ชื่อเสียงของ “ร้านไอศกรีมชื่อดังแห่งเตาปูน” โด่งดังในประเทศไทยมากว่า 50 ปี หลังเปิดให้บริการเมื่อปี 2513 ด้วยรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของไอศกรีมสไตล์ไทย ที่ผลิตขึ้นจากสูตรลับเฉพาะของคนในครอบครัว ทำให้ทิพย์รสอยู่ในใจคนเตาปูนเสมอมา กระทั่งถึงคราวที่ธุรกิจเปลี่ยนผ่านมาสู่มือของ “ทายาทรุ่นที่ 3 และหุ้นส่วนคนสำคัญอีก 6 คน” ทิพย์รส ถูกพลิกโฉมขึ้นมาใหม่ พร้อมกับนำเสนอเมนูไอศกรีม “Fine Dining” ที่ไม่ต้องจ่ายแพง ก็สามารถสัมผัสกับเมนูระดับภัตตาคารได้
เปิดตำนาน “ทิพย์รส” ไอศกรีมที่จัดจ้านในย่านเตาปูน
ย้อนกลับไปยัง 49 ปีก่อน “เตาปูน” ถือเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่เนืองแน่นไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีน ท่ามกลางร้านอาหารอร่อยจำนวนมาก ได้กำเนิด “ร้านทิพย์รส” ร้านไอศกรีมแรกๆ ในยุคนั้น ด้วยเอกลักษณ์ของไอศกรีมเนื้อเนียน ที่มีรสชาติเข้มข้น ไม่นานชื่อเสียงของทิพย์รสก็กระจายสู่วงกว้าง มีลูกค้ามาต่อคิวรอเข้าร้านจำนวนมาก จนทำให้ร้านขนาดห้องแถว 1 คูหา ไม่สามารถรองรับลูกค้าได้อีกต่อไป
กระแสความนิยมร้านทิพย์รส ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เป็นร้านไอศกรีมที่ขายดีมาตลอด พิสูจน์จากการปรับปรุงขยายพื้นที่ร้านมาอย่างต่อเนื่อง จากขนาด 1 คูหา มาเป็น 2 คูหา พร้อมทั้งสร้างโรงงานผลิตไอศกรีมในซอยเดียวกัน ก่อนจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 3 คูหา
ที่ผ่านมาความนิยมของลูกค้าที่มีต่อร้านทิพย์รสไม่เคยลดน้อยลงเลย เมื่อถึงช่วงเวลาที่ทายาทรุ่น 2 ตัดสินใจวางมือ เปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อธุรกิจ โดย “คุณลูกปลา-เสาวลักษณ์ โสภณธนวัฒน์” ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านทิพย์รส มองว่า หากอาศัยชื่อเสียงของร้านที่สั่งสมมา และดำเนินธุรกิจแบบเดิมก็สามารถทำได้ แต่ “ทิพย์รส” ต้องเติบโตไปได้ไกลกว่านั้น จึงชักชวนเพื่อนสนิทในวัยเด็ก 6 คน เข้ามาลงทุนร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดยินดีที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เนื่องจากคุ้นเคย และเป็นแฟนตัวยงของร้านทิพย์รสอยู่แล้ว
จากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นการร่วมทุนของคนนอกตระกูล
จากธุรกิจในครอบครัว เปลี่ยนถ่ายมาสู่ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ทั้ง 7 คน แบ่งหน้าที่ในการบริหารงาน ตามความถนัด สำหรับคุณลูกปลา ในฐานะทายาท จำเป็นต้องแบกรับความกดดัน และความกังวลว่าจะสามารถรักษามาตรฐานของสินค้าและชื่อเสียงของร้านที่สั่งสมมาตลอดไว้ได้หรือไม่
“เมื่อคนรุ่นก่อนทำไว้ได้อย่างดี แน่นอนว่ากดดันต้องตกมาที่เรา ช่วงแรกอากู๋จะถามเสมอว่า เรามีแผนจะทำร้านอย่างไร จะพาธุรกิจไปในทางไหน โดยที่เรายังไม่รู้สูตรการทำไอศกรีมเลย แต่เราและหุ้นส่วน อาศัยระยะเวลาในการพิสูจน์ตัวเอง จนกระทั่งอากู๋วางใจ ยอมถ่ายทอดสูตรลับให้กับคนนอกครอบครัวเป็นครั้งแรก” คุณลูกปลากล่าว
เมื่อถามถึงความกังวลในการทำธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่เป็นคนนอกตระกูลแต่ยังเป็นกลุ่มเพื่อนสนิท คุณลูกปลา ตอบว่า คนส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ควรทำธุรกิจกับเพื่อนเพราะอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต แต่เราเลือกที่จะเปิดใจทำธุรกิจร่วมกัน โดยมองว่า ทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกัน อยากเห็นร้านเติบโตและประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาและความคัดแย้งในอนาคต เราจึงสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการนำเรื่องธุรกิจมารวมกับเรื่องส่วนตัว
ยกระดับเมนูไอศกรีมไทยในตำนาน
หลังใช้เวลานานกว่า 2 ปี กว่าจะผ่านบททดสอบจากคนรุ่นก่อน จนได้รับ “คัมภีร์สูตรลับไอศกรีม” ประจำตระกูลมาครอบครอง ถึงเวลาที่ “ร้านทิพย์รส” ยุคใหม่ จะอวดโฉมสู่สาธารณะชน เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนบรรยากาศร้านให้ดูทันสมัยขึ้น แต่แฝงไปด้วยกลิ่นอายอดีต เพื่อสร้าง Customer Experience ผ่านข้าวของเครื่องใช้โบราณ ไม่ว่าจะเป็น ตู้ตักไอศกรีมแบบดั้งเดิม นาฬิกาแขวน ภาพถ่ายร้านในช่วงเริ่มต้น ถูกนำมาจัดวางและตกแต่งรอบร้าน เพื่อให้ “ลูกค้าเก่า” หวนนึกถึงครั้งที่เคยได้มาทานไอศกรีมที่ร้าน
ด้วยความตั้งใจที่จะยึดถือสิ่งที่ดีไว้คงเดิม โดยเฉพาะ “รสชาติไอศกรีมแบบไทยแท้” ซึ่งเป็นจุดขายของร้าน ทำให้มีฐานลูกค้าที่เป็น Brand Loyalty จำนวนมาก
“สิ่งที่เราไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ ตัวตนของทิพย์รส จะเห็นว่าโลโก้ยังคงเดิม วิธีการทำไอศกรีมยังคงสูตรเฉพาะแบบดั้งเดิม รวมถึงเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดิม เพื่อให้ได้รสชาติไอศกรีมที่อร่อยเหมือนกันทุกครั้งที่ทาน” คุณลูกปลากล่าว
เมื่อได้รับโอกาสในการพัฒนาสูตรไอศกรีม ทีมผู้บริหารจึงนำ “5 เมนูระดับตำนาน พ.ศ.2513” เมนูดั้งเดิมสุดคลาสสิคของร้าน มายกระดับให้เข้ายุคสมัย และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “ทิพย์รสไข่แข็ง” ที่ใช้ไข่แข็งทั้งใบวางลงบนไอศกรีม ราดด้วยซุปข้าวโพด หรือเมนูที่สร้างชื่อเสียงให้กับร้าน “กะทิทรงเครื่อง” ไอศกรีมหัวกะทิแท้ เสริฟมาพร้อมเครื่องเคียงแบบไทย ลูกชิด เม็ดบัว มะยมเชื่อม มะม่วงเชื่อม ถัวลิสงคั่ว และเยลลี่โบราณ นอกจากนี้ยังมีเมนู “ข้าวเหนียวทุเรียน” “แฟนซี” และ “สายรุ้ง” ที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกเพศทุกวัย
รู้จักทิพย์รสยุคใหม่ให้มากขึ้นกับ 10 เมนูสุดอะเมซิ่ง
นอกจากยกเครื่องเมนูดั้งเดิมเรียกลูกค้าเก่าแล้ว ยังดึงดูด “ลูกค้าใหม่” ผ่านเมนูไอศกรีมใหม่อีก 10 เมนู ที่นำเสนอในรูปแบบ Fine Dining
คุณลูกปลา อธิบายถึงคอนเซปท์ “ทิพย์รส อะเมซิ่งเมนู” ไอเดียนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ปรึกษากับเชฟ โดยทางร้านต้องการนำเสนอเมนูไอศกรีมที่แปลกใหม่ มีความเป็นไทย-จีน แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่เสียรสชาติแบบดั้งเดิม จึงเกิดเป็นไอเดียของการนำอาหารไทยและขนมไทยมาผสมผสานกันในรูปแบบ Fine Dining แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการนำเมนูหาทานยาก หรือเมนูที่คนทั่วโลกจดจำ มารังสรรค์ให้เกิดเป็นไอศกรีมที่ชวนลิ้มลอง
ไม่ว่าจะเป็นเมนู “รสแห่งสยาม” ที่มีพริกหอมทอดกรอบ และเยลลี่ตะไคร้ใบเตย เมนู “วิจิตรไข่ฝอย หมี่กรอบส้มซ่า” เมนู “หอมหมื่นไมล์” ที่เสริฟมาพร้อมขนมปังปิ้งเนยสด ราดด้วยซอสใบเตยเมเปิ้ล
“จตุมงคลจารึก” ที่รวมขนมไทยมงคล 4 ชนิด ไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) บัวลอย (ข้าวตอก) อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียวดำ) “ถังทอง” เมนูที่ชุบชีวิตให้ขนมถังแตกอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีเมนู “ปลากริมไข่เต่า กะทิหอม” “แตงโมปลาแห้ง สังขยาเคี่ยว” “น้ำเต้าหู้โบราณ” “บานาน่า ไทยสไตล์” และ “เหินห่าวซือ” แปลว่าอร่อยมาก เมนูที่ผสานความเป็นจีนเข้าไป
“หลังจากเปิดตัวใหม่ทั้ง 10 เมนู เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า กระแสตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี วัดจากยอดขายที่เติบโตขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึงทราฟฟิกที่เข้ามามากขึ้น จากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่” คุณลูกปลากล่าว
“Ice Cream Restaurant” ของไทย ต้องไม่ใช่แค่ถ่ายรูป
คนรุ่นใหม่อาจมองภาพ “ร้านทิพย์รส” เป็นคาเฟ่ที่มีไอศกรีมน่ารับประทาน น่ามาเยือนเพื่อถ่ายรูปลงอินสตาแกรมสักครั้ง แต่ผู้บริหารไม่คิดเช่นนั้น เพราะเป้าหมายสำคัญของการปรับโฉมร้านครั้งนี้ ต้องการพาร้านไอศกรีมที่มีอายุเกือบ 50 ปี ไปสู่ Brand Image “ภัตตาคารไอศกรีม” ที่มีไอศกรีมคุณภาพพร้อมเสริฟ และลูกค้าสามารถใช้ช่วงเวลานี้ ลิ้มลองไอศกรีมอย่างเต็มที่
“คุณก้อง ตรีทศพล วิจิตรกุล” หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านทิพย์รส อธิบายเพิ่มเติมว่า เราอาจจะเห็น Ice Cream Café ในไทยมีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีใครทำให้เป็น Ice Cream Restaurant หรือร้านที่ขายเฉพาะไอศกรีมเพียงอย่างเดียว จากผลตอบรับที่ดีในการเปิดตัว 10 เมนูใหม่ขึ้น ถือเป็นมาตรฐานที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมทิพย์รส ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์ไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยหลังจากนี้จะทยอยออก Seasonal Menu ต่อเนื่อง เพื่อให้แบรนด์มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
“เราจะไม่เติบโตไปในทางคาเฟ่ เพราะมันเกี่ยวข้องกับ Perception ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ เราอยากให้ลูกค้าที่เข้ามาที่ร้านได้สัมผัสกับช่วงเวลาของการทานไอศกรีมจริงๆ ไม่ใช่การมาแฮงค์เอาท์ หรือไปถ่ายรูปร้านนี้กันเถอะ เราจะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าจริงๆ คือ ผู้สูงวัย ซึ่งคุ้นเคยกับแบรนด์มาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่คราวนี้กลับมาพร้อมกลุ่มเพื่อนวัยเกษียณ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เจอเราบนออนไลน์แล้ว พาคนในครอบครัวมาทาน”
สำหรับแผนการขยายธุรกิจในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ผู้บริหารมองว่า อนาคตอาจมีการเปิดสาขาใหม่ ในทำเลที่เป็นพื้นที่ชุมชน เช่น รามอินทรา ราชพฤกษ์ สุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนมีกำลังซื้อสูง และมีหมู่บ้านใหญ่กระจุกตัวอยู่
“เราเพิ่งปรับร้าน ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงของการขยายฐานลูกค้า โดยเพิ่มการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำคอนเทนต์บนเพจเฟซบุ๊ก รวมถึงการทำโปรโมชั่นออนไลน์ ขณะเดียวกันตอกย้ำ Story Brand ร้านทิพย์รส ที่ยังคงเป็นร้านไอศกรีมในตำนานของเตาปูน เพื่อดึงให้ลูกค้าเก่าๆกลับมา รวมถึงสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะหากจะเปิดสาขาจริงๆ จะต้องแบกความเป็นตำนานของย่านนี้ไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องสร้างฐานลูกค้าให้แน่นพอจนมั่นใจว่า เมื่อเปิดสาขาใหม่แล้ว ลูกค้าจะตามไปทาน”
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ทั้ง 7 คน จะพาแบรนด์ “ทิพย์รส” เติบโตไปได้ไกลแค่ไหน ทั้งการออกไอศกรีมรสชาติใหม่ กระทั่งการขยับไปสู่การขยายสาขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น พวกเขาจะรักษา “ตำนานไอศกรีมไทย” นี้ให้คงอยู่อีกหลายช่วงอายุคนได้อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป