HomeDigitalฟัง Sompo เล่าเรื่องประกันภัยญี่ปุ่น ธุรกิจที่เริ่มต้นจากไฟ และไปจบที่ “Data”

ฟัง Sompo เล่าเรื่องประกันภัยญี่ปุ่น ธุรกิจที่เริ่มต้นจากไฟ และไปจบที่ “Data”

แชร์ :

หากจะกล่าวว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียแปซิฟิกที่เริ่มต้นธุรกิจประกันภัยก็คงไม่ผิดนัก โดยมีหลักฐานว่า ญี่ปุ่นเริ่มต้นธุรกิจประกันภัยของตนเองในสมัยเมจิ (ปี ค.ศ. 1879) หลังจากการเข้ามาของธุรกิจประกันภัยต่างชาติได้ราว 16 ปี (ธุรกิจประกันภัยจากต่างชาติเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1863) โดยในยุคนั้นญี่ปุ่นเริ่มมีการค้าขายกับชาติตะวันตก และมีการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามหัวเมืองใหญ่เพื่อขยายแสนยานุภาพของตัวเองจนเป็นเรื่องปกติ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี การตั้งโรงงานในยุคนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาอัคคีภัย เนื่องจากสมัยเมจิยังเป็นยุคที่บ้านเรือนของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่สร้างจากไม้และฟาง และมักจะสร้างติด ๆ กัน ทำให้มีโอกาสเกิดเพลิงไหม้ได้ง่ายหากไม่ระวังมากพอ

เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย ญี่ปุ่นในยุคนั้นมีการสร้างหอคอยสูง รวมถึงมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “นักผจญเพลิง” คอยเฝ้าระวังบ้านเรือน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงเริ่มมองว่าการทำประกันภัยเป็นสิ่งจำเป็น

แต่จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ พบว่าแม้คนญี่ปุ่นจะให้ความสนใจทำประกันภัย แต่บริษัทต่างชาติในยุคนั้นก็ไม่ได้สนใจจะรับทำประกันให้กับธุรกิจของญี่ปุ่นมากนัก โดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่การดูแลธุรกิจจากยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่นเสียมากกว่า ผลก็คือคนญี่ปุ่นในยุคนั้นต้องส่งบุตรหลานของตนเองเดินทางไปยังประเทศตะวันตก เพื่อศึกษาวิธีการทำธุรกิจประกันภัย และนำมาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเสียเอง และนั่นทำให้ธุรกิจประกันภัยของญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ต่างชาติยากจะแทรกแซงเข้าไปได้จนถึงทุกวันนี้

ตัดภาพกลับมาที่โลกปัจจุบัน ดูเหมือนว่าการขยายตลาดของธุรกิจประกันภัยสัญชาติญี่ปุ่นในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากนักผจญเพลิงอีกแล้ว เพราะมีอีกหลายช่องทางให้แบรนด์สามารถเติบโตได้ในต่างแดน เช่น การจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจญี่ปุ่นด้วยกันเอง รวมถึงการขยายตลาดโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกบางอย่างที่ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ได้ และหนึ่งในแบรนด์ประกันภัยสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Sompo ก็เลือกที่จะบุกตลาดประกันภัยของไทยผ่านข้อมูลอินไซท์ด้าน “การท่องเที่ยว-ผลผลิตทางการเกษตร-การเดินทาง” ด้วยเช่นกัน

โดย Data ตัวแรกอย่างข้อมูลด้านการเดินทางนั้น สิ่งที่ ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sompo Thailand พบก็คือ การที่ญี่ปุ่นเปิดฟรีวีซ่า ทำให้ตัวเลขนักเดินทางจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“เราพบว่านักท่องเที่ยวไทยมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศญี่ปุ่น และมองว่าเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัย สถานที่ต่าง ๆ มีความสะอาดสะอ้าน สะดวก ปลอดภัย แต่การเที่ยวญี่ปุ่นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน หลายคนอาจไม่คุ้นกับสภาพอากาศ หรืออาหารที่แตกต่าง จนทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาได้ และการเข้าโรงพยาบาลของญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการได้โดยง่าย เนื่องจากมีความแตกต่างจากประเทศไทยอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องการนัดหมาย เวลาการให้บริการ รวมถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร”

จากช่องว่างดังกล่าว ผศ.ชญณา มองว่าหากธุรกิจสามารถจัดหาล่ามสำหรับช่วยสื่อสารกับแพทย์ในโรงพยาบาลของญี่ปุ่นแทนได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำประกันการเดินทางมากขึ้น ซึ่งกรณีเหล่านี้ไม่จำกัดแค่การเจ็บป่วย แต่ยังรวมถึงการขึ้นโรงพัก ฯลฯ ที่ต้องการล่ามสำหรับสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

Data ตัวต่อไปที่ Sompo ใช้ในการรุกตลาดเมืองไทยก็คือ Data ด้านภูมิอากาศ และนำมาใช้แล้วกับผลผลิตลำไย หนึ่งในผลไม้ที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ

โดยสิ่งที่ Sompo พบก็คือ การปลูกลำไยของเกษตรกรไทยนั้นเผชิญกับความเสี่ยงหลายช่วง หนึ่งในนั้นคือช่วงเดือน 3 – 4 ที่ลำไยต้องติดผล และเป็นช่วงที่ต้องการน้ำมาก ทว่าเดือน 3 – 4 ของไทยมักเกิดภาวะฝนแล้งได้เช่นกัน และหากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ความท้าทายของบริษัทประกันก็คือเรื่องของการเดินทาง เพราะสวนลำไยส่วนมากนั้นจะปลูกอยู่ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง และไม่ได้ปลูกติด ๆ กัน หากเกิดปัญหาภัยแล้ง ค่าใช้จ่ายของบริษัทในการเดินทางสำรวจพื้นที่ปลูกลำไยที่ได้รับความเสียหายอาจสูงกว่าค่าเบี้ยประกันที่ได้รับก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ข้อมูลสภาพอากาศจากดาวเทียม และข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 20 ปีมาสร้างเป็นสมการได้ว่า หากพื้นที่เหล่านี้ฝนไม่ตกติดต่อกันนานเกินดัชนีแล้งที่กำหนดไว้ ความเสียหายของลำไยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นให้บริษัทอนุมัติการจ่ายค่าชดเชยได้เลย เป็นต้น

Data ตัวสุดท้ายที่ Sompo ทดลองนำมาปรับใช้กับประเทศไทยคือเรื่องของข้อมูลการขับรถ โดยพบว่าสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่ทราบมากนักก็คือพฤติกรรมการขับรถของตนเองว่าปลอดภัยหรือไม่ ความเร็วสม่ำเสมอไหม เหยียบเบรกโดยไม่จำเป็นมากไปหรือเปล่า ประกอบกับคนไทยชอบความสนุก จึงมีการออกแบบระบบเทเลเมติกส์มาติดในรถ พร้อมกับอินเทอร์เฟสเป็นเกม ใครขับได้ดีจะมีรางวัลให้ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยว่า ระบบเทเลเมติกส์นี้จะช่วยให้คนขับรถมีการพัฒนาขึ้นได้บ้างไหม

“เราทดสอบมาแล้วสองปีกว่า โดยใช้กับพนักงานขับรถของเราเอง ซึ่งตอนนี้มีบริษัทผลิตรถใหญ่ติดต่อมา อยากได้ระบบของเราไปติดตั้งเพิ่มเติม คือเขามีเทคโนโลยีเทเลเมติกส์อยู่แล้ว แต่ไม่เคยทำให้มันสนุก ไม่เคยทำเป็นเกม แจกคะแนน แจกรางวัลแบบนี้มาก่อน ซึ่งเราก็มองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจเช่นกัน”

จากจุดเด่นด้านการใช้ Data เหล่านี้ บริษัทคาดว่าจะช่วยในการขยายพอร์ตของ Sompo จากเดิมที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นถึง 70% และลูกค้ารายย่อย 30% ให้กลายเป็น 50 – 50 ได้ภายใน 5 ปี รวมถึงคาดหมายว่าจะสามารถสร้างการเติบโต 2 Digits ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ทั้งหมดนี้จึงอาจสะท้อนว่า คำกล่าวอย่าง Data is the new oil ไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริงอีกต่อไป และหากเราสามารถ Data คอยป้อนเข้ามาในระบบมากเพียงพอ การลุกไหม้ของเชื้อเพลิงตัวใหม่นี้ก็คาดว่าจะรุนแรงทีเดียว

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like