ปี 2560 กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (Red bull) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ ประกาศลงทุนครั้งใหญ่สุดในรอบ 60 ปีกว่า 1 หมื่นล้านบาท ครอบคลุม 3 ส่วนหลัก คือ เพิ่มขีดความสามารถของฝ่ายบริหารและพนักงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การขยายและพัฒนากำลังการผลิตและพอร์ทโฟลิโอของสินค้า และการเพิ่มฐานที่มั่นในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ายอดขายเติบโต 3 เท่า หรือราว 1 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี
ก้าวข้ามยุค Disrupt ต้อง 3 Changes
ล่าสุดปี 2562 ในยุคที่ทุกอย่างบนโลกกำลังถูก Disrupt สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทคือทรัพยากร “มนุษย์” ที่ต้องมีปรับทั้งฝีมือการทำงาน รวมถึงปรับตัวให้ทันกับการแข่งขัน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนธุรกิจ 5 ปี TCP จึงทุ่มงบลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานครั้งใหญ่ ผ่านแนวคิด 3C (3 Changes) คือ เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ และเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) อย่างแท้จริง
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เผยว่า การปรับโฉมองค์กรสู่การทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ได้ประกาศไว้เพื่อมุ่งหวังพัฒนาบุคลากรทุกระดับชั้นให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมุ่งสร้างยอดขายของกลุ่มให้โตขึ้น 3 เท่าเป็น 100,000 ล้านบาท ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ของคนไทยอย่างแท้จริง
ด้าน ประกรรษ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรบุคคลและธุรการ กลุ่มธุรกิจ TCP อธิบายถึงการออกแบบการทำงานใหม่ ภายใต้แนวคิด 3C ว่า แนวคิดดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ก้าวข้ามเฟรมเวิร์คเดิมสู่นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับกระบวนการทำงาน พัฒนาศักยภาพของพนักงานให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดึงดูดคนเก่ง และคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระดับโลก
สำหรับ แนวคิด 3 C (3 Changes) ได้แก่
C 1 – เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ สู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างนวัตกรรม ด้วยการลงทุนราว 740 ล้านบาท สร้างสำนักงานแห่งใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยสำนักงานใหญ่แห่งใหม่จะอยู่ติดกับสำนักงานปัจจุบัน บนเนื้อที่ราว 6 ไร่ มีความสูง 4 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปีพ.ศ. 2564 ด้วยการออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิด Open Office มีพื้นที่ส่วนกลาง 30% เพื่อใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งใช้จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย เชื่อมต่อการทำงานกับอุปกรณ์ของพนักงานทั้งในสำนักงานใหญ่ สาขาในต่างจังหวัด และสาขาต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็วขึ้น คาดว่าจะรองรับพนักงานใหม่ได้อีกราว 250 คน
C 2 – เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ สร้างองค์กรยืดหยุ่นแต่ทรงพลัง โดยใช้นวัตกรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เข้ามาช่วยให้รูปแบบการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถมี Virtual Office ที่เป็นเสมือนสำนักงานเคลื่อนที่ได้ เพียงมีโน้ตบุ๊ค หรือโทรศัพท์มือถือ หรือประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conferencing หรือ Teleconferencing) ส่งเอกสารแลกเปลี่ยนกัน พูดคุย โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่สำนักงาน นอกจากนี้ ยังนำแนวคิดการทำงาน agile รวมทั้ง scrum มาใช้ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบ cross functional และ cross generation เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมแบบไร้รอยต่อ
และ C 3 – เปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ โดยลงทุนราว 560 ล้านบาท นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำงาน อาทิ การทำ virtual office หรือการนำ AI Chatbot มาใช้ในการสื่อสารกับพนักงาน และกับลูกค้าของบริษัท รวมถึงการจัดตั้งทีมงาน ‘Incubator’ ที่สนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้ ทดลอง ทดสอบไอเดียใหม่ๆ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดนใจลูกค้า
นอกจากนี้ TCP ยังทุ่มทุนเพิ่มอีก 80 ล้านบาท ในการฝึกอบรม ช่วยเหลือ และเพิ่มพูนความรู้ให้กับทีมงาน พร้อมประกาศไม่มีการปลดพนักงาน แต่เน้นสร้างความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ โดยการปรับโฉมองค์กรเพื่อให้การทำงานอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2565