เอ่ยชื่อ ฉงชิ่ง (Chongqing) เชื่อว่าหลายคนรู้จักดีในฐานะเมืองอุตสาหกรรมและท่าเรือชั้นนำในลุ่มน้ำแยงซีตอนบนของจีน แต่ไม่เพียงแค่นั้น เพราะฉงชิ่งยังเป็นที่รู้จักในเรื่องของอาหารแปลก ๆ และตึกระฟ้าที่ได้รับการออกแบบให้ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางตัวเมืองจนได้รับการขนานนามในหมู่เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวว่าเป็นเมืองแห่งความไม่ลงตัวที่งดงาม (graceful disorder)
แต่นอกจากการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ฉงชิ่งยังเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งของประเทศจีนที่คนส่งอาหารไม่ได้พึ่งแอปบนสมาร์ทโฟนของพวกเขาในการนำทาง แต่อาศัยความรู้ทางภูมิประเทศของตนเอง
Li Lu ชายวัย 25 ปีที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมืองของฉงชิ่ง และปัจจุบันทำงานเป็นคนส่งอาหารของแอป Meituan Dianping ยอมรับว่า เขาค่อนข้างกังวลในตอนเริ่มต้นทำงาน เพราะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงเพื่อพาตัวเองไปยังจุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง
“ถ้าคุณดูจากแผนที่มันจะดูเหมือนว่าใกล้มาก แต่จริงๆ แล้วมันอยู่บนชั้นที่ 22 และคุณต้องเดินเท้าเพื่อไปที่นั่น”
หรือคุณหลี่ (Li) ผู้เริ่มทำงานในวงการนี้เมื่อครึ่งปีที่แล้ว ก็ยอมรับเช่นกันว่า แผนที่เป็นได้แค่ข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น คนส่งอาหารจำเป็นต้องทำความคุ้นเคยกับพื้นที่ด้วยตัวเอง
ไม่เฉพาะพนักงานของ Meituan Dianping แต่คู่แข่งอย่าง Ele.me ก็เจออุปสรรคเช่นกัน โดย Xin Xiaoyong วัย 21 ปีที่ทำงานให้กับ Ele.me เล่าว่า เขาจำการส่งอาหารครั้งแรกของเขาได้ชัดเจน
“ผมใช้เวลาสองชั่วโมงเพื่อค้นหาสถานที่ที่ถูกต้อง และถึงแม้จะไปตามแผนที่ แต่ความที่ไม่คุ้นเคยกับตรอกซอกซอยเหล่านั้น ผมต้องถามคน 4 – 5 คนกว่าจะไปถึงที่ที่ผมต้องการ”
ฉงชิ่ง เมืองที่แผนที่ช่วยอะไรไม่ได้
จากบทสัมภาษณ์ของ The Post ที่สัมภาษณ์พนักงานส่งอาหารนับสิบคนของสองแอปพลิเคชันดังกล่าวพบว่า พนักงานส่งอาหารไม่ค่อยเชื่อเส้นทางที่แนะนำโดยแอป ตรงกันข้าม พวกเขาจะทำความคุ้นเคยกับพื้นที่ให้บริการของตัวเองแทน เพื่อให้สามารถลดเวลาในการจัดส่งได้เพราะยิ่งการส่งมอบเสร็จเร็วเท่าไร พวกเขาก็จะทำรอบได้มากขึ้นเท่านั้น
“ฉงชิ่งเป็นเมือง 3 มิติที่ซับซ้อนยิ่งกว่าเมืองใด ๆ ตัวอย่างเช่น อาคารอาคารหนึ่งอาจมีที่อยู่สองแห่ง เพราะคนสามารถเดินเข้าไปในตัวอาคารได้จากชั้นหนึ่ง ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็สามารถเดินเข้าไปในอาคารจากถนนอื่นแล้วเข้าทางชั้นเจ็ดของอาคารเดียวกันได้” Lin Hui ศาสตราจารย์ด้านภูมิสารสนเทศจาก Chinese University of Hong Kong กล่าว
ความไร้ระเบียบของเมืองส่วนหนึ่งมาจากภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชื่อเสียงของเมืองฉงชิ่งคือการเป็นเมืองแนวตั้ง และทำให้อาชีพอย่างคนแบกเกี้ยวมีรายได้งดงาม แต่ปัจจุบัน ฉงชิ่งซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสี่ด้านได้รับการขนานนามจากชาวเน็ตว่าเป็นเมือง “เมืองแฟนตาซี 8D” เพราะมีความแฟนตาซีแปลก ๆ มหัศจรรย์เหมือนเป็นเมืองในเกม ยกตัวอย่างเช่นในเขตหยูจง พบว่ามีอาคารสูง 24 ชั้นที่ไม่มีลิฟท์แม้แต่ตัวเดียว แต่สิ่งที่น่าสับสนกว่าคือ ตึกนั้นมีทางออกสามทางจากอาคาร และสามารถเดินออกไปสู่ถนนสามสายที่แยกจากกันได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี สำหรับการทำงานกับแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารที่ใช้ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งการจับคู่คำสั่งซื้อ และการแนะนำเส้นทาง กลับพบว่าไม่สามารถทำงานได้ดีนักในพื้นที่ที่ซับซ้อนเช่นนี้
“ในฉงชิ่ง ข้อผิดพลาดของตำแหน่งที่ตั้งค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งไม่สามารถใช้ดาวเทียมเพื่อการระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำเท่าเมืองอื่น ๆ เพราะสัญญาณได้รับผลกระทบจากภูเขาที่อยู่ล้อมรอบ” Chen Wu อาจารย์ประจำภาควิชาสำรวจที่ดินและภูมิสารสนเทศจาก Hong Kong Polytechnic University กล่าว ซึ่งถือเป็นบททดสอบที่น่าสนใจทีเดียวกับการจัดสรรเวลาในการจัดส่งอาหาร เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ของจีนอย่างกรุงปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ที่สามารถใช้ Location-based algorithms ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในมุมของผู้ให้บริการ เวลาที่สูญเปล่าอาจส่งผลให้เกิดข้อร้องเรียนจากลูกค้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาได้
ธุรกิจ Take-away เมื่อคู่แข่งคือเวลาและแผนที่
Wang Zhulong อายุ 24 ปีเป็นพนักงานจัดส่งที่ Ele.me เผยว่าเขาสามารถทำเงินได้ประมาณ 7,000 หยวน (35,000 บาท) ถึง 8,000 หยวน(40,000 บาท) ต่อเดือนโดยเฉลี่ย ส่วนผู้มีรายได้สูงสุดอยู่ที่ 10,000 หยวน (50,000 บาท) ซึ่งเป็นค่าจ้างที่มากกว่าการทำงานให้โรงงานประกอบโทรศัพท์มือถือซะอีก
“เรากำลังแข่งกับเวลาทุกวัน” Han Songdan อายุ 23 ปีพนักงานส่งของ Meituan กล่าว “บางครั้งคุณจะเห็นว่าเดดไลน์จะมาถึงในอีกแค่สามนาที คุณต้องวิ่ง แต่ผมชินกับมันแล้ว”
ซึ่งในด้านผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน การปล่อยให้พนักงานส่งของเผชิญกับเส้นตายจนต้องวิ่งเพื่อไปส่งของอาจไม่ใช่เรื่องดี ทางแก้ของทั้งสองแอปจึงมีตั้งแต่การเร่งอัปเดตแผนที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการเชิญผู้ให้บริการจัดส่งที่มีความเชี่ยวชาญมาฝึกอบรมพนักงานใหม่ก็มีเช่นกัน
เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน ก็จะมีตลาดใหม่ที่ใหญ่ถึง 37,000 ล้านเหรียญเกิดขึ้นมา
ทั้งนี้ มูลค่าตลาด Takeaway ของจีนนั้นมีมากกว่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ใช้งาน 355 ล้านคน (อ้างอิงจากตัวเลขเดือนพฤษภาคมของ Daxue Consulting) นั่นหมายความว่าประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรกำลังสั่งอาหารโดยใช้สมาร์ทโฟน
“ผมไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากบริการส่งอาหาร” Wang Yanqing นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฉงชิ่งกล่าว
อย่างไรก็ดี เพราะพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในหุบเขา จึงค่อนข้างทำเป็นสเต็ป ๆ สร้างความลำบากให้กับคนส่งของที่ไม่สามารถขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาได้ พวกเขาจึงมักต้องเดิน หรือวิ่งแทน เพื่อความพึงพอใจอย่างสูงสุดของลูกค้า เพราะคงไม่มีอะไรทำให้ลูกค้าหัวเสียมากไปกว่าที่อาหารร้อนๆ ของพวกเขาเย็นชืดเมื่อมาถึงมือ
อ่อ…หรืออีกอย่างก็คืออาหารมาไม่ถึงเพราะคนส่งแอบกินไปซะก่อน แฮ่