หลังเผยโฉมสู่สายตาชาวโลกมาครบ 1 ปี วันนี้ คุณชฎาทิพ จูตระกูล หัวเรือใหญ่ ไอคอนสยาม กล้าพูดได้แล้วว่า “ไอคอนสยาม” กลายเป็น “Game Changer Destination” ที่สำคัญ ที่สามารถสร้างศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองฝั่งธนบุรีได้สำเร็จ มาดู 10 สิ่งที่เกิดขึ้นกับไอคอนสยามในรอบปีที่ผ่านมา
1.โครงการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุด
ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน ในวันที่ 3 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ “สยามพิวรรธน์” “เครือเจริญโภคภัณฑ์” และ “แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์” เผยถึงความร่วมมือในการก่อสร้างอภิมหาโปรเจกต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม” ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 55,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลงทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตการเมือง และความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจ
แต่แม่ทัพหญิงแกร่งแห่งกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ “คุณชฎาทิพ จูตระกูล” กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ที่ยอมรับว่า “การพาธุรกิจข้ามแม่น้ำมาฝั่งธนฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย” แต่ก็เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนจนสามารถก่อสร้างได้สำเร็จ พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 300,000 อัตรา
2.ดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเปิดช็อปใหม่ 5,000 ล้าน
ไอคอนสยามถือเป็น Game Changer Destination ที่สามารถสร้างศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยว ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรีจนกลายเป็นเมืองคู่แฝดสำคัญของกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ โดยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านการลงทุนเปิดธุรกิจร้านต่างๆ ในโครงการ
ไม่ว่าจะเป็น Apple Store สาขาแรกในประเทศไทย รวมถึง Luxury Brand ต่างๆ บางแบรนด์ที่เปิดในไทยอยู่แล้ว ก็มาตั้งสาขาแฟล็กชิฟสโตร์ หลังจากผ่านมาครบ 1 ปี หลายร้านสามารถทำยอดขายเป็นอันดับ 2 รองจากสยามพารากอน แต่มีร้านที่ขายดีอันดับ 1 อย่าง JD Sports
แม้ห้างญี่ปุ่น อายุ 180 ปี สยาม ทาคาชิมายะ ที่มาเปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก รายงานผลประกอบการสาขาในไทย “ขาดทุน” ในปีแรก เรื่องนี้ในมุมคุณชฎาทิพ ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่ลงทุนกว่า 2,200 ล้านบาท เป็นเรื่องปกติที่ต้องใช้ระยะเวลาคืนทุน
ปัจจุบันยอดจองเช่าพื้นที่ร้านค้าภายในไอคอนเต็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีแบรนด์ที่ต้องการเข้ามาเปิดธุรกิจในพื้นที่อีกกว่า 100 แบรนด์ที่อยู่ใน Waiting List
3.กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวฝั่งธนบุรี
การเปิดของไอคอนสยามยังสร้างผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจไปยังธุรกิจอื่นทุกประเภทและทุกระดับ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยาเติบโตขึ้นกว่า 20% จากการลงทุนของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โรงแรมระดับ 5 ดาว โครงการมิกซ์ยูส รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร เรือนำเที่ยว เรือดินเนอร์กลางคืน ฯลฯ
4.มูลค่าที่ดินราคาสูงขึ้น “เท่าตัว”
ในอดีตพื้นที่ย่านคลองสานและเจริญนคร อยู่นอกสายตานักพัฒนาในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นทำเลทอง ที่ดีเวลลอปเปอร์และนักลงทุนต่างให้ความสนใจลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯ ฝั่งธนบุรี นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการไอคอนสยามจนถึงปัจจุบัน มูลค่าที่ดินบริเวณถนนเจริญนครสูงขึ้นเท่าตัว จากราคาตารางวาละ 150,000-250,000 ขึ้นเป็นตารางวาละ 300,000-450,000 บาท
ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัย มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ฝั่งธนบุรีปีที่ผ่านมา 12 โครงการ จำนวน 6,509 ยูนิต และในปีนี้มี 8 โครงการ จำนวน 5,538 ยูนิต ถ้าพิจารณาเฉพาะคอนโดที่อยู่ใกล้กับไอคอนสยาม จะมีอยู่ 3 โครงการ จำนวน 1,508 ยูนิต โดยมียอดขายรวมเฉลี่ย 95% แสดงให้เห็นถึงดีมานด์ของผู้ซื้อในย่านดังกล่าว และจากนักลงทุนย่านอื่นที่มองเห็นศักยภาพการเติบโต และเป็นทำเลที่เหมาะกับการอยู่อาศัย
5. เชื่อมระบบการเดินทาง รถ ราง เรือ รอบแม่น้ำเจ้าพระยา
ไอคอนสยาม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง “รถ–ราง–เรือ” เชื่อมการเดินทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่ารอบปีที่ผ่านมาการสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้น 10-15% หรือประมาณวันละ 10,000 คน
ที่สำคัญคือระบบราง “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ที่ไอคอนสยามร่วมสนับสนุนเงินทุน 2,000 ล้านบาท เตรียมให้บริการกลางปี 2563 รถไฟฟ้าสายนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านถนนเจริญนครไปสิ้นสุดที่โรงพยาบาลตากสินรวม 3 สถานี และในอนาคตจะเป็น Feeder Line ที่เชื่อมเข้ากับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไอคอนสยาม และธุรกิจโดยรอบคึกคักมากขึ้น เพราะครอบคลุมการเดินทางทั้งระบบ คาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการไอคอนสยาม เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 150,000-200,000 คน
6. โกยนักท่องเที่ยวต่างชาติ จับจ่าย 1 หมื่นบาทต่อหัว
จากสถิติในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากเป็นวันปกติมีผู้เข้ามาใช้บริการไอคอนสยามเฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน แต่ถ้าหากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างคืนเคาท์ดาวน์ วันปีใหม่ ลอยกระทง หรือสงกรานต์ จำนวนผู้เข้าใช้บริการจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 200,000-350,000 รายต่อวัน โดยคิดเป็นสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35% กลุ่มหลักจากจีน, เกาหลี, ไต้หวัน, อินเดีย และกลุ่ม CLMV
ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนอยู่ที่ราว 10,000-15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับสินค้าในกลุ่ม Luxury Brand ฝั่งของแบรนด์ที่เปิดช็อปในไอคอนสยาม ได้ฐานลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 40%
7. ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE
กรุงเทพฯ กำลังก้าวไปสู่การเป็น MICE Hub หรือศูนย์กลางของการจัดประชุมนานาชาติ และการแสดงชั้นนำของโลก เพื่อรองรับการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE)ในประเทศ
ไอคอนสยาม เตรียมเปิด “ทรู ไอคอน ฮอลล์” ศูนย์การประชุมระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่สามารถรองรับการจัดงานประชุมได้ 2,700 ที่นั่ง โดยมียอดจองจัดประชุมเข้ามาแล้วเต็มตลอดปีหน้า จะช่วยเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 38%
ขณะเดียวกันมี “ริเวอร์ มิวเซียม แบงค็อก” พิพิธภัณฑ์มาตรฐานสูงสุดระดับสากลแห่งแรกของไทย ที่เปิดเฟสแรก “ไอคอนสยาม อาร์ท สเปซ” เวทีให้ศิลปินไทยได้มีพื้นที่แสดงผลงานไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าชมแล้วกว่า 1 แสนคน ทำให้ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการระดับสูงได้ และหลังจากนี้จะเปิดเฟสสอง “ริเวอร์ มิวเซียม ฮอลล์” พื้นที่สำหรับการจัดงานแสดงสำคัญจากทั่วโลกต่อไป
8. ยอดจองโรงแรมปลายปีเต็ม 100%
ไม่ใช่เพียงเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปก็ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแปลกใหม่เช่นกัน ดังนั้นการที่ไอคอนสยาม เป็นแม็กเน็ตสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้ “ธุรกิจโรงแรม” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับประโยชน์ด้วย ที่ผ่านมายอดจองโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเติบโต 10% โดยมีอัตราการเข้าพักของโรงแรมระดับ 5 ดาวในพื้นที่เพิ่มขึ้น 85-90%
ขณะที่ยอดจองโรงแรมในช่วงเทศกาลปีใหม่เต็ม 100% จากการที่ไอคอนสยาม เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องการมาร่วมงานเคาท์ดาวน์
9. “สุขสยาม” สร้าง Local Heroes
ไอคอนสยาม แบ่งพื้นที่ 30% จากพื้นที่ทั้งหมด 55,000 ตารางเมตร เพื่อรวบรวม Local Heros ทั้งศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก ให้มาอยู่บนพื้นที่ของ “เมืองสุขสยาม” และ “ไอคอน คราฟต์” โดยส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กจากทั่วประเทศ เข้ามามีพื้นที่ในการค้าขายและสร้างรายได้ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ สอนเทคนิคการทำการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ผ่านสุขสยามอะคาเดมี เพื่อผู้ประกอบการมีเงินทุนที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจและสินค้าได้ เพื่อเจาะตลาดนานาชาติ และต่อยอดสู่ “อีคอมเมิร์ซ” ในอนาคต
10. เพิ่มเติม 4 ร้านคอนเซปต์ใหม่
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ถึงต้นปี 2563 ไอคอนสยามได้เพิ่มเติม 4 ร้านคอนเซปต์ใหม่ เริ่มที่ Food Market แบรนด์ “เดียร์ทัมมี่” (Dear Tummy) ที่จำหน่ายวัตถุดิบอาหารจากทั่วโลก พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร (Food Artisans) นำเสนอเมนูและสินค้าในแผนกโกรเซอรี่
สวนสนุกแห่งใหม่ “ซุปเปอร์พาร์ค” จากประเทศฟินแลนด์ที่รวมเครื่องเล่นและกิจกรรมกีฬาไว้บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร
ภัตตาคารฝรั่งเศสสไตล์ Fine Dining “Blue by Alain Ducasse” จากเชฟ Alain Ducasse เจ้าของมิชลินสตาร์ 21 ดวง
ร้านกาแฟดังจากญี่ปุ่น “%ARABICA” ที่ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 44 แห่งใน 12 ประเทศทั่วโลก จะมาเปิดสาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ไอคอนสยามในเร็วๆ นี้เช่นกัน