จากผู้บริโภคที่วันหนึ่งนึกตั้งคำถามเล่นๆขึ้นมาว่า “ประเทศไทยจัดการกับปัญหาขยะอย่างไร” จนนำมาสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีชื่อแสนสั้นและจดจำง่ายว่า “เก็บ” (GEPP) ตัวกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีวัสดุรีไซเคิล กับผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล ก่อตั้งโดย “คุณมยุรี อรุณวรานนท์” และ “คุณโดม บุญญานุรักษ์” ด้วยความหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืนให้กับประเทศนี้
“GEPP” แพลตฟอร์มที่ใช้ Data มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขยะ
คุณมยุรี อรุณวรานนท์ ซีอีโอและผู้
หากถามว่าอะไรคือ เหตุผลที่ส่วนใหญ่ไม่แยกขยะก่อนทิ้ง คุณมยุรีตอบว่า คนไทยอยากแยกขยะ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องแยกอย่างไร บางคนไม่สะดวก หรือไม่รู้ว่าจะจัดการกับขยะอย่างถูกวิธีได้อย่างไร ดังนั้นเป้าหมายแรกของ GEPP จึงต้องการให้คนแยกขยะให้ได้ โดยการเข้าไปให้ความรู้ที่ถูกต้องและช่วยอำนวยความสะดวก ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่มีวัสดุรีไซเคิลและอยากขาย กับผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล หรือเรียกกันว่า ซาเล้ง ให้ไปรับซื้อขยะถึงหน้าร้านหรือหน้าบ้าน
“เรามีเป้าหมายในการทำงานแบบ 80:20 คือ เข้าไปเจาะกลุ่มที่ทำให้เกิดผลกระทบมากที่สุดก่อน ครั้งแรกที่ทำ เราเดินเคาะประตูตามร้านอาหารต่างๆ แล้วถามว่าแยกขยะไหมคะ ทุกครั้งที่เราเดินไป เราก็จะเก็บ Data Point ไปด้วย เพื่อให้คนแยกขยะให้เร็วที่สุด ง่ายที่สุด และคุ้มทุนกับคนเก็บมากที่สุด” คุณมยุรีกล่าว
นอกจากการสร้าง Awereness กับผู้บริโภคแล้ว คุณมยุรี ยังแปลโจทย์ “การจัดเก็บและแยกขยะ ที่ต้องทำอย่างยั่งยืน” โดยขยายมาสู่การเข้าไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ใน “ระดับองค์กร” เพื่อให้การจัดการปัญหาขยะสามารถขยายผลโดยเร็วมากที่สุด และให้ทุกภาคส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน “ได้รับประโยชน์ร่วมกัน”
โดย GEPP ขยายโมเดลธุรกิจจากที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้แยกขยะและผู้อยากขายวัสดุรีไซเคิล มาทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดเก็บข้อมูลขยะ” (Data House) ช่วยจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขยะและวัสดุรีไซเคิล (Data Analytics) ให้กับองค์กรที่สนใจจัดการขยะทั้งหมด และกลายเป็นที่มารายได้ของบริษัท
“เราทำ Data วิเคราะห์ข้อมูลขยะทั้งหมดให้กับองค์กร โดยเข้าไปเก็บข้อมูลการคัดแยกขยะ จำนวนขยะที่ลดลง ตลอดจนจัดอบรมให้ความรู้เรื่องขยะ เพื่อปลูกฝัง Mind Set การคัดแยกขยะให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าขยะที่ทิ้งจะสามารถนำไปรีไซเคิลได้จริง ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกและนำไปวิเคราะห์ ทำให้องค์กรทราบจุดชี้วัด ซึ่งคือปริมาณขยะทั้งหมด จุดคุ้มทุนต่อการเก็บขยะแต่ละครั้ง”
ต้องเก็บคืนให้ได้ 100% เป้าหมายของระดับโกลบอลของ “Coca-Cola”
หลังจากก่อตั้งมาได้ราวๆ 1 ปี “Coca-Cola” เป็นองค์กรแรกๆที่สนใจเข้าร่วมกับคัดแยกขยะไปกับ “GEPP”
โดย “Coca-Cola” ประกาศวิสัยทัศน์ทั่วโลก World Without Waste ที่ต้องการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100% ภายในปี 2030
ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องดื่ม ที่จำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ Coca-Cola ตระหนักถึงการส่วนหนึ่งของปัญหาขยะ โดยที่ผ่านมาได้นำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบวงจรตั้งแต่ ผลิต-บริโภค-นำกลับมาใช้ซ้ำ รวมไปถึงการวางแนวทางกำจัดเมื่อบรรจุภัณฑ์เมื่อถูกใช้งานเสร็จแล้ว ไปพร้อมๆกับการทำโครงการ “ขวดแก้วคืนขวด”
คุณนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ใน 1 ปี บริษัทต้องใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมากในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไปสู่มือผู้บริโภค และจากไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทต้องพัฒนานวัตกรรมเครื่องดื่มให้หลากหลาย รวมถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เริ่มจากการใช้ ขวดแก้วแบบคืนขวด เพื่อนำกลับมาทำความสะอาดและบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ปัจจุบันมีการเก็บคืนอยู่แล้วเกือบ 100% แต่ยังมีบรรจุภัณฑ์บางส่วนที่ปนเปื้อนจนไม่สามารถเก็บคืนได้ รวมทั้งยังมีบรรจุภัณฑ์ชนิดที่ไม่เก็บคืนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ขวดพลาสติก, กระป๋องอลูมิเนียม, ขวดแก้วชนิดไม่คืนขวด เป็นต้น
จึงเป็นที่มาของโครงการ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ที่ Coca-Cola ได้ชักชวน “เซ็นทรัลกรุ๊ป” เข้ามาเป็นหนึ่งในการสนับสนุนและจัดทำระบบส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำบรรจุภัณฑ์กลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด
ที่ผ่านมา เซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นองค์กรที่เดินหน้าเรื่อง “Sustainability” โดยให้ความสำคัญกับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนการสร้างโลกสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง ในโครงการ “Central Group Love the Earth” ที่เข้าไปสร้างประโยชน์ทั้งในระดับองค์กร ชุมชน และมหภาค โดยหนึ่งในพันธกิจหลักของโครงการ คือ “Journey to Zero” การลดปริมาณขยะและการลดการสร้างคาร์บอน
คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า เรื่องการแยกขยะ เป็นสิ่งที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลคิดและทำมาตลอดอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา มีการปลูกฝังให้พนักงาน นักศึกษา รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร ถึงความเข้าใจในเรื่องการคัดแยกขยะ แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่แค่การแยกแล้วจบ แต่ต้องต่อได้ว่าแยกแล้วไปไหน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว เริ่มต้นนำร่องแล้วที่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และ เซ็นทรัลพลาซา บางบา เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยคัดแยกและนำขยะจากร้านอาหารในเครือของบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว ที่นำกลับมารีไซเคิลใหม่
ทั้งนี้หลังจากที่แพลตฟอร์ม GEPP ได้เข้าไปเก็บข้อมูลการคัดแยกขยะ และรับซื้อวัสดุรีไซเคิลในจากร้านอาหารและภัตตาคารของกลุ่มเซ็นทรัลในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการเก็บขยะรีไซเคิลไปแล้วกว่า 2.75 ตัน
“เก็บ” แล้วไปไหนต่อ ?
ทั้งนี้วัสดุรีไซเคิลที่มีการจัดเก็บและถูกคัดแยกทั้งหมด จะส่งต่อไปยังพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในการจัดการขยะ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อวัสดุประเภทแก้ว , บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้รับซื้อกระป๋องอลูมิเนียม, บริษัท เวสท์ทีเรียล จำกัด ผู้รับซื้อกระดาษและกล่องเครื่องดื่ม, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกฝาขวด และ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด PET
เนื่องจากโครงการนี้เป็นการขายวัสดุรีไซเคิลให้กับผู้รับรีไซเคิลโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง จึงคาดหมายว่าผู้รับซื้อจะมีกำไรจากการซื้อขายวัสดุรีไซเคิลในโครงการนี้สูงกว่าการซื้อขายทั่วไป โดยทาง Coca-cola มีนโยบายให้ผู้ดำเนินการจัดเก็บต้องปันกำไรส่วนหนึ่งมาใช้สมทบในการขยายโครงการนี้ต่อไปในอนาคต และทางเซ็นทรัลก็มีนโยบายที่จะมอบรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อตอบแทนกลับคืนให้กับทุกภาคส่วนที่ช่วยจัดการและแยกขยะเช่นกัน ระบบการจัดเก็บนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการของคุณค่าร่วม (Shared Value) เท่านั้น แต่จะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมอันเป็นหัวใจของระบบที่ยั่งยืน
หากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จดี มีแผนที่จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายอื่นๆ ผู้จัดเก็บและคัดแยกขยะ บริษัทรับซื้อวัสดุรีไซเคิล รวมไปถึงการขยายไปสู่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ที่มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลตั้งอยู่อีกด้วย
ไม่เพียงแต่เฉพาะภายในศูนย์การค้าเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนยังมองภาพในระยะยาว โดยมีแผนที่จะจัดทำเส้นทาง “Pick up Point” เพื่อขยายจุดรับจัดการขยะไปสู่พื้นที่สำนักงาน หรือตามโรงเรียนต่างๆ ต่อไป