แต่ละครอบครัวย่อมมีวิธีบริหารจัดการความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ทุกคนในบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแตกต่างกันไปตามแนวทางของแต่ละบ้าน ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดู พื้นฐานนิสัยใจคอของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่า การบริหารจัดการครอบครัวใหญ่ที่จำนวนสมาชิกมีมาก ย่อมมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าครอบครัวเล็กๆ ที่มีอยู่กันเพียงไม่กี่คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากครอบครัวที่เป็น Family Business จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในการบริหารจัดการ Asset & Property หรือ “การบริหารกงสี” ให้ยิ่งซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์ทั้ง 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของครอบครัว (Family) มิติของการบริหารธุรกิจ (Business) รวมทั้งในฐานะของเจ้าของธุรกิจ (Ownership)
การเขียนธรรมนูญครอบครัว (Family Council) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ Family Business พึงควรจะต้องมี เพื่อเป็นการกำหนดบทบาท หน้าที่ กฎระเบียบ รวมไปถึงแจ้งถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะได้รับ เพื่อป้องกันความขัดแย้ง และข้อพิพาท ซึ่งหากไม่ทำให้ชัดเจนเพื่อหาทางป้องกันข้อขัดแย้งไว้ก่อน สุดท้ายแล้ว เรื่องภายในครอบครัวอาจจะส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จุดเริ่มต้น “ธรรมนูญเซ็นทรัล”
“อาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป” เป็นหนึ่งองค์กรที่มีการเขียนธรรมนูญครอบครัวไว้อย่างชัดเจน จากจุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวในช่วงแรกด้วยการนำเข้าแมกกาซีนจากต่างประเทศเข้ามาขายในช่วงสงครามโลก ก่อนจะขยายมาทำเทรดดิ้งนำเข้าสินค้าเบ็ดเตล็ดจากต่างประเทศ จนปัจจุบันธุรกิจยืนยาวมากว่า 7 ทศวรรษ แตกแขนงธุรกิจให้เติบโตออกไปได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมถึง 9 หน่วยธุรกิจ รวมแล้วหลายสิบแบรนด์ ขณะที่สเกลของธุรกิจก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการในปีที่ผ่านมามียอดขายราว 4 แสนล้านบาท ขณะที่ตระกูลจิราธิวัฒน์ก็เป็นหนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศอีกด้วย
ในส่วนของสมาชิกครอบครัว ปัจจุบันตระกูล “จิราธิวัฒน์” มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้นถึง 232 คน (ข้อมูลถึง 20 กันยายน 2562) และมีคนแตกต่างหลายเจนเนอเรชั่นรวมกันอยู่ถึง 5 รุ่น ด้วยอายุที่ต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่มากที่สุด คือ 91 ปี ไปจนถึงยังไม่ครบขวบดี การศึกษาธรรมนูญครอบครัวของบ้านจิราธิวัฒน์ จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ถึงวิธีในการปกครองสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการระงับข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่ามีวิธีบริหารจัดการกันอย่างไร
ข้อมูลจาก คุณเอ๋ สุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล หนึ่งในทายาทรุ่นที่สาม ของเซ็นทรัลกรุ๊ป และถือเป็น ทายาทคนแรกที่ไม่ได้ใช้นามสกุล “จิราธิวัฒน์” เนื่องจากคุณเอ๋เป็นหลานตาคนแรกของตระกูล เพราะคุณแม่เป็นลูกสาวคนที่ 5 ในบรรดาลูกทั้งหมด 26 คน ของคุณเตียง จิราธิวัฒน์
คุณเอ๋ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมีธรรมนูญครอบครัวที่เขียนมาไว้แล้วราว 20 ปี เนื่องจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ใหญ่ในตระกูล ซึ่งขณะนั้นอยู่ในยุคของผู้นำองค์กรคนที่ 3 คือ คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ ที่ขึ้นเป็นผู้นำของครอบครัว ต่อจาก คุณเตียง จิราธิวัฒน์ และ คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ที่มีความตระหนักว่า หากยังบริหารธุรกิจแบบเป็นกงสี ที่รวมทุกอย่างไว้ตรงส่วนกลาง ถ้าธุรกิจล้มก็จะส่งผลต่อความเป็นอยู่และฐานะทางการเงินของครอบครัวไปทั้งหมด
จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้าง และวางบทบาทระหว่างครอบครัวและธุรกิจออกจากกัน โดยอยู่ภายใต้ 3 กรอบ ที่ต้องดูแลโดยเฉพาะการดูแลสมาชิกครอบครัวที่มีจำนวนค่อนข้างมาก จำเป็นต้องมีธรรมนูญครอบครัวหรือ Family Council เป็นตัวกำหนดกฎ ระเบียบต่างๆ สิ่งที่สามารถทำได้และไม่ควรทำ โดยเฉพาะบทบาทของสมาชิกแต่ละคนว่าสามารถเข้าไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจได้หรือไม่อย่างไร การกำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน โดยมี อาจารย์วิโรจน์ ภู่ตระกูล หนึ่งในสุดยอดนักการตลาดมืออาชีพระดับประเทศ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับกลุ่มเซ็นทรัลในขณะนั้น เป็นผู้ช่วยเขียนธรรมนูญฉบับนี้ให้แก่ครอบครัวจิราธิวัฒน์ จนแล้วเสร็จในปี 2001
แม้ในเชิงธุรกิจเซ็นทรัลกรุ๊ปจะทำการ Restructure เพื่อปรับโครงสร้างจากที่เคยเป็นระบบกงสีหรือการบริหารจัดการแบบครอบครัว ไปสู่ภาพของ Professional แต่ยังคงเลือกรูปแบบบริหารในลักษณะ Hybrid ที่เน้นความเป็นมืออาชีพแต่ก็ยังคงยึดถือส่วนดีของ Family Business ผสมผสานเข้าไปด้วย โดยจะมี Head ที่คอยดูแลทั้ง 3 กรอบ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นครอบครัว กรอบของธุรกิจ และในฐานะเจ้าของธุรกิจ
โดยในกรอบ Family จะมีสภาครอบครัว มาคอยกำกับดูแล เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกทั้งที่เป็นจิราธิวัฒน์ และเขย – สะใภ้ รวม 232 คน ซึ่งมีคณะกรรมการใน Family Council รวม 14 คน คัดเลือกจากสมาชิกอาวุโสของตระกูล รวมทั้งตัวแทนสมาชิกจากแต่ละสายของครอบครัว ส่วนในฐานะ Ownership จะมีการตั้ง CG Board ขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิของ Shareholder รวมทั้งการพิจารณาการลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่ม ที่ต้องใช้เงินเกินกว่า 3 พันล้านบาทขึ้นไป มีคณะกรรมการใน CG Board รวม 8-19 คน โดยมี Head ทั้งในส่วนของ Family Council และ CG Board คือ คุณสุทธิชัย จิราธิวัฒน์
ขณะที่กรอบของการบริหารธุรกิจ จะมี Executive Committee เป็นผู้ดูแล มีไม่ต่ำกว่า 6 คน ที่คัดเลือกมาจาก CEO, Vice-Chairman, CFO และบอร์ดบริหารด้านต่างๆ ของแต่ละธุรกิจ เพื่อดูแลรับผิดชอบการขับเคลื่อนและขยายธุรกิจให้เติบโต โดยมีอำนาจสามารถเคาะการลงทุนได้อย่างอิสระ ภายใต้วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท แต่ต้องแจ้งให้ทาง CG Board รับทราบด้วย ซึ่งปัจจุบัน CG มีบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 4 กลุ่ม คือ Centel (กลุ่มธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร), CPN (กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์), COL (กลุ่มธุรกิจเครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์) และ CRC (กลุ่มธุรกิจค้าปลีก) ที่กำลังจะเข้าตลาดในเดือน ก.พ. ปีหน้า ขณะที่ CEO ของทั้ง 4 กลุ่มนี้ มีเพียง Centel ที่มี CEO เป็นจิราธิวัฒน์ นั่นคือ คุณธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ขณะที่ Head ของฝ่าย ExCom คือ คุณทศ จิราธิวัฒน์ นั่นเอง
“การ Restructure ธุรกิจของกลุ่มจิราธิวัฒน์ เพื่อขยับจากการเป็น Family Business ไปสู่ธุรกิจที่บริหารแบบมืออาชีพ เพื่อเป้าประสงค์ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวซึ่งจะบั่นทอนความรัก และความเจริญก้าวหน้าในอนาคต รวมไปถึงความลงตัวในการจัดการระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวและการทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจขยับไปสู่ความเป็นมืออาชีพ แต่ยังมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้กับคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ ให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคต”
จิราธิวัฒน์ เขียนอะไรในธรรมนูญครอบครัว?
ความแตกต่างระหว่างครอบครัวทั่วไปกับครอบครัวที่เป็น Family Business โดยเฉพาะครอบครัวใหญ่ที่มีคนมากถึง 232 คน การ Define ว่าใครเป็นใครในครอบครัว ใครอยู่เจนเนอเรชั่นไหน มีความสัมพันธ์ตามลำดับขั้นไล่เรียงมาอย่างไรนั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสภาครอบครัวจิราธิวัฒน์ จะมีการกำหนดรายละเอียด กฏระเบียบ หรือข้อตกลงต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะระบุไว้ค่อนข้างละเอียด โดยคุณเอ๋ ให้รายละเอียดบางส่วนไว้ ดังต่อไปนี้
1. การแบ่ง Shareholding สำหรับพาร์ทของ Ownership ผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลโดยตรงจะอยู่ในเจน 2 หรือคนที่เป็นลูกคุณเตียงโดยตรง ซึ่งมี 26 คนเท่านั้น (ปัจจุบันเหลือ 23 คน โดยทายาทในแต่ละสายจะเป็นผู้รับประโยชน์ต่อ) โดยสมาชิกครอบครัวทั้ง 3 สาย จะได้รับหุ้นในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งหลังจากเริ่ม Restructure ธุรกิจในปี 1997 ใช้เวลา 3-4 ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2001 แต่เริ่มมีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้นับจากปี 2000 เป็นปีแรก
2. ภายในบ้านจิราธิวัฒน์จะมีการแบ่งกลุ่ม เพื่อจัดหมวดหมู่สมาชิกไว้อย่างชัดเจน ทั้งกลุ่ม Born Chirathivat หรือคนในจิราธิวัฒน์ ที่ปัจจุบันมี 173 คน กลุ่มเขย-สะใภ้ 59 คน และมีจิราธิวัฒน์ที่ทำงานอยู่ในเซ็นทรัลกรุ๊ป 57 คน แต่ไม่อนุญาตให้เขยหรือสะใภ้เข้ามาทำงานในเครือ เนื่องจากมองว่าแต่ละบ้านได้รับการเลี้ยงดู หรือเติบโตมาแตกต่างกัน จึงเลือกที่จะป้องกันปัญหาไว้ก่อนตั้งแต่แรก
3. มีการจัดทำฐานข้อมูลของสมาชิกในครอบครัวไว้อย่างชัดเจน ทั้งการแยกสมาชิกทั้งหมดออกเป็นแต่ละเจน เพื่อดูจำนวนในแต่ละเจนว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ Gap เรื่องของอายุในแต่ละเจนเป็นอย่างไรบ้าง โดยคนในบ้านจะสนิทสนมกันตาม Age Group หรือกลุ่มที่โตมาในวัยไล่ๆ กัน แทนที่จะดูตาม Gen เพราะมีปัญหาเรื่องของแก็ปอายุที่แตกต่างกันอย่างมากแม้ว่าจะอยู่ Gen เดียวกันก็ตาม รวมทั้งการพิจารณาเพื่อขยับตำแหน่งงานในเครือก็จะดูตาม Age Group และประสบการณ์ รวมทั้ง Performance เป็นสำคัญ
4. ในมิติของการดูแล Basic Benefit หรือสวัสดิการต่างๆ จะมีการใช้โค้ดสีมากำกับ เพื่อให้แต่ละคนรับทราบและเข้าใจถึงขอบเขตของสิทธิที่ตัวเองมี ซึ่งจะช่วยให้บริหารจัดการได้ง่าย ซึ่งในข้อนี้ ฝั่งจิราธิวัฒน์ที่เป็นผู้หญิงอาจจะมีสิทธิในบางเรื่องบางอย่างน้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในแง่ของการถ่ายทอดสิทธิสวัสดิการไปยังเจนเนอเรชั่นถัดไป หรือในแง่ของการถือหุ้นที่อาจจะลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและยอมรับร่วมกัน
5. ครอบครัวจิราธิวัฒน์ จะมี Private Website เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ทั้งสิทธิ หรือบทบาทที่สมาชิกแต่ละกลุ่มได้รับตามที่จัดสรรไว้ รวมทั้งขอบเขตที่ทางสภาครอบครัว จะให้การดูแลสมาชิกทุกคน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การแต่งงาน รวมไปถึงการจัดการงานศพ หรือครอบครัวไหนมีวาระพิเศษที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมก็สามารถเข้ามาที่ Family Council ได้
6. เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ที่กลมเกลียวและแน่นแฟ้นระหว่างครอบครัวเอาไว้ ครอบครัวจิราธิวัฒน์จะกำหนดวาระที่สมาชิกครอบครัวต้องมาพบปะกัน โดยจะกำหนดไว้ชัดเจนทั้งระยะเวลา สถานที่ และวาระต่างๆ ทุกปี โดยในพาร์ทของ Family จะพบปะกันทุกไตรมาสที่บ้านศาลาแดง ซึ่งเป็นบ้านที่คุณตาคุณยายอาศัยอยู่ โดยจะมาพบกันใน 2 เทศกาลสำคัญ คือ วันตรุษจีน เพื่อเข้ามาทำความเคารพและทักทายผู้ใหญ่ และเป็นโอกาสในการแนะนำสมาชิกใหม่ เช่น บางคนแต่งงาน ก็จะถือโอกาสพาสะใภ้ใหม่มาแนะนำทำความรู้จักและคุ้นเคยกัน ส่วนอีกหนึ่งเทศกาลคือวันคริสมาสต์ ที่จะเน้นการเฉลิมฉลอง การพาเด็กๆ ในครอบครัวให้มาใกล้ชิด สนิมสนมกัน มีการเล่นเกม หรือแสดงโชว์ต่างๆ ร่วมกัน
7. นอกจากการพบปะในช่วงเทศกาลสำคัญแล้ว สมาชิกครอบครัวจะมีการจัด Chirathivat MIM (Management Information Meeting) อีกปีละ 2 ครั้ง ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เช่นเดียวกับการ Outing ที่ธุรกิจทำกัน โดยจะประชุมสมาชิกในครอบครัวเพื่อสรุปภาพรวมและทิศทางในการทำธุรกิจให้กับสมาชิกในครอบครัวได้รับฟัง โดยเฮดในฝั่ง ExCom คือ คุณทศ จิราธิวัฒน์ จะเป็นผู้มาอัพเดทเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัว ให้สมาชิกทุกคนได้รับรู้อย่างทั่วถึงกัน เนื่องจาก ยังมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในเซ็นทรัลกรุ๊ป ก็จะได้มีโอกาสได้รับทราบถึงข้อมูลธุรกิจต่างๆ ของทางครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน
8. แม้ธรรมนูญครอบครัวจะเป็นเหมือนกฎ ระเบียบ ที่ใช้ดูแลสมาชิกในบ้านแต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน โดยจะมีการ Revise ทุกๆ 2 ปี หรือเมื่อครอบครัวมีเคสบางเรื่องให้พูดคุยตกลงกัน ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือข้อตกลงให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับแต่ละฝ่ายมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการต่างๆ เช่น ยกเลิกสวัสดิการเรื่องของระบบกงสี จากที่เคยอนุญาตให้สมาชิกในครอบครัว สามารถไปเลือกของที่ต้องการจากหน้าร้านในเครือได้ฟรี เพียงแค่ลงบันทึกเอกสารไว้ ก็ค่อยๆ ปรับเป็นลด 50% จนปัจจุบันยกเลิกสวัสดิการนี้ไปแล้ว รวมทั้งการแต่งงานของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ดูแลแล้ว รวมทั้งเรื่องของการศึกษา เพราะมองว่าแต่ละครอบครัวมีกำลังมากพอรวมทั้งจากเงินปันผล หรือมีรายได้ที่ดูแลตัวเองได้ก็ค่อยๆ ยกเลิกสวัสดิการเหล่านี้ลง
9. สำหรับการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสวัสดิการในบางเรื่อง เช่น เรื่องการศึกษา มาจากความแตกต่างในการเลือกโรงเรียนในปัจจุบัน ที่มีตัวเลือกหลากหลาย ขณะที่บางคนเลือกเรียนเมืองนอก บางคนเรียนในประเทศ ค่าเทอมจึงมีตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน ประกอบกับแต่ละครอบครัวมีความสามารถในการดูแลและซัพพอร์ตบุตรหลานของตัวเองได้มากพอแล้ว จึงยกเลิกการให้สวัสดิการในเรื่องนี้ แต่จะมีการสนับสนุนสมาชิกที่มีผลการเรียนที่ดี ก็จะมีทุนการศึกษาพิเศษมอบให้ หรือในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ก็จะมีความต่างในเรื่องของการเลือกโรงพยาบาล เลือกห้องพัก ซึ่งทางครอบครัวก็จะมีการกำหนดความช่วยเหลือไว้ให้เป็นเพดาน ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายที่เกินไปจากนั้น แต่ละคนก็จะต้องรับผิดชอบส่วนต่างเหล่านั้นด้วยตัวเอง
“ในยุคเจนเนอเรชั่นก่อนหน้า ผู้ใหญ่ในบ้านจะกำหนดให้เด็กๆ ทุกคน เรียนในโรงเรียนเดียวกันเลย เช่น เด็กผู้หญิงก็จะเรียนที่มาแตร์ ส่วนผู้ชายก็จะเรียนอัสสัมชัญ เพื่อให้ทุกคนเติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน มีเพื่อนในแวดวงเดียวกัน มีการปลูกฝังวิธีคิด หรือการอบรมไม่แตกต่างกันมาก รวมทั้งยังง่ายที่ผู้ใหญ่จะดูแลลูกหลาน เช่น เวลาไปส่งโรงเรียน ก็จะใช้รถคันเดียวกันในการไปส่ง รวมทั้งให้พี่น้องช่วยดูแลกันในระหว่างที่อยู่โรงเรียน แต่ปัจจุบันมีตัวเลือกมากขึ้น ทั้งโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนชั้นนำต่างๆ เข้ามามาก ทำให้แต่ละบ้านจะเลือกโรงเรียนที่หลากหลายมากขึ้น”
10. ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัว มีการทำผิดกฏต่างๆ ของบ้าน ก็จะมีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย เพื่อรักษาความแข็งแรงและศักดิ์สิทธิ์ของธรรมนูญครอบครัวเอาไว้ โดยบทลงโทษจะมีทั้งการเรียกมาเพื่อตักเตือน ให้ปรับพฤติกรรม แต่หากยังทำผิดซ้ำๆ บ่อยๆ ก็จะมีการทำทัณฑ์บน มีการตัดเงินสวัสดิการ และหากยังไม่มีการปรับปรุง หรือยังคงทำผิดมากเกินกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ก็จะมีการใช้มาตรการสูงสุด เช่น ตัดเงินสวัสดิการที่เคยช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยแล้วเช่นกัน
11. นอกจากเรื่องของกฎระเบียบ หรือเรื่องของการให้ความช่วยเหลือเพื่อดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัวแล้ว ทางครอบครัวจิราธิวัฒน์ ยังมีข้อคิด ข้อควรปฏิบัติ รวมทั้งสิ่งที่พึงละเว้น ที่ผู้ใหญ่ในตระกูลอย่างคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ใช้ในการสั่งสอนลูกหลาน ที่แม้ว่าจะเสียชีวิตมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็สามารถส่งต่อคำสั่งสอนจากบรรพบุรุษมายังลูกหลานในเจอเนเรชั่นถัดๆ มา สำหรับใช้เป็นหลักยึดถือและปฏิบัติมาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว, ประหยัด, ขยัน มานะบากบั่น และซื่อสัตย์, มีความยุติธรรม, รับผิดชอบต่อหน้าที่, มีความต่อเนื่องของผู้บริหารทั้งคนในและคนนอก รวมทั้งการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่
รวมท้ังสิ่งที่พยายามบอกให้ลูกหลานหลีกเลี่ยงไม่ควรทำ เช่น การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ,ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ เอาแต่ได้, อวดเก่งแต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น, เกียจคร้าน, โกง ปากกับใจไม่ตรงกัน, ไม่ฟังความเห็นผู้อื่น, ดื้อรั้น สติปัญญาน้อย
“ครอบครัวเราจะให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัวอย่างมาก เช่น พยายามให้แต่ละครอบครัวอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน หรืออยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยเฉพาะในรุ่นถัดมาก็ยังคงสนิทสนมคุ้นเคย และรู้จักรู้ใจกัน ซึ่งนอกจากมิติของการรักษาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว แต่ยังทำให้ทราบถึงความถนัด ความชอบ ความเก่งของแต่ละคน และสามารถต่อยอดไปสู่การดูแลธุรกิจครอบครัวได้ตามความถนัดของตัวเอง รวมทั้งเรื่องของความขยันที่ผู้ใหญ่จะเน้นกับสมาชิกทุกคน เพราะถ้าไม่ขยันก็ยากที่ธุรกิจจะเติบโต ทำให้ไม่มีความสามารถในการดูแลสมาชิกทุกคนให้อยู่ได้อย่างมีความสุขเช่นกัน”
ทายาทรุ่นสามแห่งจิราธิวัฒน์ ยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ความสำเร็จในการบริหารจัดการ Family Business ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ส่ิงสำคัญอยู่ที่การคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก การมองถึงประโยชน์ของครอบครัวเป็นเรื่องสูงสุด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างกัน เพราะหลายครั้งที่ทุกคนในครอบครัวต่างมีความเห็นของตัวเอง ขณะที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็เปิดโอกาสและให้อิสระทางความคิดแก่สมาชิกทุกคน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือข้อพิพาทใดๆ เกิดขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานของความรัก และการมองถึงการเติบโตและความแข็งแกร่งของครอบครัวเป็นที่ตั้งก็จะได้โซลูชั่นส์ที่ดีเป็นทางออกได้อยู่เสมอ
Source : งานสัมมนาทายาทรุ่นสอง โดย The Cloud