ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะประกาศขยายสาขาในรูปแบบ Tesco Lotus Express เพื่อจับไลฟ์สไตล์เมือง ที่ต้องการร้านค้าใกล้ตัว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่) และถ้าหากว่าดูสถิติการขยายตัวของแบรนด์ Tesco แล้วจะพบว่าเป็นการเติบโตในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวโน้มในประเทศแม่กลับไม่ดีเท่าที่ควร ผนวกกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ Tesco ต้องปรับโครงสร้างบริษัท นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
จากตัวเลขของ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC-British Retail Consortium) ระบุว่า ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกลดจำนวนพนักงานลงไปแล้วกว่า 72,000 ตำแหน่ง
ทางเทสโก้ ได้มีแถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ โดยระบุว่า “เป็นไปตามแผนการลดขั้นตอนและพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ซื้อสินค้าจากร้านขนาดใหญ่(Metro Stores)”
“เดิมสาขาฟอร์แมตแบบ Metro Stores ดีไซน์มาเพื่อการซื้อสินค้าตุนไว้บริโภคทั้งสัปดาห์ แต่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภค 70% ซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเพื่อการบริโภคแบบวันต่อวันเท่านั้น”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เทสโก้ ประกาศแล้วว่าจะปรับลดพนักงานลงราวๆ 9,000 ตำแหน่ง และการเลิกจ้างพนักงาน 4,500 รายในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วางเอาไว้ เทสโก้ มีสาขาในสหราชอาณาจักรทั้งหมด 3,400 แห่ง มีพนักงาน 300,000 คน พนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างมาจากแผนกอบเบเกอรี่, เนื้อ และพนักงานหน้าเคาน์เตอร์
นอกเหนือจากเรื่องควาเมปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแล้ว “เทสโก้” เผชิญหน้ากับคู่แข่งอย่าง Aldi discount supermarket จำหน่ายสินค้าในราคาถูก และ Lidl ที่จำหน่ายอาหารสดคุณภาพสูง ซึ่งทั้งสองแบรนด์นี้กำลังขยายตัวในยุโรป นั่นทำให้เทสโก้ต้องลดจำนวนพนักงานลง รวมทั้งลดเวลาเปิดขายด้วย
Jason Tarry ซีอีโอของ เทสโก้ กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญหน้ากับสภาพการแข่งขัน ความกดดันเรื่องต้นทุน เราอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงวิธีการที่เราดำเนินงานในสาขาต่างๆ โดยคำนึงถึงลูกค้าที่กำลังช็อปปิ้งอยู่และเราจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
“เราจะดำเนินการโดยคิดถึงลูกค้าและวิธีทำงานที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนกับธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตเป็นหลัก”