ท่ามกลางสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ข่าวพะยูนน้อยมาเรียมตาย เพราะกินพลาสติก และความกังวลเรื่องผลกระทบจากไมโครพลาสติกที่คุกคามชีวิตสัตว์ทะเล ได้กระตุกให้คนในสังคมไทย หันมาตระหนักถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นผู้สร้างขยะพลาสติกมากเป็น “อันดับ 6″ ของโลก หากเราไม่จัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนยากจะเยียวยา
องค์กรยุคใหม่ต้องรักษ์โลก ให้เหมือนที่ผู้บริโภครัก
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่กระตุกจิตสำนึกคนในสังคม ให้หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและคิดถึงผลกระทบที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตร่วมโลกมากขึ้นเท่านั้น องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งเอง ต้องหันมาทำธุรกิจแบบใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
สำหรับ “อิชิตัน กรุ๊ป” ได้กำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ทุกส่วนของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานใหญ่ โรงงานผลิต “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี” ที่ทุกผลิตภัณฑ์ คำนึงถึงโลกและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ด้วยกระบวนการลด ทดแทน บำบัด แล้วนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ จนได้รับการรับรอง Green Industrial ระดับที่ 4 ให้เป็นโรงงานสีเขียวครบวงจร ที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
แปลงขวดพลาสติก ให้เป็นของแต่งบ้านดีไซน์น่ารัก
ล่าสุด “อิชิตัน กรุ๊ป” มีเป้าหมายต้องการลดขยะจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ และเพิ่มคุณค่าขยะพลาสติกให้เป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ จึงจับมือกับ “Qualy” แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยฝีมือคนไทย และ Qualy ยังเป็นแบรนด์สินค้าดีไซน์เจ้าแรกๆ ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งความพิเศษของผลิตภัณฑ์จาก Qualy คือ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่มองเห็น เพราะถูกออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
เปิดตัวโครงการ “Ichitan Green Factory Zero Waste” นำขวดพลาสติกที่ชำรุดและไม่ผ่านมาตรฐานจากกระบวนการผลิตในโรงงานมากกว่า 10 ตัน เข้าสู่กระบวนการ Upcycle เพื่อเปลี่ยนขยะพสาสติก ให้เป็นของตกแต่งบ้านดีไซน์สุดเก๋ ช่วยลดการฝังกลบ และลดภาระการย่อยสลายของธรรมชาติ
“เพราะแต่เดิมขวดพลาสติกที่ชำรุดในกระบวนการผลิต จะถูกส่งต่อไปรีไซเคิล แต่กระบวนการ Upcycle จะเป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ขยะเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใส่ดีไซน์ให้เกิดความสวยงาม น่าจับต้องมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองเปิดใจยอมรับชีวิตใหม่ของขยะพลาสติก”
แล้วขยะพลาสติก 10 ตันมันเยอะขนาดไหนกัน อาจเปรียบได้กับการปลูกป่าถึง 30 ไร่ หรือปลูกต้นสักได้ถึง 3,000 ต้น หรือเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 52,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ขวดพลาสติกที่ถูก Upcycle ถูกพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน ภายใต้คอลเลคชั่น “สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะในทะเล” ที่ได้รับแรงบันดาลจากการออกแบบมาจากข่าวสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสะเทือนใจต่อผู้พบเห็น อาทิ ปลาวาฬ ม้าน้ำ สัตว์ขั้วโลก ก้อนเมฆ และป่าไม้
ตัวอย่างเช่น “ที่เก็บถุงพลาสติกสำหรับใช้ซ้ำรูปปลาวาฬ Moby” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากข่าวปลาวาฬที่ตายเพราะกินขยะพลาสติก สะท้อนถึงปัญหาขยะพลาสติกที่คุกคามชีวิตสัตว์ทะเล โดยเจ้าปลาวาฬ Moby ตัวสีน้ำเงินสวยนี้ ผลิตจากขวด PET ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตจำนวน 28 ขวด จนได้ออกมาเป็นของใช้ในบ้าน ที่ช่วยสื่อสารให้เราตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดเป็นขยะพลาสติกที่ไปสร้างผลกระทบให้กับสัตว์ทะเลอีก
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ Upcycle ที่มีดีไซน์น่าสนใจอีกหลากหลายชิ้น โดยดูได้จากวิดีโอด้านล่างนี้
แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าว อยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงยังไม่สามารถประเมินผลตอบรับจากผู้บริโภคได้ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ ที่ทั้งอิชิตัน และ Qualy ต่างเห็นตรงกันว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม
เพราะวิกฤติสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยื่นมือมาช่วยกันแก้ไข หากโครงการนี้สามารถจุดประกายความคิดให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงการนำขยะมาเปลี่ยนให้เป็นสินค้าที่มีคุณค่าได้ เชื่อว่าอนาคตจะมีอีกหลายองค์กรที่จะมาร่วมพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อมาช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเรา