ไม่ว่าจะเคยใช้หรือไม่เคยใช้บริการรับส่งข้อความจาก YouTube Messages แต่อีกไม่นาน บริการส่งข้อความนี้ก็กำลังจะปิดตัวลงแล้วในวันที่ 18 กันยายน 2019
โดยสาเหตุที่จะปิดตัวนั้น YouTube ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก แต่เหตุผลที่พอจะเป็นไปได้ตามการรายงานของ TechCrunch ก็คือฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะทุกคนต่างมีแอปฯ ส่งข้อความเจ้าประจำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook Messenger, WhatApp, WeChat หรือ iMessage
ส่วนใครที่สงสัยว่าบริการส่งข้อความบน YouTube เกิดขึ้นมาได้อย่างไร คงต้องย้อนไปเมื่อปี 2017 ที่ YouTube พบว่าผู้ใช้หลายคนนิยมแชร์วิดีโอจาก YouTube ไปให้เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวชมด้วย และนั่นนำไปสู่การเปิดตัวฟีเจอร์รับส่งข้อความในชื่อ “YouTube Messages” เมื่อกลางปี 2017 เพื่อให้ผู้ที่แชร์วิดีโอ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิดีโอนั้น ๆ ได้ด้วย
แฟนประจำไม่พอใจสิ่งนี้
สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจฟีเจอร์นี้เท่าไรอาจรู้สึกเฉย ๆ แต่สำหรับแฟนประจำของ YouTube Messages พบว่ามีผู้ออกมาแสดงความไม่พอใจแล้วมากกว่า 700 คอมเม้นท์ และที่น่าสนใจคือ ผู้ที่มาคอมเม้นท์นั้น โดยมากน่าจะเป็นเด็ก ๆ สังเกตได้จากเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงโกรธ YouTube นักหนา
โดยคอมเม้นท์ที่หยิบมาบางส่วนระบุว่า YouTube Messages เป็นบริการแชทแห่งเดียวที่พวกเขาสามารถพูดคุย ส่งข้อความหาเพื่อน ๆ ได้ “เนื่องจากที่บ้านยังไม่ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือให้” บ้างก็ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้ใช้โซเชียลมีเดีย และถูกจำกัดการเข้าถึงแอปพลิเคชันแชทผ่านฟีเจอร์ในตระกูล Parental Control
แต่ดูเหมือนว่า การออกมาคอมเม้นท์เช่นนี้น่าจะทำให้ YouTube ไม่สบายใจหนักยิ่งกว่า และอาจจะรู้สึกดีที่ตัดสินใจรีบปิดฟีเจอร์ดังกล่าวแทนที่จะเปิดไว้เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ เข้ามาเล่นกัน เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา YouTube เคยตกเป็นจำเลยว่าทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงต่อการถูกผู้ไม่ประสงค์ดีล่อลวงได้ผ่านพื้นที่ให้คอมเม้นท์ใต้คลิปวิดีโอมาแล้ว และรัฐบาลในหลายประเทศก็เข้มงวดกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาให้ปลอดภัยสำหรับเด็กได้
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ชอบแชร์คลิปวิดีโอ YouTube บอกว่ายังสามารถแชร์ต่อได้ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่น ๆ ตามเดิม ส่วน Google – YouTube นั้นก็ถือว่ามีการบ้านก้อนใหม่ให้กลับไปขบคิด ว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทมีแอปพลิเคชันแชทที่เติบโตในระดับเดียวกับคู่แข่งเสียที เพราะไม่ว่าจะเปิดตัวแอปพลิเคชันแชทใดออกมา สุดท้ายก็มักจะลงท้ายด้วยการปิดตัวและเดินออกจากตลาดเงียบ ๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็น Allo, Hangouts ฯลฯ