ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ ทั้ง 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตให้กับทาง กสทช. จะจอดำครบทุกช่องแล้ว หลังจากมีประกาศคำสั่งจากทาง คสช. ฉบับที่ 4/2562 ที่เปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถคืนช่องได้ พร้อมทั้งยังสามารถได้รับเงินชดเชย ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา
จนกระทั่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 มีผู้ประกอบการจาก 7 ช่องทีวิดิจิทัล ยื่นความจำนงที่จะขอคืนใบอนุญาต ประกอบด้วย
– ในกลุ่มช่องเด็กและเยาวชน จำนวน 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 Family และช่อง MCOT Family
– กลุ่มช่องข่าว จำนวน 3 ช่อง ได้แก่ ช่องสปริงส์นิวส์ ช่อง Bright TV และช่อง VOICE TV
– ช่อง SD จำนวน 2 ช่อง SPRING 26 และช่อง 3SD
โดยมี 3 ช่อง คือ Spring 26, Spring News และ Bright TV เป็น 3 ช่องแรกที่นำร่องยุติการออกอากาศไปก่อนหน้าตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2562 และประเดิมต้นเดือนใหม่ 1 กันยายน 2562 ด้วย VOICE TV ช่อง 21 ที่จะยุติการออกอากาศบนดิจิทัลทีวี แต่ย้ายไปอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่อย่างเคเบิลทีวีและออนไลน์ โดยยังมีอีก 2 ล็อตที่เหลือ คือ ในช่วงกลางเดือนนี้วันที่ 16 กันยายน ช่อง MCOT Family จะยุติการออกอากาศ และในสิ้นเดือน 30 กันยายน อีก 2 ช่อง คือช่อง 3SD และ 3Family จะออกอากาศเป็นวันสุดท้าย และจะยุติการออกอากาศครบทั้ง 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตจากทาง กสทช. ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่จะะถึงนี้
ทำให้หลังจากเดือนนี้ไปจะมีช่องทีวีดิจิทัล เหลืออยู่จำนวน 15 ช่อง เนื่องจากช่อง Thai TV และ LOCA ได้ยุติการออกอากาศไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยทั้ง 15 ช่องที่ยังเลือกจะไปต่อในสนามทีวีดิจิทัลนี้ เป็นช่องข่าว 3 ช่อง ได้แก่ TNN , NEW 18 และ Nation TV ช่อง SD จำนวน 5 ช่อง ได้แก่ ช่องเวิร์คพอยท์, True4U, GMM25 ช่อง 8 และ Mono 29 ส่วนช่อง HD ยังอยู่ครบทั้ง 7 ช่องเหมือนเดิม คือ ช่อง 9 MCOT HD, ช่อง One, ไทยรัฐทีวี, 3HD, AMARIN TV,ช่อง 7HD ขณะที่ช่องเด็กและเยาวชนนั้น หายไปยกทั้งแผง
เมื่อแลนด์สเคปเปลี่ยนใหม่อีกครั้งหลายๆ ช่อง จึงประกาศกลยุทธ์รับมือ เพื่อเตรียมทัพในศึกครั้งใหม่ ที่ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ก็ยังคงต้องดูสถานการณ์ยาวๆ ว่าหลังจากทีวีดิจิทัลไทย เหลือเพียง 15 ช่องธุรกิจ และอีก 4 ช่องสาธารณะ จะเยียวยารักษาอาการบาดเจ็บและบาดแผลต่างๆ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แลนด์สเคปใหม่นี้ในทิศทางอย่างไรต่อไป
EIC คาดส่งผลเป็นบวก
ความเห็นจาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า ในระยะสั้น การคืนใบอนุญาตของทั้ง 7 ช่องจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก รายได้จากการโฆษณาของทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% ของมูลค่าโฆษณาทางทีวีทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่ผันผวนในช่วงของปี 2019 รวมถึงการปรับราคาโฆษณาทีวีสูงขึ้นกว่า 4% ส่งผลให้บริษัทห้างร้านและเจ้าของผลิตภัณฑ์ชะลอการลงเม็ดเงินโฆษณาออกไป โดย Nielsen ประเมินว่าเม็ดเงินในการโฆษณาทางทีวีในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มีการปรับลดลงราว 1% YOY มาอยู่ที่ราว 3.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนระยะกลาง คาดว่า ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่จะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีขึ้นจากเม็ดเงินโฆษณาจากกลุ่มทีวีโฮมช๊อปปิ้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการปรับกลยุทธ์ ในปี 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจทีวีโฮมช๊อปปิ้ง เช่น TV Direct, Sanook Shopping, O Shopping มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงโฆษณาจากแบบช่วงเวลาเป็นการโฆษณาขายสินค้าตลอดทั้งวัน ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจทีวีโฮมช๊อปปิ้งเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี เม็ดเงินเหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของช่องทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการทีวีโฮมช๊อปปิ้งหน้าใหม่จำนวนมากที่แข่งขันกันทำตลาดส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ต่างมีแผนปรับกลยุทธ์ซื้อคอนเทนท์ใหม่ ๆ จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศเพื่อชิงเรทติ้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 30% คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาทในปี 2019 แทนการผลิตคอนเทนท์เองที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้มีรายจ่ายที่ลดลงและมีผลกำไรที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการปรับสัดส่วนโครงสร้างธุรกิจโดยขยายช่องทางการรับชมผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้และต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคต
MI ประเมินไม่มีผลต่อเรตติ้งหรือ Eyeball
ด้านความเห็นจากมีเดียเอเจนซี่ โดย คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI ให้ข้อมูลว่า การลดจำนวนช่องลง 7 ช่อง ไม่ได้มีนัยยะสำคัญให้เรตติ้งหรือจำนวนคนดูทีวีเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ช่องที่ปิดตัวไม่ใช่ช่องหลักของคนดูทีวีอยู่แล้ว มีเพียงช่อง 3SD ที่อาจจะส่งผลให้คนตามไปดูคอนเทนต์ที่ย้ายไปช่อง 33 บางส่วน ขณะที่การดูทีวีในปัจจุบันส่วนหนึ่งเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการดูไปดูผ่านออนไลน์ ขณะที่บางส่วนก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่ดูทีวีเป็นประจำอยู่แล้วซึ่งก็คงไม่หันกลับมาดูทีวีเช่นเดิม
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการยุติการออกอากาศของ 7 ช่อง อาจจะส่งผลต่อการจัดอันดับเรตติ้งของช่องในกลุ่ม Top 10 ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหลังจากกลุ่ม Top 5 ลงมา ที่จะมีการขยับอันดับกันมารายละ 1-2 ตำแหน่ง โดย Top 5 ยังคงเป็นรายเดิม คือ ช่อง7 , ช่อง 3, โมโน, เวิร์คพ้อยท์ ,ช่องวัน ตามลำดับ ส่วนอันดับ 6 -10 เรียง จะเรียมลำดับตามนี้ ไทยรัฐทีวี, อมรินทร์ทีวี, ช่อง 8, ช่องเนชั่น และช่อง 9 MCOT
ส่วนอานิสสงส์จากการได้ Eyeball หรือฐานคนดูที่เพิ่มขึ้น จะมีการย้ายไปยังช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายใกล้เคียงกัน เช่น ในกลุ่มช่องเด็ก อย่างช่อง 13 หรือช่อง 3 แฟมิลี่ จะย้ายไปยังช่อง 3 HD (ช่อง 33), ช่อง 9 MCOT แฟมิลี่ จะย้ายไปยัง MCOT HD (ช่อง 30)
ส่วนในกลุ่มช่องข่าวอย่าง สปริงนิวส์ จะย้ายไปช่องเนชั่น ส่วนไบร้ท์ทีวี และว้อยซ์ทีวี ซึ่งจะยุติการออกอากาศเฉพาะดิจิทัลทีวี แต่จะมีการเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งช่องข่าวที่จะได้รับฐานคนดูของสองช่องนี้น่าจะเป็นไทยรัฐ ส่วนช่องวาไรตี้ อย่างสปริง 26 จะคาบเกี่ยวฐานเดียวกับช่อง MCOT HD, เนชั่นทีวี และอมรินทร์ ส่วนช่อง 3SD (ช่อง 28) ผู้ชมน่าจะย้ายไปดูช่อง 3 HD หรือ ช่อง 33
“เมื่อช่องน้อยลง โดยเฉพาะช่องที่ยุติการออกอากาศไปซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าโฮมช้อปปิ้ง เพราะมีช่วงเวลาเหลือมากพอให้สินค้ากลุ่มนี้ทำรายการได้ ประกอบกับเมื่อช่องเหล่านี้หายไป ช่องหลักๆ ที่เหลือก็อยู่ระหว่างการจัดสรรเวลาของช่องให้ลงตัว โดยเฉพาะการจัดสรรคอนเทนต์ที่ยังมีศักยภาพในช่องที่ปิด ไปสู่ช่องอื่นๆ ทั้งในเครือหรือนอกเครือ โดยเฉพาะ ช่อง 33 ที่ต้องรองรับคอนเทนต์จากทั้ง 2 ช่อง ทำให้ไม่น่ามีแอร์ไทม์เหลือมากนัก ทำให้คอนเทนต์โฮมช้อปปิ้งที่ออกอากาศบนดิจิทัลทีวีอาจจะลดจำนวนลงไปกว่าครึ่ง โดยเนื้อหาที่ยังมีให้เห็นส่วนใหญ่จะเป็นรายการของกลุ่มที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นเจ้าของช่องทำเอง เช่น ช่อง 8 หรือไทยรัฐทีวีที่มีทีชาแนล โอช้อปปิ้งของแกรมมี่ เป็นต้น”
ช่อง 3 ปรับโฉม ทวงคืนพื้นที่ข่าว
ในส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็เริ่มปรับกลยุทธ์รับแลนด์สเคปใหม่ เพื่อหวังอานิสสงส์ได้ฐานคนดูเพิ่ม ด้วยการปรับผัง ปรับโฉม เสิร์ฟโปรแกรมเพื่อชิวงชิงฐานคนดู เริ่มด้วยช่อง 3 ที่ประกาศทวงคืนพื้นที่ข่าว ปรับโฉมรายการข่าวใหม่ เริ่มตั้งแต่เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ตั้งแต่วันจันร์ที่ 2 กันยายน เป็นต้นไป ด้วยการเริ่มรายการข่าวตั้งแต่เช้ามืด 04:00 ด้วยรายการ “โลกยามเช้า” ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 04.00 – 04.30 น. และ “ครอบครัวข่าว 3” ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 04.30-05.30น.
ทั้งนี้ รายการโลกยามเช้าจะเสริฟข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจในแต่ละวัน เกาะติดสถานการณ์รอบโลกเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงครบทุกประเด็นทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโนโลยี รวมถึงแง่มุมวัฒนธรรม ความบันเทิง ที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อให้ผู้ชมไม่พลาดข่าวสารต่างประเทศกันตั้งแต่เช้าเลยทีเดียว ดำเนินรายการโดย “ศมจรรย์ จรุงวัฒน์”
โดยจะเปิดช่วงแรกกับการติดตามความคืบหน้าของข่าวต่างประเทศประจำวัน การคาดการณ์และการวิเคราะห์ ข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมโลกโดยเลือกเฉพาะทีมีความเชื่อมโยงต่อสถานการณ์ในไทย และช่วงต่างๆ ที่น่าติดตาม อาทิ “Morning Teach” ข่าวเทคโนโลยีกับเทรนด์ความรู้ยอดนิยมจากทั่วโลก อัพเดทข่าวสารในแวดวงเทคโลโลยี นวัตกรรมและแอปพลิเคชั่น ที่จะย่อยมามาให้เข้าใจง่าย “โลกเราเช้านี้” นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลก ทั้งในแง่มุมวิชาการ วิถีชีวิต บันเทิง เทคโลโลยี วัฒนธรรมโดยการสัมภาษณ์บุคคลพิเศษทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้ง “โลกบันเทิงยามเช้า” ที่รวบรวมข่าวของเหล่าคนดังในวงการบันเทิง Hollywood และ Asia ผลงานเพลง ภาพยนตร์ใหม่ๆ ของดารานักแสดงที่กำลังเป็นกระแส รวมถึงนำเสนอ 5 อันดับTop 5 ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดประจำสัปดาห์ ตลอดจนการให้คะแนนของนักวิจารณ์ พร้อมมีกิจกรรมร่วมสนุกเพื่อรับของที่ระลึก
ต่อด้วยรายการ “ครอบครัวข่าว 3” กับ 1 ชั่วโมงที่อัดแน่นด้วยข้อมูลข่าวสาร โดย 4 พิธีกรมืออาชีพ นำทีมโดย เอ ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์ – นิธินาฏ ราชนิยาม – ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ และ คำรณ หว่างหวังศรี ที่ผู้ชมจะพบกับการสรุปข่าวใหม่และข่าวใหญ่ให้ผู้ชมไม่ตกข่าว รวมถึงประเด็นเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผู้ชมไม่ควรพลาดในรอบวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรพลาดกับช่วง “เตะผ่าหมาก” โดยทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ และ “คำรณค้นความจริง” กับคำรณ หว่างหวังศรี
พร้อมกันนั้น ช่อง 3 ยังเตรียมรายการข่าวที่พร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ชมตลอดทั้งวัน ในทุกช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง – เรื่องเล่าเช้านี้ – แฟลชนิวส์ – เที่ยงวันทันเหตุการณ์ – เรื่องเด่นเย็นนี้ – ข่าว 3 มิติ – โลกยามเช้าสุดสัปดาห์ และ เรื่องเล่าเสาร์ – อาทิตย์
ช่อง 5 อัดผังแน่นทั้งข่าว -วาไรตี้
ขณะที่ช่อง 5 เตรียมนำเสนอรายการใหม่ลงผังเดือน ก.ย. 62 ประเดิมครึ่งปีหลัง ทั้งรายการข่าวและวาไรตี้ ที่มีสาระและบันเทิงควบคู่กัน โดยในส่วนของรายการข่าว อัดแน่นตลอดทั้งวัน ทั้งรายการข่าวภาคเช้า ข่าวภาคเที่ยง ทันข่าวต้นชั่วโมง ฮาร์ดคอร์ข่าว ข่าวภาคค่ำ และ จับประเด็นข่าวร้อน ล่าสุดเอาใจแฟนๆ คอกีฬากับรายการ “กีฬานอกสนาม” ที่จะนำเสนอข่าวแวดวงกีฬาทั้งในและต่างประเทศ ด้วยรูปแบบสาระที่เพิ่มเติมความสนุกสนาน พร้อมกับการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู กีฬาพื้นบ้านของไทย เชื่อมความสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง ดำเนินรายการโดย ณฐมน ใบบัว พิธีกรภาคสนาม ติดตามชมได้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงข่าวกีฬาภาคค่ำ เริ่ม 1 ก.ย. 62
ส่วนผู้ที่ติดตามการลงทุน ทั้งหุ้น เงิน ทอง ไม่ควรพลาดกับรายการ “HALFTIME REPORT” ที่จะนำเสนอสถานการณ์การลงทุนและการซื้อขายหุ้นในตลาดโลก พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบรวมถึงข่าวสารที่เกี่ยวกับตลาดการลงทุนของไทย ติดตามชมได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.30-12.00 น. เริ่ม 2 ก.ย. 62
อีกทั้งยังมีวาไรตี้สร้างสรรค์กับ ซิทคอมสั้น “ชุมชนปรองดอง” นำเสนอเรื่องราว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำประเทศไทยก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เมื่อชาวชุมชนปรองดองต้องพบกับสารพัดปัญหา และยุทธศาสตร์ชาติจะช่วยนำพาไปสู่ทางออกอย่างไร โดยจะออกอากาศตลอดเดือน ก.ย. ทุกวันจันทร์ ช่วงเวลา ช่อง 5 ข่าวเที่ยง และ ข่าวภาคค่ำ ทุกวันพุธและศุกร์ ช่วงเวลา เช้านี้มีแต่เรื่องดี๊ดี และ ช่อง 5 ข่าวเที่ยง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา ข่าวภาคค่ำ เริ่ม 2 ก.ย. 62
นอกจากนี้ ยังมีละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน “ไอดินกลิ่นทุ่ง” โดยร่วมผลิตกับ บ.ฟินนาเร่คิดส์ ครีเอทีฟ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมสอดแทรกเรื่องราวการละเล่นของเด็กไทยในอดีต ติดตามชมได้ทุกวันจันทร์ เวลา 16.30-17.00 น. เริ่ม 2 ก.ย. 62
นอกจากนี้ยังมี “อิทธิฤทธิ์เทพนาคา” สำหรับแฟนซีรีส์อินเดีย เรื่องราวเชื่อมโยงระหว่างโลกปัจจุบัน กับมหาภารตะดินแดนแห่งนาคราช อรชุน หนึ่งในนักธนูผู้เก่งกาจ โดยโลกแห่งนาค คือ ความตื่นเต้นที่จะหยุดทุกลมหายใจ เมื่อใดที่ความลับเปิดเผยโลกและคนในครอบครัวต้องเผชิญกับหายนะและอันตราย ศึกระหว่างสองโลกจะมาบรรจบด้วยความเชื่อแห่งนาค และจะก่อให้เกิดพลังมหาศาล ติดตามชมได้ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.20-21.20 น.
รวมทั้งซีรีส์ชุดบ้านของเรา ในละคร “ลูกผู้ชายหัวใจทองคำ” ที่กำลังออกอากาศใกล้จะจบแล้ว วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.20-21.10 น.
เฮียฮ้อ เสริมทีมวางแผนเชิงรุกช่อง 8
สำหรับช่อง 8 ที่มี เฮียฮ้อ- สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพใหญ่ วางกลยุทธ์บริหารช่องมาตลอด 5 ปี ได้ประกาศแผนธุรกิจเชิงรุก ตั้งเป้าขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปตามเป้าหมายโดยเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทีมช่อง 8 แข็งแกร่ง มุ่งเน้นการบริหารงานเชิงรุก และให้ความสำคัญกับการบริหารองค์กรและบริหารคอนเทนต์ โดยยังเน้นการใช้ทีมผู้บริหารเดิมเข้ามารับตำแหน่งสำคัญ
โดยล่าสุด ช่อง 8 ประกาศแต่งตั้ง นางสาวนงลักษณ์ งามโรจน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด รับผิดชอบดูแลภาพรวมและบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และ ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 รับผิดชอบดูแลภาพรวมและบริหารงานละคร รายการวาไรตี้ และกีฬา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการบริหารช่อง 8 ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะเทน้ำหนักรุกคอนเทนต์ละครเต็มรูปแบบ โดยมุ่งคัดสรรบุคลากรมืออาชีพมากประสบการณ์เข้ามาเสริมทัพขยายทีมอีกเป็นจำนวนมาก
โดยในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับแผนกลยุทธ์ ทิศทางการบริหาร “กลุ่มธุรกิจสื่อ” แบบบูรณาการ เชื่อมโยงโครงสร้างคอนเทนต์และการตลาด รวมถึงการสร้างพันธมิตรเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การประกาศแต่งตั้งและมอบหมายงานผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 ท่านในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะทำให้การบริหาร มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และสามารถพัฒนาความบันเทิงหน้าจอให้เป็นที่พึงพอใจ ตรงใจผู้บริโภคเป้าหมายของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ภายใต้สโลแกน “ใครๆ ก็ดูช่อง 8”
VOICE TV ลาจอ
ในส่วนของ VOICE TV ซึ่งเป็นช่องล่าสุดที่ยุติการออกอากาศต้อนรับเดือนกันยายนนี้ ได้ถ่ายทอดรายการพิเศษ “ร่วมนับถอยหลัง อำลา ‘ทีวีดิจิทัล ช่อง 21’ มุ่งสู่ ‘ออนไลน์’ และ ‘ทีวีดาวเทียม’” ผ่านทางหน้าแฟนเพจ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางใหม่ในการออกอากาศทั้งผ่านเว็บไซต์ www.voicetv.co.th Facebook Voice TV และ Youtube Voice TV รวมทั้งจากทีวีดาวเทียมผ่านกล่อง PSI / DTV / Ideasat / Infosat / Thaisat และ Leotech ช่อง 51 รวมทั้งกล่อง GMM Z ช่อง 49
ทั้งนี้ VOICE TV นั้น ได้จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 886 ล้านบาท และจะได้รับเงินชดเชยคืนรวมเป็นเงิน 378 ล้านบาท ซึ่งตามข้อมูลในหนังสือ “5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล” โดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ระบุข้อมูลว่า เป็นช่องทีวีดิจิทัลในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระของครอบครัว “ชินวัตร” ซึ่งเคยออกอากาศ ในเครือข่ายทีวีดาวเทียมและออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนที่จะมาประมูลใบอนุญาตและเปิดช่อง ทีวีดิจิตอลในปี 2557 และเป็นช่องที่มีความชัดเจนในการออกอากาศตั้งแต่เริ่มต้น โดยเน้นข่าวการเมือง และ รายการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามผังรายการของช่อง VOICE TV ยังมีรายการวาไรตี้ สารคดีท่องเที่ยว และซีรีส์ต่างประเทศ เช่น ซีรีส์จีนเข้าเสริมผังด้วย เนื่องจากมีเนื้อหารายการข่าวเป็นส่วนใหญ่ สัดส่วนรายการจึงเป็นรูปแบบรายการที่ช่อง ผลิตเองสูงสุดในทุกปี โดยมีสัดส่วนรายการประเภทให้เช่าเวลาออกอากาศ เป็นลำดับรองลงมา ข้อมูลรายได้ของช่อง VOICE TV ที่แจ้งไว้กับสำานักงาน กสทช. นั้น พบว่าปีแรกมีรายได้เพียง 72 ล้านบาท เพิ่มเป็น 108 ล้านบาทในปี 2558 ค่อยๆ ลดลงมาเป็น 106 ล้านบาท ในปี 2559, 62 ล้านบาทในปี 2560 และ 36 ล้านบาทในปี 2561
ปี 2557 ช่อง VOICE TV เปิดตัวในระบบทีวีดิจิตอลเป็นปีแรก ทำเรตติ้งอยู่ในอันดับที่ 28 จากทีวีดิจิตอลในระบบ 28 ช่อง และยังอยู่ในอันดับเดียวกันในปีถัดมา
แต่ในปี 2561 ช่วงที่สถานการณ์ การเมืองกำาลังเริ่มเข้มข้น เนื่องจากมีการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศในเดือนมีนาคม 2562 เรตติ้งของ ช่อง VOICE TV ก็เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยเรตติ้งรายเดือนในเดือนธันวาคม 2561 ของช่อง VOICE TV ได้ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 18 แต่เรตติ้งเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ในอันดับ 21 ฐานผู้ชมช่อง VOICE TV เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจน พื้นที่ที่เป็นฐานผู้ชมหลักของ ช่อง VOICE TV อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือ โดยมีภาคใต้เป็นพื้นที่ที่รับชมช่อง VOICE TV น้อยที่สุด