“ความขี้เกียจ” ฟังดูอาจเป็นเหมือนพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ในยุคปัจจุบันพฤติกรรมที่ดูคล้ายๆ กับว่าจะเป็นความขี้เกียจนี้อาจจะกลับกลายเป็นโอกาสทางการตลาดอย่างมหาศาล สำหรับผู้ที่เข้าใจอินไซต์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “Lazy Consumer” แต่คงจะหมายความว่าเป็นคนขี้เกียจซะทีเดียวอาจจะไม่ถูกนัก แต่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกสบาย และหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะไม่อยากจะเสียเวลาทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ เทรนด์ผู้บริโภคที่รักความสะดวกสบายไม่ได้เกิดขึ้นอยู่แค่ในประเทศไทย แต่กระจายไปทั่วโลก เพราะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการทำสิ่งสำคัญได้มากขึ้น เนื่องจาก เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และภารกิจต่างๆ ในแต่ละวันที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคในปัจจุบัน การมีเทคโนโลยี หรือมีผู้ช่วยมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ แทน จึงทำให้ผู้บริโภคมีเวลาที่จะไปทำงานที่มีความสำคัญมากกว่าได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง สะท้อนได้จากการเติบโตของเซอร์วิสแพลตฟอร์มที่อาสามาเป็นผู้ช่วยในเรื่องต่างๆ ให้ผู้บริโภคในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
Lazy Economy เทรนด์มาแรง
แม้แต่ บิล เกตส์ นักธุรกิจและมหาเศรษฐีชื่อดังระดับโลก ยังเคยบอกไว้ว่า เขามักจะเลือกคนขี้เกียจในการทำงานที่ยาก เพราะว่า “คนขี้เกียจ” มักจะหาทางลัดในการทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎี Lazy User Model ที่บอกไว้ว่า ธรรมชาติของคนเรามักจะหาทางเลือกที่ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานหรือหาทางลัด ในการตอบสนองความสะดวกสบายให้กับตัวเอง
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก taobao.com เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์อันดับ 1 ของจีน พบว่า กลุ่มนักช้อปรุ่นใหม่ชาวจีนที่เกิดหลังปี 1995 ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อขจัดงานที่น่าเบื่อและเสียเวลานาน โดยให้คำจำกัดความผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่า กลุ่มรักสบายจ่ายหนัก ทำให้กลุ่มสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ขายดีเพิ่มมากขึ้นกว่า 70% โดยมียอดการใช้จ่ายสำหรับสินค้าเหล่านี้กว่า 2.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
โดยสินค้าขายดี 4 อันดับบนเว็บไซต์เถาเป่า อาทิ อายแชโดว์ แบบปาดครั้งเดียวจบ หม้อร้อนอเนกประสงค์ เก้าอี้เล่นเกมปรับนอนได้ และเครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ
สอดคล้องกับข้อมูลจากงานสัมมนา เจาะลึกอินไซต์ “พิชิตใจคนขี้เกียจ” โดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ที่ระบุว่า LAZY ECONOMY เป็นเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย เพื่อมาช่วยลดการทำงานเล็กๆ น้อยๆ และนำเวลาไปทำงานที่สำคัญมากขึ้น โดยมีปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตจากพฤติกรรมรักความสบาย และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จึงจะเห็นหลายๆ ธุรกิจระดับโลกที่มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับ LAZY ECONOMY หรืออาจจะเรียกได้ว่า เห็นโอกาสเติบโตได้จากความขี้เกียจของผู้บริโภค อาทิ IBM ที่พัฒนาโดรนส่งกาแฟ เมื่อตรวจพบว่าคุณกำลังรู้สึกเหนื่อย Walmart ที่พัฒนาบริการส่งอาหารเข้าตู้เย็นเพราะความขี้เกียจออกไปซื้อของข้างนอก หรือ Gojek ที่มีบริการส่งน้ำมันเมื่อไม่ต้องการไปรอคิวที่ปั๊ม
ขณะเดียวกัน ความขี้เกียจ ยังเป็นบ่อเกิดสินค้านวัตกรรมหลากหลาย จากความเข้าใจอินไซต์กลุ่ม Lazy Consumer ที่ไม่อยากเสียเวลาในการทำสิ่งต่างๆ มากเกินไป เพื่อให้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น เช่น เครื่องพับผ้าอัตโนมัติ FlodiMate หรือแม้แต่ในเวลาเวลาแปรงฟัน ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนไม่ต้องการใช้มือมาคอยจับแปรงสีฟันในเวลาแปรงฟัน เพื่อให้สามารถทำหลายๆ สิ่งไปได้พร้อมๆ กัน จนเกิดเป็นแปรงสีฟันอัตโนมัติ Amabrush ที่นอกจากไม่ต้องใช้มือคอยจับในระหว่างแปรงฟันแล้ว ยังสามารถทำให้ฟันสะอาดได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 วินาทีอีกด้วย ซึ่งเร็วกว่าการแปรงฟันปกติที่ต้องใช้เวลานานหลายนาทีหลายเท่าตัว
10 กิจกรรม ที่คนไทยขี้เกียจทำเอง
CMMU ยังสำรวจพฤติกรรมของกลุ่ม Lazy Consumer ในประเทศไทยนั้น จากการทำวิเคราะห์เชิงลึกผ่านกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน ทั้งจากกลุ่ม Gen Z,Y, X และ Baby Boomers โดยพบว่า 10 กิจกรรมที่คนไทย ขี้เกียจทำมากที่สุด คือ 1.ออกกำลังกาย 84%, 2.รอคิวซื้อของ 81%, 3.ทำความสะอาดบ้าน 77%, 4.อ่านหนังสือ และทำอาหาร ในสัดส่วนเท่ากันที่ 70%
6. การพูดหรือพบเจอคนเยอะๆ และการดูแลผิวพรรณตัวเอง สัดส่วนเท่ากันที่ 68%, 8.เรียน/ทำงาน 65% 9.ออกไปช้อปปิ้ง 64% และ 10. การเดินทางไปไหนมาไหน ในสัดส่วน 60%
พร้อมทั้งวัดระดับความขี้เกียจในแต่ละกิจกรรม และพบว่า แม้การรอคิวซื้อของจะมีปริมาณคนขี้เกียจเป็นอันดับสอง แต่เมื่อดูรายละเอียดกลับพบว่าเป็นกิจกรรมที่มีระดับความขี้เกียจสูงที่สุด ขณะที่ความแตกต่างในการขี้เกียจทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้ชายและผู้หญิงก็แตกต่างกันด้วย โดยผู้ชายจะขี้เกียจรอคิวซื้อของมากที่สุด ขณะที่ผู้หญิงจะขี้เกียจออกกำลังกายมากที่สุด
ทั้งนี้ Lazy Consumer หรือกลุ่มมนุษย์ขี้เกียจ ยังแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ต่อไปนี้
1. กลุ่มอยากดูดี แต่ไม่มีแรง หรือในกลุ่มคนที่ขี้เกียจออกกำลังกาย โดยมีสัดส่วน 84% เมื่อเทียบกับประชากรไทยโดยรวม หรือมีจำนวนถึง 55 ล้านคน โดยสาเหตุหลักมาจาก ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเวลา และทำแล้วรู้สึกเหนื่อย
2. กลุ่มชอบช้อป แต่ไม่ชอบรอ หรือคนไม่ชอบต่อคิวซื้อของ มีสัดส่วน 81% ของคนไทย หรือมีจำนวน 53 ล้านคน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก ไม่อยากเสียเวลา และรู้สึกเหนื่อยกับการรอ
3. กลุ่มบ้านรก สกปรกค่อยทำ หรือคนขี้เกียจทำคาวมสะอาดบ้าน มีสัดส่วน 77% ของคนไทย หรือมีจำนวน 51 ล้านคน โดยสาเหตุหลักมาจาก รู้สึกเหนื่อย ไม่มีเวลา ไม่มีแรงจูงใจ รวมทั้งทำไม่เป็น
4. กลุ่มไม่ชอบอ่าน แค่ผ่านๆ ก็พอ หรือ กลุ่มขี้เกียจอ่านหนังสือ มีสัดส่วน 70% ของคนไทย หรือจำนวน 46 ล้านคน โดยสาเหตุสำคัญมาจาก ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีเวลา และรู้สึกเหนื่อย
5. กลุ่มชอบกิน แต่ไม่อินทำอาหาร หรือ กลุ่มขี้เกียจทำอาหาร มีสัดส่วน 69% ของคนไทย หรือมีจำนวน 45 ล้านคน โดยที่มีสาเหตุหลักจาก ไม่รู้วิธีทำอาหาร รู้สึกเสียเวลา เหนื่อย และไม่มีแรงจูงใจ
5 ธุรกิจที่ได้รับอานิสสงส์
จากการทำความเข้าใจอินไซต์ของกลุ่ม Lazy Consumers กลายเป็นการมองเห็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น โดยพบว่าธุรกิจที่จะได้รับอานิสสงส์ สามารถเติบโตได้จากการเบ่งบานและขยายตัวของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย
1. On Demand Service หรือธุรกิจที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยทำสิ่งต่างๆ แทน สำหรับคนที่ไม่อยากเสียเวลารอ และยอมที่จะใช้เงินแก้ปัญหา เพื่อหาคนมาทำสิ่งต่างๆ แทน โดยธุกิจในประเภทนี้ที่รู้จักดี อาทิ Food Delivery, Home Servive,Grocery Delivery
2. Automation & Hands-Free สินค้าหรือบริการที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ หรือไม่ต้องถือ โดยสินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ไอโรบอท หรือหุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาด หรือร้านค้าที่เป็น Automate Store ที่ไม่ต้องมีแคชเชียร์ประจำ Lazy Holder หรือที่จับต่างๆ แบบคล้องคอ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเมื่อยมือเพื่อถือเอง เป็นต้น
3. สินค้ากลุ่ม Ready to ต่างๆ ที่ยังคงมีนวัตกรรม และพัฒนาได้มากขึ้น ทั้ง Ready to Cook, Ready to Eat และ Ready to Use เช่น บริการจัดส่งเซ็ตอาหารแบบพร้อมปรุงให้ถึงบ้าน, นวัตกรรมข้าวกล่องแบบอุ่นร้อนได้โดยไม่ต้องใช้ไมโครเวฟ หรือการพัฒนาเครื่องสำอางแบบหลากหลายคุณประโยชน์ เป็นทั้งรองพื้น แป้ง และครีมกันแดด ที่ช่วยลดระยะเวลาในการแต่งหน้า หรือ Dry Shampoo ที่เพียงแค่ฉีด และขยี้ ก็ทำให้ผมหายมันได้โดยที่ไม่ต้องสระ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้มาก
4. การสร้างให้เกิด Community ต่างๆ ได้ เนื่องจาก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนขี้เกียจ มาจากการขาดแรงจูงใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น การสร้างคอมมูนิตี้ หรือความรู้สึก Better Together คือ มีแรงผลักดันจากการได้ทำบางส่ิงบางอย่างร่วมกัน ทั้งจากแรงจูงใจของการช่วยเหลือกัน หรือการแข่งขันและท้าทายระหว่างกัน เช่น เพจต่างๆ ที่มีเป้าหมายในเรื่องเดียวกัน เช่น #ปีนี้เราจะหุ่นดีไปด้วยกัน
5. ธุรกิจการอ่านให้ฟัง หรือ Read Less, Listen More ซึ่งอาจต้องเน้นเรื่องความสั้น กระชับของข้อมูล หรือรูปแบบในการนำเสนอที่ต่างออกไป เพิ่มความสนุกและน่าติดตาม เนื่องจากพฤติกรรมไม่ชอบอ่านอะไรเยอะๆ แต่เลือกที่จะฟังเพราะสามารถทำอะไรไปพร้อมๆ กับการฟังได้ด้วย เช่น Podcast, Short Content ที่สรุปเรื่องราวให้สั้น กระชับ ได้ใจความ และ VDO Content ผ่านการนำเสนอด้วยภาพประกอบพร้อมเสียง และอัพโหลดให้ติดตามได้บนยูทูป เพื่อดูหรือฟังโดยไม่ต้องอ่าน
ทั้งนี้ CMMU ยังได้แนะนำกลยุทธ์เพื่อพิชิตใจมนุษย์ขี้เกียจทั้ง 5 กลุ่มนี้ ต้องสามารถตอบโจทย์ในเรื่องต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้ ทั้งการมอบความเร็ว, สั้น กระชับ, สนุกสนาน, สะดวกสบาย และสามารถสร้างความสุขให้กับลูกค้าได้ เพราะความสุขของลูกค้าก็คือความสุขของเรา หรือเรียกว่า SLOTH STRATEGY ประกอบด้วย Speed, Lean, Enjoy, Convenient และ Happy นั่นเอง