Blockchain ระบบโครงข่ายซึ่งมีลักษณะเครือข่ายใยแมงมุม ที่จะเข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกรรมในอนาคต สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงสถิติอื่นๆ โดยไม่มีตัวกลาง นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 22 แห่งในไทย เปิดตัว บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างระบบ Blockchain สำหรับภาคธนาคารใช้งานร่วมกัน โดยบริการแรกคือหนังสือค้ำประกัน ที่ลดความยุ่งยากในกระบวนการรับส่งเอกสาร
ขณะที่ทางฝัง เอสซีจี เป็นอีกหนึ่งธุรกิจรายใหญ่ที่ได้นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ระหว่างเอสซีจีและคู่ค้าธุรกิจ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเดิมที่มีขั้นตอนต้องตรวจสอบมากมาย ทำให้สูญเสียเวลาการทำงานในแต่ละวันค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ระบบ B2P พัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยใช้ Corda for Enterprise ของบริษัท R3 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ ใช้กันอย่างแพร่หลายในองค์กรชั้นนำต่างๆ เช่น โครงการอินทนนท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการทำ Digital Transformation หรือการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่าง “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ซึ่งเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินชั้นนำ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเริ่มใช้งานแพลตฟอร์ม B2P กับคู่ธุรกิจกว่า 240 ราย ที่ทำรายการจัดซื้อจัดจ้าง (Purchase Order) ประเภทวัตถุดิบ (Raw Materials) วัสดุสิ้นเปลือง (Supply) วัสดุอะไหล่ (Spare Part) และการให้บริการ (Service)
ลดเวลา 56,000 นาทีต่อวัน
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม B2P ช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน ได้กว่าร้อยละ 50 เหลือเฉลี่ย 35 นาที จาก 70 นาทีต่อรายการ จากการลดขั้นตอนในการรับ-ส่งข้อมูลและการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ทำให้สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการทำรายการตลอดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อวันได้ 56,000 นาที อ้างอิงจากปริมาณรายการต่อวันเฉลี่ย 1,600 รายการหากมีคู่ธุรกิจเข้าใช้งานแพลตฟอร์มตามแผน
รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนต่อรายการได้ร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิม และทำให้การทำงานมีความกระชับและคล่องตัว (Lean Process) มากขึ้น จึงสามารถเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาทักษะให้สามารถทำงานอื่นที่มีคุณค่ากับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้
รวดเร็ว ปลอดภัย สร้างอีโคซิสเทม ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คู่ธุรกิจยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการใช้งานแพลตฟอร์ม B2P กับเอสซีจี เพราะทำให้สามารถตรวจสอบสถานะของรายการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมทั้งได้รับชำระเงินตรงตามกำหนด จากขั้นตอนการตรวจสอบรายการที่มีความรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้คู่ธุรกิจสามารถทำเรื่องขอสินเชื่อจากธนาคาร (Invoice Financing) บนระบบ B2P ได้สะดวกรวดเร็ว จึงทำให้คู่ธุรกิจเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจมากขึ้น
ถือได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวช่วยทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) สร้างอีโคซิสเทม (Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง (High Security) เนื่องจากแต่ละรายการถูกเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยและไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้องในเครือข่าย ช่วยลดความผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้น จากการที่ระบบสามารถตรวจสอบรายการในจุดต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ
โดยเอสซีจี ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับคู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษา ตั้งแต่การเริ่มต้นใช้งานไปจนถึงการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน ให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์ม B2P ได้อย่างดีที่สุด
ปัจจุบัน เอสซีจี อยู่ระหว่างการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานบนแพลตฟอร์ม B2P เพื่อขยายผลไปยังประเภทการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ โดยตั้งเป้าให้มีจำนวนคู่ธุรกิจที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม B2P 2,400 ราย ภายในปี 2563 รวมถึงศึกษากระบวนการส่วนที่เป็นการขายสินค้าและบริการของเอสซีจีให้ลูกค้าหรือผู้แทนจำหน่าย ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการส่งใบเรียกเก็บเงิน (Bill Presentment) การเก็บรวบรวมเอกสาร (Collection) และการจ่ายเงิน (Payment)
ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในมุมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ภายใต้การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ความปลอดภัย สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านการทุจริต คงความน่าเชื่อถือของข้อมูล และความแข็งแรงของระบบ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2Q0SUhR