นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง President บีอีซี เวิลด์ หรือ ช่อง 3 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 ของ “บี๋ อริยะ พนมยงค์” มืออาชีพจากธุรกิจฝั่งเทคโนโลยี ช่วงเวลาเพียง 5 เดือน ต้องเจอกับความ “ท้าทาย” ของอุตสาหกรรมสื่อ “ทีวีดิจิทัล” ตั้งแต่การตัดสินใจคืนใบอนุญาต 2 ช่อง (ช่อง 3 Family และ ช่อง 3 SD) การปรับโครงสร้าง “ลด” พนักงาน ที่ถือเป็น “จุดเจ็บปวด” ขององค์กรก่อนก้าวไปสู่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อทำให้ “ช่อง 3” กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ช่อง 3 ในวัย 49 ปี ผ่านยุครุ่งเรืองก่อนเริ่มต้นทีวีดิจิทัล ปี 2556 BEC ทำรายได้สูงสุดที่ 15,127 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) แตะระดับ 101,000 ล้านบาท เข้าสู่ปีที่ 6 ยุคทีวีดิจิทัล สำรวจมูลค่าบีอีซี ณ เดือน ต.ค.2562 อยู่ที่ 14,300 ล้านบาท ผลประกอบการที่เคยกำไรมาตลอด กลายเป็น “ขาดทุน” มาตั้งแต่ปี 2561 ที่ตัวเลข 330 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปีนี้ก็ยังขาดทุน 231 ล้านบาท
ความมั่งคั่งที่หายไปและตัวเลข “ขาดทุน” เป็นสถานการณ์ที่ “ตระกูลมาลีนนท์” ต้องการเห็น “จุดเปลี่ยน” การนำพาองค์กร “ช่อง 3” ไปสู่ Big Step ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อ Traditional ต้อง Transform โดยเลือกให้ “อริยะ พนมยงค์” มาทำหน้าที่เป็น “ผู้นำทัพ” กับภารกิจนี้
ยอมรับโจทย์ยาก “อย่างที่คิด”
“ตอนตัดสินใจมารับตำแหน่ง President บีอีซี คิดไว้แล้วว่าไม่ง่าย การทำงานช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คอนเฟิร์มความคิดก่อนมาว่า ยากอย่างที่คิดไว้จริงๆ” คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดใจหลังรับหน้าที่ President บีอีซี เวิลด์ เข้าสู่เดือนที่ 6
สิ่งที่บอกว่า “ยาก” เพราะวันนี้อุตสาหกรรมสื่อ ไม่ใช่แค่ “ทีวี” และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกเผชิญเหมือนกันหมด คือ “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอื่นอยู่ในสถานการณ์กังวลว่าจะถูกดิสรัปต์ ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อ กลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูก “ดิสรัปต์” และเรียกว่าโดนเต็มๆ แค่ปีนี้ก็จะเห็นได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์รายใหญ่ ประกาศปิดตัวหลายฉบับ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้หลายปี
การขับเคลื่อน บีอีซีและช่อง 3 วันนี้ จึงมองแค่ “ทีวี” ไม่ได้ เพราะปัญหามาจากอุตสาหกรรมสื่อมีการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้เสพคอนเทนต์แบบเดิมอีกต่อไป
แก้โจทย์ถูกดิสรัปต์
ก่อนเข้ามาร่วมงานกับ ช่อง 3 เขาเห็นสถานการณ์มาล่วงหน้าแล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและเม็ดเงินโฆษณาทีวี ที่แม้ยังครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุดของอุตสาหกรรมสื่อ แต่ก็ลดลงเช่นเดียวกับสื่อเทรดดิชั่นนอล อื่นๆ ในอัตราที่ “เร็วและแรง”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสื่อและทีวี เป็นสิ่งที่ประเมินไว้แล้ว เพราะการทำงานที่ Google ประเทศไทย และ Line ประเทศไทย คือ ฝั่งที่ ดิสรัปต์ สื่อทีวี มาก่อน จึงต้องมาแก้ไขในสิ่งที่เคยดิสรัปต์ การทำงานในอุตสาหกรรมทีวี มีความแตกต่างจากฝั่งเทคโนโลยี จึงเรียกว่าเป็น “ความยากและท้าทาย” เพราะโจทย์ คือ การมา “แก้เกม” การถูกดิสรัปต์
แต่การที่เคยอยู่ในฝั่งเทคโนโลยี ทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของ “ทีวี” ได้ชัดขึ้นว่า ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น อย่างเดียว แต่ประเด็นใหญ่ คือ การเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม “ผู้บริโภค” ที่เกิดขึ้นมานานแล้วจากการการสู่โลกอินเทอร์เน็ต
เรื่องยากทรานส์ฟอร์มธุรกิจ Traditional
อีก “ความยาก” ไม่ใช่เรื่องของ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของธุรกิจ Traditional ที่มีอายุมากว่า 40-50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3 และอีกหลายบริษัท โดยพื้นฐานแล้วแต่ละบริษัทก็ต้องปรับเปลี่ยน หรือ Transform ตัวเอง แต่หลายธุรกิจก็ยัง “หาทาง” ของตัวเองอยู่
การทรานส์ฟอร์มของบริษัทด้านเทคโนโลยี คือเปรียบได้กับการสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ทั้งหมดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ในฝั่งธุรกิจ Traditional ที่อยู่มานาน คือ มีหมู่บ้านอยู่ก่อนแล้ว การทรานส์ฟอร์มอาจต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนตรงจุดนี้จึงมีความยากกว่า เพราะคงไม่สามารถรื้อบ้านและสร้างใหม่ได้ จึงต้องค่อยๆ เปลี่ยน
“เราอยู่กับธุรกิจ องค์กร และคน ที่อยู่กันมานาน และวันหนึ่ง บอกว่าต้องเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความยาก เพราะหากเปลี่ยนได้เร็ว ทุกองค์กรก็คงเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่เราอยู่ในช่วงรอยต่อ ที่ต้องทำอย่างไรให้ทั้งองค์กร พร้อมที่จะเปลี่ยนไปด้วยกัน และเข้าใจด้วยว่าเราต้องเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ต้องทิ้งสูตรเดิมๆ ที่เคยทำสำเร็จ กล้าทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ”
ผู้บริโภค “เปลี่ยน” ทีวีต้อง “ปรับ”
การพลิกฟื้นองค์กรให้อยู่รอดจากวิกฤติได้ เป็นเรื่องของการเข้าใจ “คน” กลุ่มแรก คือ “ผู้บริโภค” เพราะพื้นฐานของวิกฤติต่างๆ ก็มาจาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และท้ายที่สุดก็จะกลับมากระทบกับธุรกิจ จึงต้องกลับมาโฟกัสการสร้างบริการให้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องแตกต่างจากธุรกิจ Traditional ที่เป็นการสร้างบริการมาตั้งแต่ยุค 40-50 ปีก่อน สำหรับผู้บริโภคในยุคนั้น
“สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ บริการที่ธุรกิจกำลังเสนออยู่ เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหรือไม่ เป็นจุดแรกที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะหากเราไม่เข้าใจผู้บริโภค ธุรกิจก็เสียศูนย์ได้”
ในฝั่งของ “ทีวี” เอง ต้องกลับมาดูว่า “ปัจจัย” ใด ที่ทำให้ ผู้บริโภค ไหลไปที่ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ OTT ซึ่งมี 2 มุม คือ พฤติกรรมการเปลี่ยนแพลตฟอร์มดูทีวี จากไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ที่ถือว่ายังมีข้อดี คือ ยังผู้บริโภคยังดูคอนเทนต์จากทีวี นั่นหมายถึง “ทีวี” ยังมีคอนเทนต์ที่ “โดนใจ” ผู้บริโภค เพราะหากไม่ดูคอนเทนต์ทีวีเลยนี่ถือเป็นข่าวร้ายแน่นอน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือการย้ายจาก “จอใหญ่” ไป “จอเล็ก” แต่ก็ยังดูคอนเทนต์จากทีวี สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ วิธีการบริโภคสื่อจากจอทีวี ซึ่งมาจากโครงสร้างของประชากรไทย เพราะเดิมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ดูทีวีพร้อมกัน แต่ปัจจุบันในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่อาศัยอยู่เป็นครอบครัวเล็ก คนโสด คนรุ่นใหม่ในชีวิตนอกบ้านนานกว่าอยู่ในบ้าน มีสังคมต้องสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน ทั้งหมดล้วนเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการดูทีวีในบ้าน เมื่อกลับบ้านไม่ทันดูทีวีตามเวลาที่ออกอากาศ ก็เปลี่ยนไปดูคอนเทนต์ทีวี จาก OTT แทน เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก ธุรกิจทีวี จึงต้องกลับมาดูว่า จะตอบสนองพฤติกรรมผู้ชมเหล่านี้ได้อย่างไร
กลยุทธ์ “6เสาหลัก”เห็นชัดปีหน้า
การนำทัพ ช่อง 3 ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คุณอริยะ จึงเดินหน้ากลยุทธ์ 6 เสาหลัก (strategic pillars) ที่เป็น “อนาคต” ของช่อง 3 ไปพร้อมกัน คือ 1.TV Plus สื่อออฟไลน์และออนไลน์ต้องเดินไปคู่กัน 2.Distribution หรือ ช่องทาง นำเสนอ Content & Entertainment Platform ร่วมกับทุกพันธมิตร 3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ช่อง 3 ที่สะสมมาตลอด 49 ปี กลุ่มหลัก คือ “ละคร” มาสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ 4. Artist กลุ่มดารา นักแสดง ที่มีกว่า 200-300 คน ที่สามารถต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆ 5.Content ปรับโฉมละคร ข่าว และวาไรตี้ และ 6.Technology พัฒนา “ดิจิทัล แฟลตฟอร์ม”ของตัวเอง อย่าง Mello และการทำงานร่วมกับพันธมิตร
หลังวางกลยุทธ์ 6 เสาหลักขับเคลื่อน บีอีซี ก็ได้เดินหน้าไปพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งแต่ละกลยุทธ์ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างและพัฒนารูปแบบใหม่ เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปีหน้า
ธุรกิจที่กำลังไปได้ดี คือการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ที่ช่อง 3 เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และปี 2562 ถือว่าเริ่มจับทางและไปได้ดี เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สามารถปิดการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครให้กับเคเบิลทีวีรายใหญ่ในเกาหลีใต้ และ Netflix เอเชีย ยังมีอีกหลายดีลที่กำลังเจรจาซื้อขาย เรียกว่าทุกประเทศมีโอกาสขายคอนเทนต์ได้หมด แต่จะเน้นที่ตลาดเอเชียก่อน เพราะวัฒนธรรม เนื้อหาละคร ใกล้เคียงกัน และนักแสดงไทย ถือว่าถูกจริตประเทศเพื่อนบ้าน รายได้จากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศ ถือเป็นรายได้ก้อนใหม่ ที่ไม่มีต้นทุน หากขายได้ นั่นคือรายได้ใหม่และกำไรที่เข้ามามากขึ้น
ปั้น Mello ขึ้นชั้นแพลตฟอร์ม OTT
ในยุคเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ทุกอุตสาหกรรมไม่มีการแบ่งเป็น “ออฟไลน์และออนไลน์” อีกต่อไป แต่จะเป็นโลกของ Omni Channel เห็นได้จากยุคแรกของ “อีคอมเมิร์ซ” ที่ถูกมองว่าจะทำลายธุรกิจรีเทล แต่วันนี้อนาคตของอีคอมเมิร์ซ คือ ออมนิ แชนแนล ที่ต้องพึ่งพา รีเทลออฟไลน์และออนไลน์ จึงเห็น Amazon ซื้อกิจการค้าปลีก เพื่อเข้าสู่รูปแบบ ออมนิ แชนแนล
ฝั่งธุรกิจสื่อ สิ่งที่น่าสนใจคือ Apple ทำ Apple TV เช่นเดียวกับฝั่ง Android TV เป็นสิ่งที่ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีกำลังพยายามเข้ามาในโลกของ “ทีวีและคอนเทนต์” ซึ่งก็สะท้อนได้ว่าหากเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต ยักษ์เทคโนโลยีเหล่านี้คงไม่สนใจ และเชื่อว่า “จอทีวี” คงไม่หายไปไหน เพียงแต่รูปแบบและพฤติกรรมการดูเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งเนื้อหาและวิธีการดู เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันทั้งเทคโนโลยีและผู้บริโภค
“เราจะเห็นเทรนด์ของการเป็น Omni Channel มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่จะเห็นเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะสุดท้ายแล้วก็จะเป็น 2 โลก (ออฟไลน์และออนไลน์) ที่ต้องอยู่ด้วยกัน”
ช่อง 3 เองก็ต้องไปตามเทรนด์นี้ ทั้งการพัฒนาคอนเทนต์หน้าจอทีวี และดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยในเดือน พ.ย.นี้ จะเริ่มปรับโฉมใหม่ ทั้ง Ch3Thailand และ Mello แพลตฟอร์ม “ดูคอนเทนต์ย้อนหลัง” ของช่อง 3 โดยวางเป้าหมายต้องการให้ Mello เป็น OTT ที่อยู่ในเวทีเดียวกับรุ่นพี่ ทั้ง YouTube Line TV และยังคงเป็น “พาร์ทเนอร์” กับทุกดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่นเดิม แต่จะหาวิธีสร้างรายได้ใหม่ๆ ร่วมกัน
“วันนี้ไม่อยากให้ทีวีและออนไลน์ เป็น 2 โลกที่แยกกัน เพราะผู้บริโภคไม่เคยแบ่งตัวเองว่าอยู่ออฟไลน์หรือออนไลน์ ไม่มีใครเป็นมนุษย์ที่ไม่ดูทีวีและมนุษย์ที่อยู่แต่ในโลกออนไลน์อย่างเดียว เรามีหน้าที่สร้างสะพานเพื่อเชื่อมทั้ง 2 โลกเข้าด้วยกัน ต้องยอมรับว่าโลกของธุรกิจทีวี ต้องเปลี่ยนแปลงและอยู่แบบเดิมไม่ได้”
เป้าหมายครบ 1 ปีต้องเห็นผล 3 เรื่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณอริยะ เข้ามานำทัพช่อง 3 บน “ความหวัง” ของหลายกลุ่มที่ต้องการเห็น องค์กรแห่งนี้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
หลังผ่านมาแล้ว 5 เดือน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการ “คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง 3 Family และ ช่อง 3 SD โดยได้รับเงินเยียวยาจาก กสทช. จำนวน 820 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทีวีดิจิทัล “ลดลง” และเงินที่เหลือจากการชดเชยการเลิกจ้างพนักงานจะบุ๊กเป็นรายได้ของกลุ่มบีอีซี ที่น่าจะสะท้อนไปที่ผลประกอบการหลังจากนี้
การประกาศปรับคอนเทนต์ช่อง 3 เริ่มที่ “ข่าว 3 โฉมใหม่” กับคอนเซ็ปต์ “ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้” เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา วางเป้าหมายผลักดันรายการข่าวทุกรายการของช่อง 3 ขึ้นสู่เรตติ้งอันดับ 1 ทั้งหน้าจอทีวีและออนไลน์ ภายใน 2 ไตรมาส
ส่วน “ละคร” ที่เป็นหัวใจหลักของ ช่อง 3 จะปรับโฉมช่วงต้นปี 2563 เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา แนวทางการปรับละคร คือการกลับมาดู “ผู้บริโภค” แต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน ฐานผู้ชมหลักที่ดูทีวีวันนี้ เป็นกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่ดูคอนเทนต์ออนไลน์อายุต่ำกว่า 34 ปี ซึ่งจะแบ่งเป็นอีก 2 กลุ่มคือ คนทำงานและคนรุ่นใหม่ ซึ่งความต้องการของแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ต้องย้อนกลับมาดูคือ ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มต้องการดูและสนใจคอนเทนต์แบบไหน ละคร “บางเรื่อง” สามารถกินรวบผู้ชมได้ทุกกลุ่ม แต่ไม่ใช่ “ทุกเรื่อง” ที่ทำได้ การวางกลยุทธ์ตามพฤติกรรมผู้บริโภครายเซ็กเมนต์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการปรับโฉมละครต้นปีหน้า
“เดิมทุกอย่างที่เราคิด เป็นการคิดสำหรับทีวี แต่ปัจจุบันและอนาคต จะคิดแค่ ทีวี ไม่ได้ ต้องคิดว่าวันนี้ เราไม่ใช่ธุรกิจทีวีแล้ว เพราะถ้าคิดว่าเป็นแค่ธุรกิจทีวี จะเดินได้ลำบากมาก เพราะโลกไม่ได้อยู่แค่บนทีวีอีกแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะทิ้งทีวี เพราะทีวี จะไม่หายไปไหนแน่นอน เพียงแต่เราต้องคิดในมุมที่กว้างกว่าทีวีเท่านั้น”
สิ่งที่ ช่อง 3 พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากธุรกิจทีวี เป็นธุรกิจ Content & Entertainment Platform ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ DNA ของช่อง 3 อยู่แล้ว
วันนี้ ช่อง 3 กำลังเดินหน้ากลยุทธ์ทั้ง 6 เสาหลักที่วางไว้พร้อมกันทุกเรื่อง และเมื่อครบเทอมการบริหาร 1 ปี คุณอริยะ บอกว่าได้วางเป้าหมายที่ต้องการเห็น 3 เรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
- ทำให้ธุรกิจช่อง 3 กลับมากำไร ก็น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า
- กลยุทธ์ทั้ง 6 เสาหลัก เป็นรูปธรรมชัดเจน
- เรื่องของคน คือทำให้พนักงานทุกคนเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมขับเคลื่อนช่อง 3 ไปสู่อนาคต
แม้รู้มาก่อนว่าเป็นโจทย์ยากและท้าทาย คุณอริยะ ก็ยอมรับตรง ๆ ว่า “เครียด” กับการทำงาน สิ่งที่ทำให้เครียด เพราะรู้ว่าทุกกลุ่มที่พูดคุยด้วย มีความต้องการและความคาดหวังแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น ผู้จัด ดารา พนักงาน ผู้บริหาร แต่สุดท้ายต้องทำให้ทุกกลุ่มไปในทิศทางเดียวกัน เห็นภาพเดียวกันให้ได้
“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยาก และก็มีจุดเจ็บปวด ก่อนที่เราจะเห็นแสงสว่างจากสิ่งที่ปรับตัว วันนี้สิ่งที่เห็นในมุมลบ อีก 1-2 ไตรมาส หรือ ปีหน้า จะเห็นผลในทางที่ดีขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคนจะเห็นผลกระทบเฉพาะวันนี้เป็นสิ่งแรกก่อน และความยาก คือการทำให้คนเห็นภาพระยะยาวร่วมกัน”
ก็ต้องบอกว่า ความยากที่สุด คือการบริหารคน แต่ “คน” คือฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้แผนธุรกิจเกิดขึ้นได้จริง และเชื่อว่าทุกคนจะเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน กับเป้าหมาย Make Channel 3 Great Again