HomeBrand Move !!อาหารเกาหลีต้องแมส ! “Red Sun” ขอรีแบรนด์ใหม่จับเทรนด์คนรุ่นใหม่ขยายพื้นที่ Take Away และ Delivery

อาหารเกาหลีต้องแมส ! “Red Sun” ขอรีแบรนด์ใหม่จับเทรนด์คนรุ่นใหม่ขยายพื้นที่ Take Away และ Delivery

แชร์ :

แม้ว่ากระแสการทาน “อาหารเกาหลี” จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ “อาหารญี่ปุ่น” แต่ตลาดอาหารเกาหลีน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจาก “ไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด” อย่างชัดเจน แม้จะมีทั้งแบรนด์เล็ก-ใหญ่ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าตลาดอาหารเกาหลี 2,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอัตรา 4-5% เป็นไปตามการเติบโตของตลาดธุรกิจอาหาร ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดราว 4 แสนล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขอรีแบรนด์ใหม่ เอาใจ New Gen

“Red Sun” เป็นหนึ่งแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีที่ บริษัท อาร์ทีเอช อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด ซื้อสิทธิ์แฟรนไชน์จากประเทศเกาหลี เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2557 ประเดิมเปิดสาขาแรกที่ “สยามสแควร์” ก่อนจะขยายเพิ่มจนมาถึง 12 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 11 สาขา และ ในต่างจังหวัดอีก 2 สาขา คือ พัทยา และนครราชสีมา

คุณนพวินท์ รอดริน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด

กระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ได้เข้าซื้อกิจการ “Red Sun” ด้วยสัดส่วนหุ้น 74% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ได้สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจร้าน Red Sun ในประเทศไทยทั้งหมด และยังได้สิทธิ์ในการเปิดและบริหารแฟรนไชส์ Red Sun ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้นเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี จีน และกัมพูชา ขณะที่ผู้บริหารชุดเดิมถือสัดส่วนหุ้น 26% โดยมี “คุณนพวินท์ รอดริน” นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด

หลังจากประกาศดีลสำคัญไปได้เพียง 7 เดือน “Red Sun” รีแบรนด์ตัวเอง ด้วยเป้าหมายสำคัญ คือ การขึ้นสู่ผู้นำตลาดร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทย และดันกระแสอาหารเกาหลีให้อยู่ในระดับแมส โดยมุ่งเจาะกลุ่ม “New Gen” ที่มีอายุ 18-25 ปี จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าหลักมีอายุ 25-35 ปี

เพราะกลุ่ม New Gen เป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ หากร้าน Red Sun ยังคงรูปแบบเดิมๆอย่างที่เป็นมา อาจจะทำให้ลูกค้าเบื่อได้ ดังนั้นการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงต้องทำให้แบรนด์มี Dynamic อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันแบรนด์ปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย

อาหารเกาหลีต้องไม่น่าเบื่อและเข้าถึงง่าย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว “Red Sun” จึงรีแบรนด์ใหม่แบบ 360 องศา ด้วยแนวคิด “Korean with a Twist” ที่ผสมผสานความเป็นออริจินัลด้านคุณภาพและรสชาติแบบเกาหลีแท้ เข้ากับการสร้างประสบการณ์การทานอาหารเกาหลีแนวใหม่ เพื่อสร้างความสนุกให้กับลูกค้า และทำให้แบรนด์เข้าถึงง่ายขึ้น

Logo เดิมของ Red Sun ที่ใช้รูปกระทะแบบดั้งเดิม

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโลโก้ใหม่” โดยนำรูปกระทะแบบดั้งเดิมมาออกแบบใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งปรับโทนสีใหม่ เพิ่มคู่สีนำเงินและขาวเข้ามาเสริมกับสีแดงเข้ม 

การปรับโทนสีทำให้ “ร้าน Red Sun โฉมใหม่” สว่างสดใสมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ในโทนสีแดงทึมๆตามสไตล์เกาหลีดั้งเดิม นอกจากนี้ในการตกแต่งภายใน ยังเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ และงานดีไซน์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยนำกราฟฟิกที่ดัดแปลงจากลวดลายโลโก้ และวัตถุดิบภายในร้านมาใช้ด้วย

ร้าน Red Sun โฉมใหม่ที่สยามเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ยังเพิ่มประสบการณ์ในการทานอาหารผ่าน “เมนูใหม่” ไม่ว่าจะเป็นการจับเซ็ตคอมโบ้หลากหลายเซ็ต การเพิ่มเมนูใหม่ๆที่ทำให้ลูกค้ามีกิจกรรมในการทานอาหารมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งลดขนาดเมนูเดิมเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเมนูได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้อาหารมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น  

เทรนด์เดลิเวอรี่มา ก็ต้องคว้าไว้ 

สำหรับสาขาที่ 13 สยามเซ็นเตอร์ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากเป็นสาขาแรกที่มีการปรับลุคใหม่แล้ว ยังเพิ่มโซน “Grab&Go” บริเวณหน้าร้าน ให้ลูกค้าสั่งซื้ออาหารแบบ Take Away ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองและให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอาหารเกาหลีได้ในเวลาเร่งรีบ

ขณะที่ภาพรวมบริการรับส่งอาหาร (Derivery)ในไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ Red Sun วางแผนเพิ่มเมนูที่เสิร์ฟเฉพาะเดลิเวอรี่เท่านั้นจำนวน 15 เมนู เนื่องจากในปีที่ผ่านมายอดขายในส่วนของบริการเดลิเวอรี่เติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 1% เพิ่มขึ้นเป็น 10% และคาดว่าภายในปี 2563 สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 20%

“ในปีนี้เรามีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 2 สาขา ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยใช้งบลงทุนทั้งหมด 40 ล้านบาท สำหรับการรีแบรนด์ เปิดสาขาใหม่ และรีโนเวทร้านเดิม สำหรับสาขาเดิมจะรีโนเวทตั้งแต่ปรับโลโก้ อุปกรณ์ในร้าน รวมท้ังเมนูที่จะเป็นแบบใหม่ทั้งหมด ย่างไรก็ตามคาดว่าจะปรับโฉมทุกสาขาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทุกสาขาพร้อมสำหรับการเป็น Hub ส่งอาหาร”

อย่างไรก็ตาม คุณนพวินท์ มั่นใจว่าด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว จะทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตไม่น้อยกว่า 40% โดยมีสัดส่วนยอดขายมาจาก การนั่งรับประทานอาหารในร้าน 75% บริการเดลิเวอรี่ 10-20% และ Take Away 5% และส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10%

นำประสบการณ์ “ฟู้ดแพชชั่น” ช่วยรันธุรกิจ

เพื่อให้ร้านอาหารเกาหลีได้รับความนิยมในไทยมากขึ้น Red Sun มีแผนที่จะขยายสาขาใหม่ปีละ 4-6 สาขา ในทำเล “ห้างสรรพสินค้า” โดยใช้ศักยภาพของ “ฟู้ดแพชชั่น” ในการเลือกทำเลและขยายสาขา รวมทั้งนำ Know-How ไม่ว่าจะเป็น การจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ เพื่อทำให้ได้ต้นทุนต่ำ มาใช้ในการบริหารจัดการภายในร้านอีกด้วย

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะได้เห็นต่อไป คือ การพาแบรนด์ Red Sun ไปบุกตลาดอาเซียน ซึ่งทางคุณนพวินท์ขออุบรายละเอียดสำคัญไว้ก่อน แต่ยืนยันว่า ร้าน Red Sun โฉมใหม่ ได้รับอนุญาตจาก “Mr. Ha jin Ha” เจ้าของแบรนด์และผู้ก่อตั้ง ให้สามารถนำแบรนด์โฉมใหม่นี้ ไปใช้ในการขยายสาขาในระดับภูมิภาคได้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอาหารเกาหลีประสบความสำเร็จ คุณนพวินท์ ระบุว่า นอกจากกลยุทธ์การแข่งขันของแต่ละร้านแล้ว การรักษาคุณภาพอาหารยังเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกันแบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ทันรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย

“ถ้าให้เปรียบเทียบตลาดร้านอาหารเกาหลีตอนนี้เหมือนกับร้านอาหารญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน บางคนไม่ชอบ แต่คนที่ชอบก็มี ซึ่งเราเชื่อว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น ดังนั้นหากจะทำให้ร้านอาหารเกาหลีอยู่ในระดับแมส เรามองว่าจะต้องสื่อสารการตลาดมากขึ้น โดยเริ่มดึงดูดจากคนใกล้ตัว คนที่ชอบอาหารเกาหลีก่อน แล้วค่อยเจาะกลุ่มคนที่รู้จักเกาหลีแต่ไม่ได้ชื่นชอบอาหารเกาหลี เพื่อขยายฐานลูกค้าไปเรื่อยๆ” คุณนพวินท์ กล่าว

 


แชร์ :

You may also like