วิกฤตขยะล้นเมืองที่เกิดควบคู่กับปัญหาขาดแคลนทรัพยากร เป็นผลจากการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่ขาดการบริหารจัดการ และการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ด้วยจำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน ในปี ค.ศ.2050 ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ขณะที่สถานการณ์ประเทศไทยในปี 2561 มีขยะเพิ่มขึ้นถึง 28 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากขาดการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะมีทรัพยากรไม่เพียงพอส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป
หลายภาคส่วนจึงร่วมกันผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและแก้ปัญหาดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ เอสซีจี ที่ได้จัดงาน “SD Symposium 10 Years : Circular Economy – Collaboration for Action” เวทีรับฟังความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภค เพื่อร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติ ผ่าน 3 กลยุทธ์ คือ การลดการใช้ทรัพยากรและยืดอายุการใช้งาน (Reduce & Durability) การพัฒนานวัตกรรมทดแทน (Upgrade & Replace) และการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Reuse & Recycle)
ต้นแบบการจัดการในโยโกฮาม่า ส่งบทเรียนการจัดการขยะถึงไทย
ภายในงานดังกล่าวประกอบด้วยหนึ่งในเวทีเสวนา นั่นคือ “Thailand waste Management Way Forward” ซึ่งเชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะมาแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการจัดการขยะในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง 5 ขั้นตอน คือ 1) การคัดแยกขยะต้นทาง (Waste Generation & Sort) ตั้งแต่ระดับครัวเรือน 2) การจัดเก็บขยะ (Waste Management) 3) การคัดแยกขยะเพื่อนำไปสร้างมูลค่าหรือรีไซเคิล (Waste Separation) 4) การบำบัดและรีไซเคิล (Treat & Recycle) และ 5) การจัดการดูแลขยะอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่สิ่งแวดล้อม แม่น้ำ และทะเล (Environment / Ocean Clean-up)
โดย Gen Takahashi General Manager, Oversea Administration Department, JFE Engineering Corporation องค์กรที่ช่วยภาครัฐบริหารจัดการขยะที่เคยล้นเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 – 2014 ที่สามารถลดปริมาณขยะได้ถึงร้อยละ 43.2 จนกลายเป็นเมืองต้นแบบที่น่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะในไทยให้เป็นรูปธรรมได้ โดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้ง
3 กลยุทธ์ปลุกสำนึกผู้บริโภค ควบคู่ระบบคัดแยกขยะต้นทาง
วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste Project ตัวแทนผู้บริโภคต้นทางที่ทำให้เกิดขยะ มองปัญหาขยะในปัจจุบันว่า เกิดจากการบริโภคโดยผู้ผลิตที่สร้างขยะในชีวิตประจำวันขาดความเข้าใจในการคัดแยกขยะ รวมถึงขาดระบบการคัดแยกขยะที่ดี การแก้ไขปัญหาจึงต้องปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่วางระบบการคัดแยกขยะ รวมไปถึงบังคับใช้บทลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งหากทำได้จริงจะสร้างคุณค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจและสังคม
“ปัญหาขยะเกิดจากระบบและความเข้าใจของผู้บริโภค ภาคการศึกษาไม่เคยสอนเรื่องการคัดแยกขยะ ทุกอย่างทิ้งรวมกัน ทุกคนจึงมีส่วนเพิ่มขยะในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ว่าขยะนำไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าได้” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องมาจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่บังคับให้คนเปลี่ยนได้มากที่สุด คือ บรรทัดฐานของสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำ (Social Norm) แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องใช้การบังคับทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทุกแนวทางต้องทำไปพร้อมกันจึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร
สร้างแรงจูงใจธุรกิจจัดเก็บขยะสู่ห่วงโซ่คุณค่า
กมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนฝ่ายจัดเก็บขยะ ซึ่งมี 2 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ภาคเอกชนที่พัฒนาโครงการ และกลุ่มที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นอาชีพ อาทิ กทม. และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบท.) ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า ต้นเหตุของขยะล้นเมืองเกิดจากผู้ใช้ที่ขาดความรู้และระบบการจัดเก็บขยะที่มีความยุ่งยากซับซ้อน หากผู้บริโภคเข้าใจกระบวนการนำไปแปรรูปปลายทางน่าจะทำให้มีการคัดแยกและสามารถจัดเก็บวัสดุนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันควรเพิ่มแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ อาทิ การลุ้นรางวัล และส่งเสริมธุรกิจจัดเก็บขยะ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการนำขยะไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปั้นแอปฯ วอร์รูม ศูนย์บริหารซัพพลายเชน มาตรฐานจัดซื้อ-จัดแยกขยะเป็นธรรม
วรกิจ เมืองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด ตัวแทนฝ่ายคัดแยกขยะ มองว่าปัญหาการคัดแยกขยะเกิดจากการตั้งราคาขยะที่ไม่เป็นธรรม และสินค้าบางกลุ่มที่มีกระบวนการคัดแยกที่ยุ่งยาก ค่าขนส่งสูง แต่ราคาต่ำ ไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดการเพิ่มขยะ อีกทั้งผู้ที่ทำธุรกิจแยกขยะบางส่วนยังขาดจิตสำนึก มุ่งหวังเพียงรายได้ ขาดความรู้และมาตรฐานการจัดเก็บ ขาดเครื่องมือจัดการขยะ รวมถึงมีบุคลากรไม่เพียงพอ
“ทุกคนผลักภาระให้ภาครัฐ ไม่หาทางออกร่วมกันทั้งระบบ ทั้งที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่การสร้างต้นทางการคัดแยกขยะ จนถึงการจัดเก็บ การคัดแยกประเภทและการรีไซเคิล รวมถึงการตั้งราคารับซื้อที่เป็นธรรม และมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”
กลุ่มธุรกิจของเขาจึงพัฒนาแอปพลิเคชันนำเสนอข้อมูลการจัดการขยะแบบองค์รวม ที่มีทั้งราคารับซื้อวัสดุเป็นราคากลางทั่วประเทศ พร้อมช่วยกลุ่ม อบท. บริหารจัดการขยะในชุมชน ผ่านศูนย์กลาง (วอร์รูม) จัดการปริมาณขยะในพื้นที่ และยังจับคู่ภาคเอกชนที่ต้องการทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) กับชุมชน
เติมองค์ความรู้ปั้นธุรกิจรีไซเคิล
บุรินทร์ ตั้งศิลปโอฬาร ผู้จัดการงานพัฒนาโครงการ Suez (South East Asia) Limited ตัวแทนฝ่ายบำบัดและรีไซเคิล มีความเห็นว่า ปัญหาขยะเกิดจากการไม่สมดุลของความต้องการ (Demand) และการผลิต (Supply) ซึ่งหากมีปริมาณขยะมากแต่ไม่มีผู้รับซื้อนำไปผลิตสินค้า และภาครัฐไม่มีมาตรการกระตุ้นสร้างการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งซัพพลายเชนเพื่อส่งเสริมการนำขยะมารีไซเคิล การจัดการขยะก็จะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลาดการผลิตวัสดุรีไซเคิลก็ไม่เติบโต นักลงทุนยังไม่มั่นใจในการลงทุนและคุณภาพ เพราะการคัดแยกขยะยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการปนเปื้อนไปสู่วัสดุ จึงต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
การที่ปัจจุบันเราไม่สามารถนำวัสดุมารีไซเคิลได้ทั้งร้อยละ 100 เพราะมีการสูญเสียร้อยละ 10-20 เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาเศษขยะพลาสติกในทะเล เพราะผู้ประกอบการรีไซเคิลไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนจัดการขยะปนเปื้อนที่ยุ่งยากก่อนปล่อยสู่ทะเล อีกทั้งภาครัฐยังขาดความเข้าใจธุรกิจรีไซเคิล ทำให้การลงทุนได้รับใบอนุญาตและการส่งเสริมการลงทุนล่าช้า จึงควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย และการวางมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการการเรียนรู้และถ่ายทอดการรีไซเคิลในประเทศไทย
สร้างแรงจูงใจตามบริบทสังคม
ด้าน ดร.จิตราภรณ์ ฟักโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนฝ่ายการจัดการดูแลขยะอย่างถูกต้อง มองปัญหาขยะในทะเลว่ากำลังเป็นวิกฤตที่ใกล้ตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเสียชีวิตของพะยูน “มาเรียม” เพราะทุกคนต่างมองว่าทะเลกว้างใหญ่ จึงทิ้งขยะจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำในท้องทะเล ทำให้เกิดเป็นปัญหาที่ยากต่อการจัดการ ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ระบบการศึกษา ให้ลดการสร้างขยะและแยกขยะเป็นพื้นฐาน ส่งเสริมให้คนตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ปลายทางสุดท้ายที่รับขยะคือแม่น้ำและทะเล โดยการสร้างแรงจูงใจต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม เพราะบางสังคมสามารถจูงใจด้วยผลตอบแทนแต่บางสังคมอาจจะใช้ไม่ได้ผล
เวทีเสวนาดังกล่าว ยังได้ระดมความเห็นของผู้เข้าร่วมฟังกว่า 700 คน เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ เป็นแนวทางการบริหารจัดการขยะ 5 ด้าน ประกอบด้วย การเกิดขยะต้นทางของผู้บริโภค ควรบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการทิ้งขยะอย่างเคร่งครัด การจัดเก็บขยะ ควรมีการจัดเก็บอย่างครบวงจร เช่น กำหนดสัญลักษณ์สี วัน เวลา และจัดเก็บตามประเภท การคัดแยกขยะ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการจัดการอย่างบูรณาการ การบำบัดและรีไซเคิล ควรผลักดันภาคธุรกิจให้ผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการซากสินค้า และสุดท้าย การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำ ควรบังคับใช้กฎหมายห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างเคร่งครัดและมีบทลงโทษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะชุมชนใกล้แหล่งน้ำและแหล่งท่องเที่ยว
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมของงาน SD Symposium ได้ที่ http://bit.ly/31X1QGd หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel