ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังมองหาวิธีกำจัดเงินสดออกจากระบบด้วยนโยบายที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสวีเดนที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศ Cashless Nation ให้ได้ภายในปี 2023 ทำให้มีการผนึกกำลังกันของธนาคาร 6 แห่งในประเทศพัฒนาแพลตฟอร์มกลางชื่อ Swish สำหรับให้ชาวสวีเดนโอนเงินหากันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จนทำให้การใช้เงินสดในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 1% ของยอดธุรกรรมทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน
หรือภาพของรัฐบาลสิงคโปร์ที่พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนด้วยการเพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ทำให้ยอดชำระแบบ e-Payment พุ่งขึ้นไปทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่การถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของสิงคโปร์ลดลงเหลือเพียงแค่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย นอกจากโครงการ PromptPay อันโด่งดังจนทำให้สถาบันการเงินต้องเร่งปรับลดค่าธรรมเนียมกันขนานใหญ่แล้ว ดูเหมือนว่าแคมเปญ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการก้าวไปสู่เป้าหมาย Cashless Soceity เหตุเพราะภายในระยะเวลา 10 วัน ระบบสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ล้านคนได้อย่างรวดเร็ว และทำให้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ G-Wallet หรือ “เป๋าตัง” กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลังของรัฐบาลชุดนี้ไปในที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้น นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ BigData ก้อนสำคัญที่รัฐบาลดิจิทัลจำเป็นต้องเข้าให้ถึงด้วย ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ส่วนหนึ่งต้องย้อนกลับไปฟังการเปิดเผยของคุณลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการชิมช้อปใช้ก็คือ “คนวัยทำงาน” ที่มีสมาร์ทโฟน และมีอายุระหว่าง 24 – 60 ปี ซึ่งในการลงทะเบียนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเผยว่าได้ข้อมูลของคนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบมากถึง 86% เลยทีเดียว (ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักศึกษา และผู้สูงอายุ) ซึ่งข้อมูลก้อนนี้เอง จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในอนาคตต่อไป
เห็นได้จากสิ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกมาเปิดเผยว่า เพียงแค่สามวันแรกของการใช้สิทธิ (27 – 29 กันยายน) มีการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งสิ้น 300 ล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิกว่า 370,000 คน โดยเงินก้อนนี้จ่ายให้กับร้านค้าขนาดเล็กราว 150 ล้านบาท, ร้านอาหาร 60 ล้านบาท, โรงแรมที่พัก 10 ล้านบาท และโมเดิร์นเทรด 80 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากเป็นรัฐบาล 0.4 ในอดีต ข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชนไม่เคยชัดเจนและไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วเท่านี้มาก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการดังกล่าวยังมีก๊อกสอง นั่นคือเงินคืนอีก 15% จากการเติมเงินเข้ามาใน G-Wallet เพื่อใช้จ่ายอีก 30,000 บาท ที่รัฐบาลสามารถ Track พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกันไปยาว ๆ ได้อีก ในมุมหนึ่งจึงต้องบอกว่า น่าจะมีรัฐบาลหลายประเทศทีเดียวที่แอบอิจฉาเราอยู่ในตอนนี้ กับการใช้เงิน 19,000 ล้านบาท หรือราว 621 ล้านเหรียญสหรัฐก็สามารถเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
ความท้าทาย “ชิมช้อปใช้” เมื่อเงินต้องไปถึงรากหญ้า
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามร้านค้าระดับรากหญ้าที่รัฐบาลบอกว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องการกระจายเงินลงไปให้ถึงแล้วนั้น เราพบว่า ยังมีความท้าทายที่รัฐบาลต้องแก้อีกหลายเปลาะ ได้แก่
1. ผู้ค้ารากหญ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
จากความเหลื่อมล้ำที่สูงมากของประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในขณะที่คนไทยบางกลุ่มเข้าถึงความทันสมัยทุกสิ่งอย่าง คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งแทบจะเข้าไม่ถึงอะไรเลย แม้แต่สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต โดยจากการสอบถามกลุ่มผู้ค้าขายในตลาดสดเขตดุสิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นร้านค้าหาบเร่แผงลอย ทีมงานพบว่า พ่อค้าแม่ค้าส่วนหนึ่งใช้งานแค่ฟีเจอร์โฟนเท่านั้น ส่วนอินเทอร์เน็ตไม่ต้องพูดถึง หลาย ๆ คนยอมรับว่าเคยได้ยินชื่อโครงการชิมช้อปใช้ แต่อาชีพที่หาเช้ากินค่ำ ทำให้พวกเขาละเลยที่จะสนใจไปโดยปริยาย
2. นายทุนขนาดกลางที่ขาดวิสัยทัศน์
บางท่านเมื่ออ่านข้อ 1 จบอาจรู้สึกว่า พ่อค้าแม่ค้าที่พลาดโอกาสมาจากการไม่สนใจศึกษาหาความรู้ของพวกเขาเอง แต่ในความเป็นจริง หลาย ๆ ครั้ง การขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลไม่ได้เกิดจากตัวพวกเขาโดยตรง
โดยในขณะที่สื่อหลายสำนักเป็นห่วงว่านายทุนยักษ์ใหญ่จะเข้ามากินส่วนแบ่งเงินจากนโยบายชิมช้อปใช้ แต่บางทีสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือนายทุนระดับกลาง ๆ แต่ขาดวิสัยทัศน์ เช่น เจ้าของตลาดเก่าแก่ที่เคยเปิดให้เช่าพื้นที่เมื่อ 50 ปีก่อนอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบเดิม ไม่ยอมปรับตัวให้สอดรับความเปลี่ยนแปลงของโลก
เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะเป้าหมายของโครงการชิมช้อปใช้ต้องการให้เงินถูกส่งไปถึงพ่อค้าแม่ค้ารากหญ้า แต่เมื่อหันไปดูรูปแบบการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้ารากหญ้า พบว่าส่วนมากไม่มีพื้นที่เป็นของตนเอง และต้องเช่าพื้นที่เจ้าของตลาด
ซึ่งหากเจ้าของตลาดไม่สนใจจะพัฒนาตลาดให้ก้าวหน้า และต้องการเก็บค่าเช่าไปวัน ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่สนับสนุนการค้าแบบไร้เงินสดด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ในตลาดสดบางแห่งจึงไม่มีฟรีไวไฟให้ใช้งาน ซึ่งเท่ากับว่า พ่อค้าแม่ค้าไม่อาจเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตได้ ไม่สามารถรับชำระผ่าน QR Code ได้เลย ฯลฯ เว้นแต่บรรดาพ่อค้าเหล่านั้นจะเจียดเงินมาจ่ายค่าบริการด้วยตัวเอง
3. รูปแบบการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้ารากหญ้าที่ยังพึ่งพาเงินสดเป็นหลัก
เห็นได้จากการจ่ายค่าแรงคนงาน การจ่ายค่ารถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าของที่จะนำมาขาย ฯลฯ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ยังต้องจ่ายเป็นเงินสด และนั่นทำให้เงินสดยังจำเป็นสำหรับพวกเขา ขณะที่เงินอิเล็กทรอนิกส์จากโครงการดังกล่าว ต้องอาศัยเวลาในการโอน ซึ่งอาจไม่ทันต่อความต้องการใช้งาน
แต่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหากในยุคแรกของการปรับเปลี่ยนจะมีอุปสรรค และมีเสียงบ่นในโลกโซเชียลมากมาย เพราะหากหันไปเทียบกับประเทศที่เรายกขึ้นมาก่อนหน้า จะพบว่าทุกประเทศต่างเจอกับอุปสรรคไม่ต่างกัน โดยกรณีของสวีเดนต้องใช้เวลาถึง 362 ปีในการกำจัดเงินสดให้หมดไปจากประเทศ (สวีเดนเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่เริ่มนำธนบัตรมาใช้ในปี ค.ศ. 1661 และมีเป้าหมายจะยุติการใช้เงินสดให้ได้ภายในปี 2023 ซึ่งทุกวันนี้ สวีเดนมีเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ชำระค่าสินค้าแทนมากมาย ตั้งแต่ เทคโนโลยี Contactless, การชำระผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงการจ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิท)
ส่วนประเทศไทย การที่เรามาถึงจุดนี้ได้ภายใน 10 วัน ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของหลาย ๆ ประเทศได้เช่นกัน และถ้าคนไทยอดทนได้มากพอ เราก็น่าจะไปถึงจุดหมายที่ประเทศยักษ์ใหญ่เขาไปถึงก่อนได้ไม่ยากนัก