HomeBrand Move !!ทำความรู้จัก “สามย่าน โค-ออป” Co-learning Space กลางสามย่านมิตรทาวน์ ที่ให้มากกว่าแค่พื้นที่ แต่สร้าง Knowledge Hub เพื่อสังคม

ทำความรู้จัก “สามย่าน โค-ออป” Co-learning Space กลางสามย่านมิตรทาวน์ ที่ให้มากกว่าแค่พื้นที่ แต่สร้าง Knowledge Hub เพื่อสังคม

แชร์ :

หนึ่งในไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงคนทำงาน ที่วิถีชีวิตและรูปแบบการทำงานมักจะไปนั่งทำงาน อ่านหนังสือ ประชุม หรือทำงานกลุ่มต่างๆ ตาม Third Place มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือตาม Co-working Space ต่างๆ ด้วยเหตุผลหลากหลายไม่ว่าจะเป็นต้องการพื้นที่ในการสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ​ ที่เอื้อต่อการเกิด Creativity ให้กับงาน หรือบางครั้งจะรู้สึกว่ามีสมาธิที่มากกว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่พื้นที่ลักษณะเช่นนี้ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบันยังคงมี​ Pain Point ที่กลายเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงของหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการเปิด-ปิดบริการ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในบางแห่ง หรือบางแห่งที่อาจเปิดให้เข้าใช้ได้ฟรี แต่อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือบรรยากาศ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์สำหรับการทำงานหรืออ่านหนังสืออย่างมีสมาธิมากนัก รวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยต่างๆ ในการเดินทางไปใช้บริการตามสถานที่เหล่านี้

“สามย่าน โค-ออป” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ Pain Point เหล่านี้ ภายใต้ความตั้งใจและวิสัยทัศน์ที่ตรงกันระหว่าง สามย่านมิตรทาวน์ และ เคแบงก์ ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับและพัฒนาสังคมโดยรอบ จึงได้สร้างสรรค์พื้นที่กว่า 1,400 ตารางเมตร บริเวณชั้น 2 และ 3 ในโซนรีเทล 24 ชั่วโมง ของสามย่านมิตรทาวน์  ​มาพัฒนาเป็นพื้นที่ Co-learning Space หรือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์​ Inspiring, Sharing, Learning Space เพื่อสะท้อนถึง การให้ที่มากกว่าแค่เพียง “พื้นที่” ​แต่ยังเป็นสถานที่ในการสร้างแรงบันดาลใจ และแสดงถึงการแบ่งปัน ที่ไม่เพียงแค่แบ่งปันพื้นที่สำหรับทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว แต่ทุกคนที่มายังได้ความรู้และแรงบันดาลใจดีๆ กลับไปด้วยเสมอ ที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการในสามย่าน โค-ออป ได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

Co-learning Space โมเดลใหม่แห่งการแบ่งปัน

คุณ​ปิยะวัลย์ สร้อยน้อย ผู้อำนวยการ สามย่าน โค-ออป บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ผู้บริหารโครงการสามย่าน โค-ออป เปิดเผยว่า สามย่าน โค-ออป ไม่ใช่ Co-working Space แบบที่หลายคนคุ้นเคยมาก่อนหน้า เพราะด้วยโมเดลการพัฒนาที่แตกต่าง คือ ไม่ได้มองเป็นรูปแบบของการสร้างอีกหนึ่งธุรกิจเพื่อหารายได้ให้แก่บริษัท แต่ที่นี่คือ  Co-learning Space ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้ามาใช้บริการได้ฟรี เป็นแห่งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ 

“สามย่าน โค-ออป Co-learning Space เป็นการผสมผสานจุดเด่นของ Third Place แต่ละประเภทที่คนทำงาน ฟรีแลนซ์ หรือนักเรียน นักศึกษา นิยมเข้าไปใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซแบบเดิมๆ ซึ่งแต่ละประเภทของพื้นที่เหล่านี้ก็จะมีทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดที่ต่างกันไป แต่สามย่าน โค-ออป เลือกที่จะหยิบข้อดีของแต่ละโมเดล และแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ จนกลายเป็นรูปแบบของ Public Space ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และยังสอดคล้องไปกับแนวคิดในการตอบแทนคืนให้กับสังคมของโครงการสามย่านมิตรทาวน์อีกด้วย”

สำหรับความแตกต่างและจุดเด่นของสามย่าน โค-ออป สอดคล้องมาจากคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาโครงการสามย่าน มิตรทาวน์  โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ พลาซ่า ที่พัฒนาขึ้นโดยชูจุดเด่น 2 เรื่อง คือ Knowledge และ Food ภายใต้แนวคิด “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้”​

ทำให้สิ่งที่จะต้องสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดในพื้นที่ของสามย่าน โค-ออป ซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าแห่งนี้ คือ ภาพของความ Smart  และ Friendly  นำมาสู่โมเดลในการพัฒนาเป็น Co-learning Space ที่ให้บริการฟรี ตลอด​ 24 ชั่วโมง ที่ยังไม่เคยมีใครพัฒนามาก่อน โดยจุดเด่นและความแตกต่างของพื้นที่แห่งนี้ ที่สามารถพูดได้ว่าเป็นการก้าวข้าม Barrier ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการ Public Space เคยพบมาก่อนหน้านี้  ประกอบด้วย

1. เป็นพื้นที่เปิดให้บริการฟรี แบบ 24 ชั่วโมง เพราะที่ผ่านมา ถ้าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำงาน หรืออ่านหนังสือ จะมีจุดเด่นต่างกัน เช่น บางที่ให้บริการฟรี แต่จำกัดเวลาการให้บริการ ​เดินทางไม่สะดวก หรือบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงานหรืออ่านหนังสือ ขณะที่บางพื้นที่ มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าบริการที่สูง หรือมีไว้ให้บริการสำหรับแค่กลุ่มลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่สามย่าน โค-ออป ​เปิดให้ใช้บริการฟรี โดยสามารถรองรับได้กว่า 500 ที่นั่ง และมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อรองรับความต้องการหรือรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป โดยวางกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษาราว 60% และคนทำงาน สตาร์ทอัพ และฟรีแลนซ์ทั่วไป ประมาณ 40%

2.​ การดีไซน์พื้นที่อย่างมีเอกลักษณ์ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยใช้พื้นที่กว่า 30% ของโซนรีเทล 24 ชั่วโมง หรือราว 1,400 ตารางเมตร จาก 5,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 2 และ 3 มาใช้วิธีดีไซน์แบบ Double Volume Space เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่ 3 ชั้น อยู่ภายใน ​และแบ่งโซนนิ่งพื้นที่ภายใน ตามรูปแบบการใช้งานในแต่ละลักษณะอย่างเหมาะสม จากการไปสำรวจความต้องการของผู้ใช้งานมาโดยตรง เช่น Open Reading Zone สำหรับมานั่งทำงาน​ หรืออ่านหนังสือ Private Room ที่จะแบ่งเป็น 8 ห้อง ที่แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง สำหรับการนัดประชุม หรือนำเสนองานต่างๆ  Sky Reading Zone  สำหรับผู้ที่มาคนเดียวและอยากนั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานคนเดียว Focus Zone (โซนงดใช้เสียง) เหมาะสำหรับการไปอ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบ หรือคนที่ต้องการสมาธิที่ดีในการทำงาน เป็นต้น

3. การสร้าง Community และองค์ความรู้ใหม่ๆ สามย่าน โค-ออป ที่ไม่ได้ต้องการเป็นเพียง Space Provider แต่ต้องการสร้าง Learning Engagement เพื่อให้พื้นที่นี้กลายเป็น Knowledge Hub อย่างแท้จริง ผ่านการเติมคอนเทนต์ หรือกิจกรรมต่างๆ เข้ามาในพื้นที่จึงมีความสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรทางด้านคอนเทนต์และการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ บริษัท ลูกคิด จำกัด (LUKKID Co.,Ltd) และ สถาบันแฮกเกอร์เฮาส์ (Hacker House Institute) โดยเนื้อหาจะเน้นทั้งการทำเวิร์คช็อป, จัดอบรมหรือเทรนนิ่ง งาน Talk & Guidance เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากตำราเรียน เช่น เรื่องของ Design Thinking การเขียน Coding หรือการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ เป็นต้น

4. ความมั่นใจในเรื่องระบบ Security ด้วยโลเกชั่นที่เดินทางมาถึงด้วยรถไฟฟ้า MRT สามย่าน และอยู่ด้านหน้าของศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ ทำให้เข้าถึงได้สะดวกและมีความปลอดภัยสูง รวมทั้งมีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยทั้ง 24 ชั่วโมง ทั้งที่อยู่ภายในสามย่าน โค-ออป เอง รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของทางศูนย์ฯ เอง และยังมีการ​ติดตั้ง CCTV ไว้ภายในพื้นที่ รวมทั้งยังใช้ระบบ Online ในการลงทะเบียนเข้ามาใช้บริการ ทำให้ทราบว่า​​ผู้ที่เข้ามาใช้บริการอยู่ภายในเป็นใครบ้างแม้ว่าจะเป็น Public Space ก็ตาม เพื่อป้องกันการแฝงตัวเข้ามาของผู้ไม่ประสงค์ดีทั้งหลาย ซึ่งนับเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของผู้ปกครองที่เป็นห่วงบุตรหลานในการไปใช้บริการพื้นที่สาธารณะเหล่านี้

5. ความสะดวกสบายที่มากกว่า ทั้งการมี Direct Link ที่เชื่อมมาจาก MRT สามย่าน เข้ามาถึงศูนย์การค้าได้เลย รวมทั้งการที่อยู่ในศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งร้านอาหาร​และเครื่องดื่ม ธนาคาร หรือบริการส่งพัสดุต่างๆ ได้ตลอดเวลา ต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือพื้นที่สาธารณะแห่งอื่น รวมทั้งการพัฒนา SAMYAN CO-OP Mobile Application ที่สามารถใช้ลงทะเบียนจองการเข้ามาใช้บริการได้ล่วงหน้า รวมทั้งการเช็คจำนวนที่นั่งที่ยังมีเหลืออยู่ หรือการเช็คโปรแกรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น และสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีความสนใจได้ตลอดเวลา

KBank ร่วมแจม ตั้ง The Office Space

ด้วยโมเดลในการบริหารสามย่าน โค-ออป ที่อยู่ในรูปแบบของการให้บริการฟรี การมีพันธมิตรร่วมอุดมการณ์จึงมีความสำคัญ ซึ่งนอกจากพันธมิตรในเรื่องของการเติมคอนเทนต์และกิจกรรมในพื้นที่แล้ว อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้สามย่าน​ โค-ออป แข็งแรงได้มากขึ้น คือ ธนาคารกสิกรไทย หรือ เคแบงก์ (KBank) ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการให้บริการพื้นที่ พร้อมตั้ง KBank The Office Space โดยใช้พื้นที่เกือบ 10% ใน Co-learning Space แห่งนี้ เป็นพื้นที่ในการสร้าง Employee Engagement สำหรับบริการพนักงานของเคแบงก์ให้มี Public Space เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการทำงานของพนักงานได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

คุณฐิติพร สิริศรีสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่าย Innovative Business Management Department ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การทำ CSR ของ KBank ​อาจจะให้น้ำหนักไปที่ลูกค้าเป็นหลัก แต่อีกหนึ่งภาคส่วนที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญไปไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การดูแลพนักงาน ดังนั้น ความร่วมมือกับสามย่าน โค-ออป ในครั้งนี้ จึงได้ทั้งการเข้ามาสนับสนุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และยังเป็นการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานของธนาคาร ​ด้วยการเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพนักงานทุกคน​ สำหรับการประชุม นัดคุยงาน หรือ VDO Conference ต่างๆ โดยสามารถเข้ามาใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกัน

เห็นได้ว่า สามย่าน โค-ออป เป็นมากกว่าแค่ Public Space เหมือนที่คุ้นเคยกันมาก่อนหน้านี้ แต่พยายามเติมความใหม่ ความแตกต่าง และเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันกำลังมองหา ตามแนวทางในการพัฒนาสามย่านมิตรทาวน์ที่พยายามสร้างความแตกต่างให้กับทุกๆ พื้นที่เช่นเดียวกับการมี Co-learning Space เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับสามย่าน มิตรทาวน์ที่มีโซนพลาซ่า 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยสร้าง Differentiation ที่แข็งแกร่งในธุรกิจรีเทล 24 ชั่วโมง ขณะที่การเป็น Space อยู่ในศูนย์การค้าที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงก็ทำให้สามย่านโค-ออป มีความแตกต่างจาก Public Space ทั่วไปได้เช่นเดียวกัน

สำหรับสามย่าน โค-ออป เตรียมเปิดให้บริการพร้อมกับการเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสสามย่าน มิตรทาวน์ในวันที่ 20 กันยายนนี้แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งชุมชน สังคม และสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยประเมินตัวเลขผู้เข้ามาใช้บริการไว้ที่ราว 2,500 คนต่อวัน หรือปีละ 9 แสนคนต่อปี

ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Samyan-CO-OP-109079973767623/

 


แชร์ :

You may also like