นับจากลงหลักปักฐานธุรกิจแรก “ห้างเจียไต๋จึง” ในประเทศไทยย่านทรงวาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 จากเกษตร เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต วันนี้อาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขยายไปทั่วโลก ในหลากหลายธุรกิจ มีพนักงานกว่า 3 แสนคน ที่อยู่ภายใต้การนำทัพของ ประธานอาวุโสเครือซีพี “คุณธนินท์ เจียรวนนท์”
ในวัย 80 ปี “คุณธนินท์ เจียรวนนท์” ที่ Forbes จัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย เจ้าของมูลค่าทรัพย์สิน 15,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นอันดับ 75 ของโลก พร้อมบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์และวิถีการทำธุรกิจที่สร้างอาณาจักรเครือซีพี ผ่านตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ที่ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลถึง 8 ปี
หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งจัดพิมพ์โดย “สำนักพิมพ์มติชน” ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ และ Exclusive Talk โดยคุณธนินท์ ได้มาบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางการทำธุรกิจ วิธีคิด กลยุทธ์การเลือกลงทุน โอกาสและความเสี่ยง หลักคิดการทำงานที่สร้างอาณาจักรเครือซีพี ให้อยู่บนแผนที่โลก สรุปมาเป็น 7 เรื่อง ในการบริหารธุรกิจเครือซีพี
1.เรียนรู้เรื่องใหม่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ต้องเปิดใจเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน คุณธนินท์ เล่าว่าเริ่มเรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่จากสหรัฐ เพื่อให้สามารถเลี้ยงไก่ได้จำนวนมาก จากเดิมที่เลี้ยงได้ครั้งละ 500 ตัว แต่สหรัฐ เลี้ยงได้ครั้งละ 10,000 ตัว เมื่อปริมาณมากขึ้นนั่นหมายถึงผู้บริโภคซื้อได้ใน “ราคา” ที่ถูกลง
มาในโลกยุคดิจิทัล ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยึดตลาด คุณธนินท์ เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากการเข้าคอร์สอบรม การฟังคนเก่งๆ ระดับโลก “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้ง “อาลีบาบา” เป็นบุคคลที่ คุณธนินท์ ยกให้เป็น “อาจารย์” เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจจากการพูดคุยกับ “แจ็ค หม่า” เพื่อให้เข้าใจมุมมองการสร้างธุรกิจใหม่ในโลกยุคดิจิทัล
การตัดสินใจลงทุนของเครือซีพี จะประเมินจากธุรกิจที่เห็นโอกาสว่าจะมา “ต่อยอด” ได้ แต่การคุยกับ “แจ็ค หม่า” ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา ขณะนั้น คุณธนินท์ บอกว่ายังไม่เห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจน
“เหมือนกับภูเขา แจ็ค หม่า เห็นเป็นทองทั้งภูเขา แต่เรามองเห็นแต่ภูเขาและต้นไม้ จึงไม่กล้าลงทุนกับเขา (อาลีบาบา) ขณะนั้นเราเห็นมันเป็นภาพเล่า ไม่เห็นของจริง จึงไม่ได้ไปลงทุนด้วย”
2.“ทำก่อน-ทำยาก” เพื่อเป็นเบอร์ 1
อาณาจักรเครือซีพี ที่เริ่มต้นจากเกษตรและอาหาร ขยายสู่ ธุรกิจค้าปลีก, โทรคมนาคมและธุรกิจสื่อ, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์, เวชภัณฑ์, การเงินและการธนาคาร, โครงสร้างพื้นฐาน และยังไปต่อเรื่อยๆ
คุณธนินท์ บอกว่าทุกธุรกิจที่ทำ มาจากการเห็นโอกาสและลงมือทำก่อน เห็นได้จากการขยายธุรกิจเกษตรเลี้ยงไก่ ไปเป็นค้าปลีก เปิดร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) สาขาแรกบนถนนพัฒน์พงศ์ ปี 2532
ที่ตัดสินใจทำค้าปลีก 7-Eleven เพราะเห็นว่าประสบความสำเร็จในสหรัฐ จึงขอแฟรนไชส์มาทำในเมืองไทย และมั่นใจว่าทำสำเร็จแน่นอน แม้แต่เจ้าของแฟรนไชส์ก็เตือนว่าเมืองไทยยังไม่พร้อม เพราะรายได้ประชากรน้อยกว่าสหรัฐ 10 เท่า จึงยังไม่ถึงเวลาลงทุน แต่ที่ตัดสินใจลงทุนเพราะ “เห็นโอกาส” เชื่อว่ากำลังซื้อมี โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และที่สำคัญ “ต้นทุน” ต่ำกว่าสหรัฐ แม้รายได้น้อยกว่า ก็ทำให้ธุรกิจไปได้
การตัดสินใจลงทุน 7-Eleven เพราะมองเห็นของจริง รู้ว่าสามารถต่อยอดได้ การลงทุนเป็นคนแรกและเลือกทำเรื่องที่ยาก นี่คือความสำเร็จที่จะครองตลาดเบอร์ 1 ได้ก่อน และเมื่อเป็นเรื่องยาก คนอื่นก็จะไม่ทำ การมาก่อน ทำก่อน จึงเป็น “ผู้นำ” ไม่ใช่การ “ผูกขาด”
3.สูตรลงทุน “เสี่ยง 30 ชนะ 70”
หลักคิดการลงทุน ที่คุณธนินท์ ยึดถือ คือ ต้องประเมินความเสี่ยง หากเป็นธุรกิจที่ “เสี่ยง 30” และมีโอกาส “ชนะ 70” แบบนี้ เครือซีพีร้อมลงทุน เพราะในโลกธุรกิจ “ไม่ว่าลงทุนอะไร หากบอกว่าไม่มีความเสี่ยงเลย เป็นเรื่องที่ไม่จริง”
การทำธุรกิจของเครือซีพี ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นการทำงานที่ต้องทำไป แก้ไป ปรับตัวไป ในการทำธุรกิจหากชนะ 70 แพ้ 30 เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยง เพราะในโลกธุรกิจไม่มีอะไรไม่เสี่ยง แต่การเสี่ยงต้องไม่ทำให้ถึงขั้นล้มละลาย การลงทุนใดๆ จึงไม่ทำอะไรที่เกินตัว เพราะเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุ ถึงใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้
4.ตัดทิ้งธุรกิจใหม่ รักษาธุรกิจ “ดั้งเดิม”
แม้จะยิ่งใหญ่ระดับเครือซีพี แต่ก็มีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เช่นเดียวกับทุกธุรกิจ และคิดไม่ถึงว่าจะเป็นวิกฤติที่ร้ายแรง การแก้ปัญหาคือ “รักษาธุรกิจดั้งเดิม” ไว้ให้ได้
ครั้งนั้นคุณธนินท์ จึงเลือกขายหุ้น 2 ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “แม็คโคร” และ “เทสโก้ โลตัส” คืนให้บริษัทแม่ เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาใหม่ เลือกเก็บธุรกิจเกษตร อาหาร 7-Eleven โทรคมนาคม ที่มองเป็นธุรกิจอนาคตเอาไว้
บทเรียนต้มยำกุ้ง ยังทำให้เห็นว่า หากเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต เมื่อถึงเวลาต้อง “ขาย” ธุรกิจก็ยังมีราคาและคนซื้อ เห็นได้ว่า ทั้งแม็คโครและโลตัส ที่ขายหุ้นออกไป บริษัทแม่ก็รับซื้อ เพราะเป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ให้เขาฟรีก็ไม่มีคนซื้อ อย่าว่าแต่จะขายเลย
การขายหุ้นโลตัส ออกไปบางส่วนให้บริษัทแม่ ที่บอกว่าเครือซีพีทำได้เหนือกว่าที่อังกฤษอีก การขายหุ้นออกขณะนั้นจึงไม่ต่อรองราคาเลย และยังเหลือหุ้นอีก 25% การขายหุ้น แม็คโคร ทำให้คืนหนี้ได้หมด หากไม่ทำเช่นนั้น ก็มีโอกาสล้มละลาย กระทบเครดิตที่สร้างมา เมื่อผ่านวิกฤติมาได้ก็สามารถซื้อหุ้นแม็คโคร กลับมาได้ทั้งหมดมูลค่ากว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง หากเลือกขายธุรกิจโทรศัพท์ธุรกิจเดียวก็จบใช้หนี้ได้หมด ไม่ต้องขายแม็คโคร และโลตัส แต่ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเติบโตดีและเป็นธุรกิจอนาคตที่สร้างมูลค่าได้สูงจึงเลือกเก็บไว้
“เป็นเรื่องปกติการทำธุรกิจต้องเจอกับวิกฤติ เหมือนเรือเจอพายุ เราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือและชีวิตให้รอดก่อน ธุรกิจที่ทิ้งไปก็ค่อยซื้อกลับมา ถ้าจะรักษาทุกอย่างสุดท้ายล่มทั้งลำ และต้องไม่ท้อเพราะในทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ”
5.ใช้คนใหม่ทำสิ่งใหม่
หลักการเลือกคนทำงาน ต้อง Put the right man on the right job สนับสนุนคนเก่งทำงาน เครือซีพี เติบโตมาจากการมี “ทีมงาน” ที่แข็งแกร่ง
การบริหารต้องสนับสนุน “คนเก่ง” ต้องให้ “อำนาจ” เพื่อให้มีโอกาสแสดงความสามารถ โดยไม่ต้องเข้าไปกำกับ ครอบงำ หรือชี้นำ แต่ให้ “แนะนำ”
“วันนี้ ซีพีกำลังทำงานให้เหมือนสตาร์ทอัพ แต่ดีกว่า คือทำให้สตาร์ทอัพขาดทุนน้อย เลือกคนใหม่ทำงานใหม่ มีคำพูดที่ว่า ลูกวัวไม่กลัวเสือ คือเราให้อำนาจและโอกาสคนใหม่ๆ ทำงาน ให้เงินไปลงทุน เพื่อให้เกิดงานใหม่ๆ ตามวิถีของสตาร์ทอัพ”
ปัจจุบันมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นมากมาย สิ่งเหล่านี้ ต้องใช้คนใหม่ๆ ทำ ส่วน “คนเก่า” ที่มีความรู้ลึกในธุรกิจเดิม บริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ก็ให้โฟกัสในสิ่งที่ถนัด และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ เพราะหากให้ไปทำเรื่องใหม่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี หากยังไม่มีประสบการณ์ ก็จะทำให้ “ของใหม่” ไม่เกิด ส่วน “งานเก่า” ก็เสียโอกาส
6.โฟกัสอาหารอิ่มท้อง-อาหารสมอง
เครือซีพี มีธุรกิจอยู่ทั่วโลก มีพนักงานกว่า 3 แสนคน หากโฟกัสธุรกิจหลักๆ ที่ซีพีลงทุน คือ “อาหารอิ่มท้องและอาหารสมอง” ธุรกิจอื่นๆ คือการต่อยอดจากธุรกิจหลัก 2 ขานี้
การเกษตร เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ก็คือ “อาหารคน” ในยุคที่เทรนด์อาหารสุขภาพมาแรง CPF ก็ต้องพัฒนาธุรกิจไปตามเทรนด์นี้ ทั้ง โปรตีนจากพืช ไบโอเทคโนโลยี
การลงทุนในสื่อทีวี และธุรกิจโทรคมนาคม ก็ถือว่าเป็น “อาหารสมอง” จากการรับข้อมูลข่าวสาร ฟังเพลง ดูทีวี “ซีพีจึงทำ 2 เรื่องเป็นหลัก “อาหารอิ่มท้องกับอาหารสมอง”
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็ต่อยอดจากธุรกิจหลักนี้ออกไป ทั้ง “ค้าปลีก” ก็ต่อจากขายสินค้าอาหาร ให้ความสะดวกในการซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ในยุค 4.0 ทุกธุรกิจของเครือซีพีจะต่อเนื่องและเอื้อกัน
ร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯ ที่อยู่ใกล้ผู้บริโภค ระยะ 1 กิโลเมตร หรือ 500 เมตร ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้เร็วกว่าอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องใช้เวลาสั่งและส่ง
“อีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคติดกับความสะดวก ถ้าไม่สั่งซื้อก็มาที่ร้านเซเว่นฯ หรือหากอยากสั่งของ สินค้าของเราก็มีให้เลือกสั่งเช่นกัน ไม่ว่าจะช่องทางใดซีพีก็เข้าถึงลูกค้าได้”
7.ย้อนวัยเด็กอยากเป็นนักสร้างหนัง
วัย 80 ปี คุณธนินท์ บอกว่ายังสนุกกับการทำงาน แต่วันนี้เลือกที่จะทุ่มเทเวลาให้กับ สถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้กับเครือซีพี สถาบันแห่งนี้ก็เหมือนโรงงานที่ต้องลงทุนมหาศาล เพราะการสร้างคนเก่ง 1 คน ก็สามารถบริหารธุรกิจและสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าได้ วันนี้การลงทุนเรื่องคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งกับเครือซีพีและการพัฒนาประเทศ
ในวันที่เครือซีพีมีธุรกิจครอบคลุมเกือบทุกอย่าง หากถามความฝันวัยเด็กว่าอย่างเป็นอะไร คุณธนินท์ เล่าว่าเมื่ออายุ 10 ปี อยากเป็นนักสร้างหนัง เพราะตอนเรียนหนังสือชอบไปดูการถ่ายหนัง อยากเขียนบท มองว่างานบันเทิงก็เป็นอาหารสมอง ทำให้คนมีความสุขได้
อาณาจักรเครือซีพีธุรกิจติดอันดับโลกและตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทยของคุณธนินท์ ที่บอกถึงความสำเร็จในชีวิตการทำธุรกิจ แต่คุณธนินท์ บอกว่า “ชีวิตนี้ไม่เคยฉลอง ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก” เพราะทุกครั้งที่ธุรกิจสำเร็จ ก็จะมีปัญหาตามมา
“วันนี้เราดีใจกับความสำเร็จ วันรุ่งขึ้นเริ่มใหม่ เพราะก็จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมา การทำงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและตามโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วให้ทัน”
การทำธุรกิจในแบบของคุณธนินท์ “ความสำเร็จจึงดีใจได้วันเดียว” และความล้มเหลวก็เช่นกันกลุ้มใจได้วันเดียว เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเสียใจ แต่ต้องใช้เวลาไปกับการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครสำเร็จทุกเรื่อง
ภาพ Exclusive Talk จากเฟซบุ๊ก CPENews