคต การจ้างงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน องค์กรส่วนใหญ่จะจ้างพนักงานจากทักษะที่พนักงานมีในเวลานั้น ซึ่งมีผลให้การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรจะเปลี่ยนไปด้วย คุณรวิศได้ยกตัวอย่างออฟฟิศของศรีจันทร์ที่พนักงานหนึ่งคนจะต้องมีงาน 2 งานขึ้นไปเป็นอย่างน้อย หรือพนักงานในฝ่ายที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็จะกำหนดให้มีวันหนึ่งที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพื่อที่จะได้ออกไปสัมผัสความเป็นไปต่าง ๆ รวมถึงการเข้าใจความเป็นไปของโลกยุคใหม่ที่อาจมีหลายอย่างต่างจากที่เราคิด
“จากการให้พนักงานไม่ต้องเข้าออฟฟิศดังกล่าว ทำให้เราค้นพบว่า สำหรับคนบางกลุ่มถ้าเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตเขา ไม่ได้ถูกถ่ายรูปไว้ อาจจะถือได้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ หรือเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้ที่เข้าร้านกาแฟ เขาไม่ได้คุยว่ากาแฟร้านนี้อร่อยไหมแล้วนะ แต่เขาคุยกันว่า แสงร้านนี้สวยไหม นี่คือโลกของคน Gen ใหม่”
“Workforce กำลังเปลี่ยนไป ผู้นำจำเป็นต้องปรับองค์กรให้เป็นผู้ส่งเสริม หรืออำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับพนักงาน หรืออีกนัยหนึ่งทำตัวเป็นโค้ชชิ่งให้กับพนักงาน และสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการคิดนอกกรอบให้มากที่สุด”
3. เข้าใจทักษะสำหรับอนาคต
หนึ่งในสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญคือการเข้ามาของ AI ที่จะมาสร้างความท้าทายให้กับตลาดแรงงาน โดยปีที่ควรเตรียมตัวให้ดีอาจเป็นปี 2025 เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปีดังกล่าวจะเป็นจุดตัดครั้งแรกที่โลกนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานในสัดส่วนที่มากกว่ามนุษย์ 58 : 42 และอาจทำให้วันทำงานของมนุษย์ลดลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์
ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องเข้าใจโมเดลการสร้างคน และบริหารคน ผ่านทักษะที่จำเป็น 3 ด้านเพื่อรับมือกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต อันประกอบด้วย
Hard Skill เป็นทักษะด้านความรู้และเทคนิค เพื่อเพิ่มความสามารถด้านอาชีพ หรือความชำนาญ ซึ่งอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ตามความต้องการของตลาด ดังนั้นองค์กรจะต้องหมั่นกระตุ้นให้พนักงานเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
Soft Skill เป็นการพัฒนาทักษะความสามารถด้านสังคม เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารโน้มน้าวใจคน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม การรู้จักแก้ปัญหา รวมถึงวิธีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ (Critical Thinking) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กร และเป็นทักษะที่ AI ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
Meta Skill เป็นการสร้างทัศนคติให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ สนุกกับการแก้ปัญหา และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย รวมถึงพัฒนาเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คุณรวิศ ให้ความเห็นว่า เมื่อเทียบกันทั้ง 3 ทักษะแล้ว Meta Skill มีความสำคัญกว่า Hard Skill และ Soft Skill เนื่องจาก Hard Skill มีอายุในการใช้งานได้เพียง 3 – 5 ปี ในขณะที่ Soft Skill นั้น วันนี้พบแล้วว่า AI เริ่มทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์บางประเภทได้ ฉะนั้น Meta Skill จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การฝึกให้คนในองค์กรรักการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
4. เข้าใจทักษะในการสื่อสาร
ทุกการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้นั้น ผู้นำองค์กรจะต้องสื่อสารถึงเป้าหมายให้พนักงานเข้าใจ และมองเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะพาองค์กรไปในทิศทางไหน เหมือนกับการกำหนดทิศบนแผนที่จะต้องชัด แล้วค่อยไปหาวิธีการเดินทางว่าจะไปทางเรือ ทางรถ หรือเครื่องบินเพื่อไปถึงจุดหมายนั้น
คำถามต่อมาสำหรับนักการตลาดและนักสร้างแบรนด์เกี่ยวกับวิธีรับมือในยุคที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดแรงงาน คำตอบก็คือ การพัฒนาทักษะในส่วนที่ AI ทำไม่ได้ นั่นคือ “การสื่อสาร” ซึ่งประกอบไปด้วยจินตนาการ และการเล่าเรื่อง
“การเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์นอกจากจะสามารถดึงดูดให้คนสนใจแบรนด์ รักแบรนด์แล้วยังพร้อมที่จะเป็นสาวกแบรนด์นั้นๆ ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องจำเป็นต้องมีเนื้อหา (Content) ที่เข้าใจง่าย และมีความเข้าใจในบริบท (Context) ของเรื่องที่จะสื่อสาร” คุณรวิศ กล่าว
5. เข้าใจความสามารถ และความ “ไม่สามารถ” ของ Data
ในจุดนี้ คุณรวิศเผยว่า องค์กรจำนวนมากกำลังตัดสินใจโดยพึ่งพิง Data ที่มีกันมากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจนั้นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงหาก Data ที่มีในมือนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้า Data ที่มีเกิดจากการรวบรวมมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน
นอกจากนั้น หากหันมามองลูกค้าของแบรนด์ ซึ่งก็คือมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วยกันเองว่าตัดสินใจในชีวิตประจำวันโดยใช้ Data หรือเปล่า คำตอบอาจไม่ใช่ โดยคุณรวิศชี้ว่า การตัดสินใจของมนุษย์นั้นอิงอยู่กับอารมณ์เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ การประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวของแบรนด์ก็อาจเกิดจากปัจจัยข้อหนึ่งที่ว่า แบรนด์ ๆ นั้น สามารถแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ อย่างไร
โดยบนเวทีคุณรวิศเลือกนำเสนอแบรนด์ Nike กับการเลือกพรีเซนเตอร์อย่าง Colin Kaepernick ที่ก่อเหตุอื้อฉาวอย่างการประท้วงนโยบายของรัฐบาลด้วยการนั่ง “คุกเข่า” เมื่อเพลงชาติที่เปิดก่อนการแข่งขัน NFL ในแต่ละแมตช์ดังขึ้น ส่งผลให้มีคนประท้วงแบรนด์ Nike ด้วยการเผารองเท้าบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับส่งผลดีต่อแบรนด์ และมีผลทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นกว่า 30% และนั่นอาจเป็นพื้นที่เดียวที่ Data “ไม่สามารถ” เข้าครอบครองได้ หรือก็คือ พื้นที่แห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง