[Advertorial]
ในการทำธุรกิจ “พนักงาน” คือ หนึ่งฟันเฝืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบรรลุไปถึงเป้าหมายได้ ดังนั้นการได้ “พนักงาน” ที่มีความสามารถมาร่วมงานในองค์กร ยิ่งทำให้ได้แต้มต่อในการแข่งขันธุรกิจอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าพนักงานรุ่นใหม่(เด็กใหม่)ที่มีความสามารถหรือฉายแววเก่ง ต่างก็ถูกบรรดาองค์กรต่างๆ จับจองไว้เช่นเดียวกัน แล้วจะทำอย่างไรถึงได้น้องเหล่านั้นมาร่วมงาน
โปรแกรมผู้จัดการฝึกหัด หรือ Management Trainee Programme จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานกับองค์กร เพราะน้องๆที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมจะได้ประสบการณ์ในการทำงานที่เข้มข้นฝึกการมองภาพใหญ่ของธุรกิจ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนบริษัท ฝึกการขัดเกลาทักษะและวิสัยทัศน์ให้เฉียบคมรอบด้าน
Tesco Lotus ค้าปลีกชั้นนำที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรและให้โอกาสงานที่หลากหลาย จึงได้จัด Management Trainee Programme มาติดต่อกันเป็นปีที่ 8… เพื่อพัฒนาและดึงศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ให้ทำงานได้อย่างมืออาชีพ ด้วยเส้นทางการทำงานที่บริษัทออกแบบมาอย่างเข้มข้น จึงทำให้ผู้ที่ผ่านโปรแกรมสามารถ เรียนรู้เชิงลึกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 9 สายงานให้ได้เลือกตามความสนใจ
มาเข้าใจเบื้องหลังโปรกแกรม จากอดีต Management Trainee หลากหลายสายงาน 5 คนที่ผ่านการฝึกฝนวิทยายุทธ์ใน โปรแกรม Management Trainee ของ Tesco Lotus ว่าการตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางการทำงานสายนี้ ทำให้พวกเขาพบเจอกับประสบการณ์แบบไหน ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และคนที่จะเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะผู้นำองค์กรแบบนี้ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร
อะไรที่ทำให้พวกคุณเลือกเข้าร่วมใน Management Trainee Programme?
Byrd: สำหรับผม ผมมีเป้าหมายในใจว่าอยากจะเป็น Director ครับ เรามองว่าถ้าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องเรียนรู้งานทั้งหมด เลยคิดว่าโครงการนี้มันตอบโจทย์มากสำหรับคนที่อยากเป็นผู้บริหารตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมันเป็นโอกาสที่เอื้อให้ได้เรียนรู้และทำงานที่ได้เข้าใจภาพรวมที่จำเป็นทั้งหมดภายในระยะเวลาสั้น และได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารตลอด 2 ปี ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเทียบกับประสบการณ์ในแนวทางอื่นๆ กว่าจะเรียนรู้จนครบทุกด้านต้องใช้เวลาหลายปีมาก
Ti: คือโปรแกรมน่าสนใจตรงที่เราได้ทำงานจริง ทุกอย่างที่ทำเป็นผลงานของเรา ได้นำเสนอความคิดให้กับ Top Management โดยตรงเลย ก็จะได้เห็นมุมมองของผู้บริหารเลยว่าเขามีวิธีคิดยังไง
Yui: หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราคิดว่าข้อดีของโครงการนี้คือเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบงานส่วนไหน เก่งอะไร หรือเหมาะกับตำแหน่งไหนเหมือนกันนะ อย่างเราเองตอนที่สมัครก็อยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเองว่า เอ๊ะ! เราจะเอาดีทางไหน? โครงการนี้ก็เลยตอบโจทย์เราเพราะเขาเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้งานได้หลายส่วน โดยผ่านการหมุนเวียนงาน (job rotation) ซึ่งทำให้รู้เลยว่าเราชอบงานอะไร อยากเติบโตไปทางไหน
หลังจากได้รับคัดเลือกเข้าโครงการแล้ว คุณได้ประสบการณ์อะไรบ้างที่ไม่คิดว่าจะพบในการทำงานแบบอื่น?
Ti: จริงๆ สิ่งที่ได้เจอมันต่างกับที่คิดไว้ตอนแรกเหมือนกันครับ ผมคิดว่าจะ Management Trainee จะเป็นงานที่ให้เราประกบรุ่นพี่ แต่เปล่าเลย ของจริงคือเรามีความเป็น project ownership สูงมาก ต้องหาแนวทางการทำงานของตัวเอง ลุยลงมือทำเองทุกอย่าง แต่ก็มีรุ่นพี่คอยช่วยให้คำแนะนำอยู่เรื่อยๆ นะ ส่วนใหญ่เนื้องานจะหนักไปทาง project management ซึ่งสิ่งที่ได้จากตรงนี้คือได้พัฒนาตัวเองเร็วมาก learning curve สูงมาก
Byrd: โอโห! ได้รับโอกาสที่เกินคาดไปเยอะเลยครับ เราเข้ามาทำงานได้แค่ 10 วันแรกก็ได้ไปทำงานที่ เทสโก้ มาเลเซีย แถมยังได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจคต่างๆ ได้ทำงานที่ไม่ได้คาดเดามาก่อนในชีวิตเยอะมาก จะว่าไป การได้โอกาสทำโปรเจคใหญ่แบบนี้มันเหมือนเราได้ไปอยู่ระหว่างคำว่า ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’ เหมือนกันนะ เพราะเราจะเลือกทำงานแบบเดิมเหมือนที่เขาทำกันมาก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้มันดีขึ้น แปลกขึ้น และมีประโยชน์ต่อลูกค้าหรือเพื่อนพนักงานเราจริงๆ ก็เลยเลือกที่จะเสนอไอเดียใหม่ และเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ในแผนกที่ได้เห็นงานของเรา และเปิดโอกาสให้ทำในโปรเจคที่ท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก
บทเรียนสำคัญที่คุณได้จากการฝึกงานเป็นผู้จัดการฝึกหัดคืออะไร?
Phing: น่าจะเป็นเรื่อง “ความกล้า” เพราะโครงการนี้มันเป็นงานที่ทำให้เราได้ก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือตอนเข้าไปเรารู้สึกว่าเราใหม่มาก แต่พี่ๆ ที่บริษัทก็ให้เราดูโปรเจคสำคัญที่สร้าง impact ให้กับธุรกิจเลย เป็นการได้รับบทบาทในงานที่ท้าทายมาก หลายโปรเจคเป็นงานที่เราไม่เคยมีความรู้โดยตรงมาก่อน บางงานมันค่อนข้างเป็นเรื่องของ top management ด้วยซ้ำ ตอนแรกเราก็รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม ก็ต้องอาศัยการถามและขอคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน โชคดีที่ได้เจอ Senior Manager ที่คอยซัพพอร์ท ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตลอด และได้เจอกับเพื่อนร่วมงานเก่งๆ ทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
Fame: ได้เรียนรู้เรื่องการตัดสินใจเยอะมาก เพราะเวลาที่บีบคั้นในการทำโปรเจคทำให้การตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องกล้าเสี่ยงกับตัวเอง ตอนนั้นทำโปรเจคเรื่องการพัฒนาขั้นตอนการทำงาน (process improvement) ซึ่งเราเริ่มจากศูนย์ แต่ทำไปซักพักก็รู้สึกว่าอาจจะไม่ทันกำหนดส่งแล้ว เลยลงทุนเรียนเขียน VBA (ภาษาโค้ดที่ใช้เขียนคำสั่งในโปรแกรม Excel) เอง หาข้อมูลจากคลาสออนไลน์ข้างนอกอย่าง Udemy กับ Lynda ตอนนั้นเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่แล้วปล่อยสิ่งเก่าไป เพราะคิดว่าประสิทธิภาพของงานน่าจะสูงกว่าการทำงานแบบเดิม
Byrd: คือตอนที่เข้าไปใหม่ๆ ทุกอย่างมันใหม่มากสำหรับเรา สิ่งที่ได้เรียนรู้ตอนนั้นคือ การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นลำดับขั้นตอน และต้องมี backup plan ไว้ด้วยเพื่อให้โปรเจคมันได้ผลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การได้เป็นผู้จัดการฝึกหัดยังทำให้เราได้ซึมซับทั้งแง่คิดและวิธีจัดการความท้าทายที่หลากหลาย เหมือนเป็นแต้มต่อให้เรามีความพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นผู้บริหารจริงๆ
สำหรับคนที่อยากเติบโตเป็นผู้บริหารโดยสมัครเข้าร่วมโปรแกรมผู้จัดการฝึกหัด คุณคิดว่าโปรแกรมแบบนี้เหมาะกับคนที่มีคุณสมบัติแบบไหน
1. Self-driven มุ่งมั่น พร้อมผลักดันตัวเองไปสู่เป้าหมาย
Byrd: เรามองว่าถ้าเป็นคนที่มีความตั้งใจและมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน โครงการนี้จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ไม่อยากให้เข้ามาด้วยการคิดแค่ว่าเราเป็นคนเก่ง เพราะความเก่งต้องพิสูจน์ ต้องลงมือทำให้คนอื่นเห็นด้วย คือถ้าเปรียบ Management Trainee เหมือนการเล่นกระดานโต้คลื่น มันจะไม่ใช่แผ่นกระดานที่มีคนมาพายให้ หรือช่วยพยุงว่าเราจะไปทางไหน เขามีแต่กระดานให้เราใช้เป็นเครื่องมือ และมีโอกาสมากมายที่บริษัทมอบให้ แต่สุดท้ายมันอยู่ที่ตัวเราเองแล้วว่าเราจะผลักดันตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน
2. Adaptability ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ได้รวดเร็ว
Phing: ถ้าเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว ปรับตัวได้เร็ว ก็จะมีข้อได้เปรียบค่อนข้างมาก เพราะการเป็น Management Trainee จะทำให้เราได้เห็นภาพรวมของงานหรือธุรกิจเร็วอยู่แล้ว
Yui: เราต้องรีบเรียนรู้ เพราะการหมุนเวียนงานของแต่ละฝ่ายก็ไม่ได้มีเวลามาก ถ้าเราเปิดใจ มองโลกในแง่ดี และมองว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เราจะไปได้ไกลมากกว่าที่เราคาด แต่กลับกันถ้าเราไปมองว่าเราเพิ่งเข้ามา ทำไมถึงให้มาทำอะไรจริงจังขนาดนี้ เราก็จะพลาดโอกาสสำคัญ
3. Collaboration รู้จักสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่หลากหลาย
Phing: ต้องเป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นหรือเข้ากับคนได้ง่าย เพราะต้องร่วมมือหรือประสานงานกับแผนกอื่นๆ เราต้องปรับตัวในการเจอคนใหม่ๆ ตลอดเวลา ได้ฝึกการสังเกตุและทำความเข้าใจว่าสไตล์ที่หลากหลายของคนที่มาร่วมทำโปรเจคเป็นยังไง
Fame: ยิ่งถ้ารู้จักวิธีนำเสนอคุณค่าของสิ่งที่เราทำให้คนอื่นสนใจได้ด้วยก็จะยิ่งดี เพราะหลายครั้งที่เราต้องทำโปรเจคที่ต้องทำงานกับแผนกอื่น ต้องหาข้อมูลจากการพูดคุย เพื่อต่อยอดงานให้สำเร็จ
4. Decision making กล้าตัดสินใจแม้ในสถานการณ์ที่ข้อมูลไม่พร้อม
Fame: โอกาสตรงนี้ทำให้เราได้เจอกับโปรเจคที่ค่อนข้างกดดันสูงและมีเดดไลน์ที่ค่อนข้างกระชั้น ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรพร้อมไปทุกอย่าง เราต้องกล้าเสี่ยงบนพื้นฐานความถูกต้องต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน และยอมรับ feedback พร้อมปรับปรุง บวกกับความเชื่อมั่นว่าเรามีเราทำได้ เราก็ลุยไปกับสิ่งนั้น และจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างภาคภูมิใจ
Byrd: ในการทำงานแน่นอนว่าต้องมีปัญหาหรือความท้าทายต่างๆ มาให้เราแก้และตัดสินใจตลอด เราก็ต้องรู้จักเลือกมอง คิดว่ามันเป็นโอกาสเรียนรู้ ถ้าเราไม่รีบคว้ามันไว้ ก็จะทำให้เราพลาดโอกาสดีๆ นั้นไป
สำหรับโปรแกรม Management Trainee เปิดรับปีละเพียง 1 ครั้ง และสำหรับในปี 2019 นี้เปิดรับสมัครตามรายละเอียดด้านล่างนี้
สำหรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังมองหาความท้าทายในการทำงานและโอกาสในการเติบโตเป็นผู้นำองค์กรอย่างก้าวกระโดด และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้:
1.จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาใดก็ได้ ประสบการณ์ทำงาน 0 – 3 ปี
2.พร้อมเปิดรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ
3.มีความเป็นผู้นำที่สามารถริเริ่มสร้างสรรค์และปรับตัวตามสถานการณ์ได้ดี
4.มีทัศนคติเชิงบวก พร้อมความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
สามารถสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโปรแกรมได้ที่ https://tescolotushub.com/MT/index.php ภายในวันที่ 9 กันยายน 2562 เท่านั้น