HomeBrand Move !!กางแผน Diversify “ดุสิตธานี” กระจายพอร์ตรายได้ ไฮไลท์ธุรกิจ “ฟู้ด” รอวันเปิดโรงแรมดุสิตธานี อีก 4 ปี

กางแผน Diversify “ดุสิตธานี” กระจายพอร์ตรายได้ ไฮไลท์ธุรกิจ “ฟู้ด” รอวันเปิดโรงแรมดุสิตธานี อีก 4 ปี

แชร์ :

การปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ อายุ 50 ปี บนถนนพระราม 4 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเริ่มก่อสร้างโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 3.6 หมื่นล้านบาท ต้องรอเวลาอีก 4 ปี ก่อนที่ “ดุสิตธานี กรุงเทพ” โฉมใหม่จะเปิดให้บริการอีกครั้ง  นับจากวันนี้ถึงปี 2566 จึงเป็นภารกิจการรักษาแบรนด์ พนักงาน และหาโอกาสสร้างรายได้ให้ “ดุสิตธานี” ยังโตต่อ ภายใต้ปฏิบัติการ Diversify สร้างพอร์ตโฟลิโอรายได้ใหม่ นอกจากธุรกิจโรงแรมที่ครองสัดส่วน 80%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ สูง 39 ชั้น จะเป็นอาคารแรกในโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่จะเปิดบริการก่อนพื้นที่เรสซิเดนท์, อาคารสำนักงาน และค้าปลีก ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2567  โดยเคาะกำหนดการเปิดโรงแรมโฉมใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ก.พ.2566  ตรงกับวันแรกที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ (อาคารเก่า) เปิดประตูต้อนรับลูกค้าในปี 2513

แผนปิดโรงแรมดุสิตธานี หัวมุมถนนพระราม 4 รู้ล่วงหน้ามา 3 ปีก่อนวันปิดจริง นั่นหมายถึงแผนรักษาแบรนด์ “ดุสิตธานี” พนักงานกว่า 300 คน และการหารายได้ที่จะเข้ามาอุดช่องว่าง จากเดิมที่สร้างรายได้ปีละ 700-800 ล้านบาท ได้ถูกวางไว้หมดแล้ว

แตก 5 หน่วยธุรกิจรักษาแบรนด์-ดูแลคน

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บอกว่าเป้าหมายแรกหลังปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ คือ การหาโรงแรมใหม่ที่มีทำเลและคาแรกเตอร์ใกล้เคียงดุสิตธานี เพื่อเข้าไปลงทุน โดยนำแบรนด์เข้าไปสวมและพนักงานทั้งหมดเข้าไปทำงานต่อทันที หลังจากใช้เวลาหามา 1 ปี ก็ไม่เป็นผล โจทย์จึงเป็นเป็นการแตกหน่วยธุรกิจ กระจายคนไปยังธุรกิจต่างๆ ปฏิบัติการรักษาแบรนด์ ดูแลคนจึงสรุปออกมาเป็น 5 ธุรกิจ

1.บ้านดุสิตธานี  เป็นการเช่า “บ้านศาลาแดง” ในซอยศาลาแดง พื้นที่ 4.5 ไร่ ซึ่งเป็นบ้านโบราณอายุ 100 ปี ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากทายาท “โอสถานุเคราะห์” เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้บริการร้านอาหารที่เป็นซิกเนเจอร์ของโรงแรมดุสิตธานี  3 ร้านดัง คือ ร้านอาหารไทย “เบญจรงค์” ห้องอาหารเวียดนาม “เธียนดอง” และ “ดุสิต กูร์เมต์” เปิดครบทุกโซนในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

“บ้านดุสิตธานียังเป็นแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า เพื่อนำมาเพิ่มเติมบริการในร้านอาหารทั้ง 3 ร้าน เมื่อโรงแรมดุสิตธานีกลับมาให้บริการอีกครั้ง”

2.ซื้อโรงแรม ดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพฯ บนถนนราชดำริ เยื้องสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ราชดำริ 100 เมตร มีห้องสวีท 97 ห้อง ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกในเครือที่ห้องพักทุกห้องเป็นห้องสวีท เน้นเจาะลูกค้าพักระยะยาว ให้บริการตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

3.ดุสิต ออน ดีมานด์ บริการส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไปให้บริการในธุรกิจต่างๆ เช่น แม่บ้าน ทีมบริการจัดงานเลี้ยง ทีมงานทำความสะอาด ทีมวิศวกรดูแลระบบ และอื่นๆ  ปัจจุบันมีลูกค้าโรงแรม 5 ดาว กว่า 10 แห่ง ใช้บริการทีมแม่บ้าน ซึ่งเป็นมาตรฐานของแบรนด์ดุสิต

4.ดุสิต อีเว้นท์ การให้บริการ จัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มนอกสถานที่ (Outside Catering)

5.ทีม Pre Opening ปัจจุบันมีโรงแรมหลายแห่งต้องการให้เชนโรงแรมเครือดุสิตเข้าไปบริหารโรงแรมให้ แต่มีหลายแห่งที่ไม่ตรงกับ “แบรนด์ ไกด์ไลน์” ของโรงแรมในเครือ ทีม Pre Opening จะเข้าไปดูแลตั้งแต่ก่อนการเปิดโรงแรมและวางระบบบริหารหลังเปิดตัว โดยยังใช้แบรนด์ของโรงแรมนั้นๆ อยู่ ถือเป็นอีกบริการที่มีความต้องการในตลาดสูง

“ความตั้งใจของเรา คือเก็บพนักงานไว้ทั้งหมดหลังโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ปิดตัวเพื่อก่อสร้างใหม่  ทั้ง 5 หน่วยธุรกิจที่จัดตั้งขึ้น ทำให้เราสามารถดูแลพนักงานกว่า 300 คน ให้ยังมีงานทำต่อระหว่างรอโรงแรมเปิดตัวอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า”

Diversify หารายได้ใหม่

การเข้ามานำทัพดุสิตธานีของ คุณศุภจี  ตั้งแต่ปี 2559 วางภารกิจสำคัญไว้ 3 เรื่อง  คือ Balance  รายได้ในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนโรงแรมเองและการบริหาร จากเดิมดุสิต เน้นบริหารเป็นหลัก จึงเริ่มลงทุนเพื่อสร้างโอกาสขยายรายได้

Expand  ต้องการขยาย Footprint เครือข่ายโรงแรม ให้มีขนาด (Scale) ที่เหมาะสม ช่วงเริ่มต้นเข้ามาบริหารดุสิต ปี 2559 ขณะนั้นมีโรงแรม 27 แห่งใน 8 ประเทศ  ปัจจุบันมี 271 พร็อพเพอร์ตี้ เป็นโรงแรม 34 โรง ที่เหลือเป็นวิลล่า ใน 13 ประเทศ  จากเดิมโรงแรมเป็น Full Service  ปัจจุบันมีแบรนด์ที่หลากหลาย และเปิดตัวไลฟ์สไตล์แบรนด์ใหม่  “อาศัย” (ASAI) รวมทั้งและมีแบรนด์ลักชัวรี่ ไฮเอนด์ วิลล่า elite havens ใน 6 ประเทศเอเชีย ปี 2562 มีห้องพักทั้งหมด 8,000 ห้อง  ในปี 2564 จะขายเพิ่มเป็น 14,000 ห้อง

Diversify เดิมธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วนรายได้ราว 80% ของเครือดุสิต วางกลยุทธ์ Diversify ธุรกิจจากความเชี่ยวชาญของเครือดุสิต วางไว้ 2 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจอาหาร (Food) และการศึกษา เป้าหมายปี 2567 รายได้จากธุรกิจโรงแรมสัดส่วนอยู่ที่ 70% ธุรกิจอาหาร 15% และธุรกิจการศึกษา 15%

“ร่วมทุน”ปั้นธุรกิจฟู้ด เกาะเทรนด์สุขภาพ  

หากโฟกัสกลยุทธ์ Diversify สร้างความหลากหลายธุรกิจและรายได้ให้กับพอร์ตโฟลิโอดุสิต ตั้งแต่ปี 2561 เน้นไปที่ธุรกิจอาหาร เริ่มจากเดือน มี.ค.2561 ตั้งบริษัทดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด   คุณศุภจี ย้ำว่าความตั้งในการทำธุรกิจอาหาร คือ ต้องการนำความเป็นไทยและเอเชียออกไปให้ทั่วโลกได้รู้จัก (Bring Asia to The World)  ธุรกิจอาหารจึงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก

1. NR Food หรือ NRF ในเดือน มี.ค.2561 ดุสิตเข้าไปถือหุ้น NR Food 25.25%  เป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ซอส อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมทาน ทั้งการรับจ้างโออีเอ็ม ให้แบรนด์อื่น เช่น เทสโก้ อังกฤษ และมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เช่น พ่อขวัญ, Lee, Thai Delight, DEDE, และ Shanggie  ส่งออกยุโรป สหรัฐ  ออสเตรเลีย ถือเป็นฐานการผลิตเครื่องปรุงรสและอาหารให้เครือดุสิต ป้อนให้โรงแรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปผลิตเมนูอาหารให้ได้รสชาติและมาตรฐานเดียวกัน

โดย NR Food มีแผนขยายการลงทุนใน  plant based protein  การผลิตอาหารโปรตีนจากพืช  กำลังศึกษาที่จะเข้าไปลงทุนโรงงานโปรตีนจากพืชในประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ธุรกิจอาหารที่กำลังเติบโต จากเทรนด์การดูแลสุขภาพ  หากประเมินรายได้ปีนี้ NR Food น่าจะทำได้าว 1,100 ล้านบาท วางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาส 1 หรือ ไตรมาส 2 ปี 2563

2. Epicure Catering  ดุสิตถือหุ้น 51% เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ใช้เงินลงทุนราว 400 ล้านบาท  และสิ้นปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 70%  โดย Epicure  ทำธุรกิจเคเทอริ่งให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย  เช่น ISB, Bangkok Prep, Harrow ปัจจุบันขยายไปที่โรงเรียนนานาชาติเวียดนามอีก 3-4 โรงเรียน กำลังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนธุรกิจเคเทอริ่งในเวียดนาม เพื่อรองรับการให้บริการในประเทศดังกล่าว

3. ร่วมทุนกับ Real Foods จากประเทศแอฟริกาใต้  จัดตั้งบริษัท  Dusit Real Foods  ในเดือน ก.ค. 2562 ดุสิตถือหุ้น 51% โดย Real Foods ในแอฟริกาใต้ ให้บริการอาหารสุขภาพใน “ฟู้ดคอนเนอร์” ของฟิตเนส “เวอร์จิ้น แอคทีฟ”  ทั้งในแอฟริกาใต้และยุโรป  เป็นพาร์ทเนอร์ที่ขยายธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ คู่ไปกับเวอร์จิ้น แอคทีฟ  ปัจจุบันให้บริการแล้วกว่า 100 สาขา

เมื่อเวอร์จิ้น แอคทีฟ มีนโยบายขยายมาเอเชียและตะวันออกกลาง  Real Foods จึงตามมาให้บริการอาหารสุขภาพในฟู้ดคอนเนอร์ด้วยเช่นกัน  โดยเลือกดุสิต เป็นพาร์ทเนอร์ในภูมิภาคนี้  เดือน ต.ค.นี้ จะให้บริการอาหารสุขภาพในทุกสาขาของเวอร์จิ้น แอคทีฟ ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมี 7 สาขา เริ่มสาขาแรกที่ เวอร์จิ้น แอคทีฟ คลับ 101 ทรูดิจิทัลพาร์ค  รวมทั้งจะขยายไปในทุกสาขาของเวอร์จิ้น แอคทีฟในเอเชีย และในตะวันออกกลาง ปี 2563 จะเข้าไปให้บริการในเวอร์จิ้น แอคทีฟ  3 ประเทศ คือ สิงคโปร์  ออสเตรเลีย จีน

โมเดลที่เป็นพันมิตร เวอร์จิ้น แอคทีฟ จะเป็นผู้ลงทุนพื้นที่ครัวกลางให้ ส่วน Real Foods เป็นคนบริหาร ฟู้ดคอนเนอร์ ซึ่งจะให้บริการทั้งอาหารปรุงสด รวมทั้งกลุ่มพร้อมทาน สแน็กสุขภาพ  อาหารพร้อมปรุง สำหรับซื้อไปปรุงที่บ้าน

เฟสที่สอง ที่จะเริ่มพร้อมกันในเดือน ต.ค.นี้ คือการขยายอาหารสุขภาพ Real Foods นอก เวอร์จิ้น แอคทีฟ  โดยใช้ครัวกลางของดุสิตด้านหลังสยามพารากอน  ให้บริการทั้งโรงแรมดุสิต, ดุสิต กูร์เมต์,  Epicure Catering ในโรงเรียนนานาชาติ รวมทั้ง ฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่กำลังเติบโต

4.ดุสิต ฟู้ดส์ เป็นบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ดุสิตถือหุ้น 99% เปิดตัวแบรนด์ “ของไทย” (Khong Thai) เปิดตัว พ.ค.2562 ใช้โรงงาน NR Food ผลิต เริ่มจากกลุ่มเครื่องแกง ready to cook 4 เมนู คือ แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น และก๋วยเตี๋ยวแขก และผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซอสพริก ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว น้ำปลา  ปี 2563 วางแผนเพิ่มเป็น 20 SKU  แบรนด์ “ของไทย” เน้นทำตลาดส่งออกเป็นหลัก 90%  ภายใต้ธุรกิจอาหารทั้งหมด ปีนี้ประเมินรายได้ไว้ราว  400 ล้านบาท และในปี 2564 จะมีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท

ลงทุนอสังหาฯ สร้างรายได้อีกทาง

นอกจากกลุ่มธุรกิจอาหาร ยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ระยะสั้น ที่ประกาศไปแล้ว คือการจับมือกับ “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” พัฒนาโครงการร่วมทุนคอนโดมิเนียม “เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต” (The Hampton Sriracha by Origin and Dusit) โดยออริจิ้นถือหุ้น 51% และ ดุสิตธานี 49% มูลค่าโครงการ  1,400 ล้านบาท

อีกทั้งยังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับ “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ซึ่งเข้ามาลงทุนถือหุ้นดุสิตธานี 5% เมื่อเดือน ก.พ. 2562  ถือเป็นการเข้ามาลงทุนระยะยาว และมีแผนพัฒนาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสร่วมกันหลังจากนี้

กลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ถือเป็นการหาโอกาสสร้างแหล่งรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ที่เข้ามาทดแทนรายได้จากการปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ และทำให้กลุ่มดุสิตธานียังเติบโตได้ที่ระดับ 8-10%  ในช่วง 4 ปี ที่รอการกลับมาของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่


แชร์ :

You may also like