HomeBig Featuredเพราะที่ทำงานไม่ใช่ที่บ้าน ฟัง “6 ข้อห้าม ของทายาท” ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจครอบครัวพังคามือ

เพราะที่ทำงานไม่ใช่ที่บ้าน ฟัง “6 ข้อห้าม ของทายาท” ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจครอบครัวพังคามือ

แชร์ :

คำกล่าวที่หลายคนคุ้นเคยกันดีว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะล่มสลายในรุ่นที่ 3 เพราะถือว่าเป็นรุ่นของ “หลานเถ้าแก่” เกิดมาในยุคที่สุขสบาย รุ่นปู่ รุ่นพ่อ สร้างมาไว้ให้หมดแล้ว ทั้งทรัพย์สินต่างๆ หรือแม้แต่ความมั่นคงในธุรกิจก็เริ่มอยู่ตัวเข้าที่เข้าทาง ไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าหรือหาตลาดเหมือนในยุคบุกเบิก ทำให้ลูกหลานในเจนเนอเรชั่นถัดมา ไม่เคยลำบาก ทำงานไม่เป็น กลายเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่อดทน ​หรือบางคนที่อาจไม่ได้ชื่นชอบธุรกิจที่ครอบครัวทำอยู่แต่เดิม เมื่อเข้ามารับช่วงต่อก็เลือกที่จะขายหุ้น หรือขายกิจการเพื่อให้มืออาชีพเข้ามาบริหารแทน ก็มีให้เห็นอยู่ได้เสมอเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่คำกล่าวนี้คงไม่สามารถใช้ได้กับ ​คุณจั๊ก จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยาง มาร์เก้ตติ้ง ​จำกัด รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ซอโสตถิกุล”​ ผู้บริหารธุรกิจในเครือ “ซีคอนกรุ๊ป” ซึ่งมีธุรกิจอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันอย่างหลากหลาย โดยธุรกิจแรกในเครือก็คือ ธุรกิจรองเท้านันยาง ซึ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2496 หรือปัจจุบันมีอายุกว่า 66 ปีแล้ว

สำหรับ ธุรกิจในอาณาจักรซีคอนกรุ๊ป ประกอบด้วย แบรนด์รองเท้านันยาง, ไทยชูรสตราชฎา,​ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ทั้ง 2 แห่ง คือ ศรีนครินทร์ และบางแค, ซีคอนโฮม รับสร้างบ้าน รวมทั้งยังมีธุรกิจอสังหาฯ และโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตอีกจำนวนหนึ่ง

โดยคุณจั๊ก ทำหน้าที่ดูแลในส่วนงานหน้าบ้าน อย่างงานด้านการตลาดและขาย ให้ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว คู่กับพี่ชายซึ่งอยู่ในรุ่นที่ 3 เช่นเดียวกันอย่าง คุณชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล ซึ่งจะรับหน้าที่ในส่วนของการดูแลงานหลังบ้าน อย่างงานในโรงงาน หรือด้านการผลิตต่างๆ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “นันยาง” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจของเจนเนอเรชั่นที่ 3 นั้น​ ค่อนข้างมีความโดดเด่น และกลับมาอยู่ในสปอตไลท์โลกธุรกิจได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการออกแคมเปญการตลาดแต่ละครั้ง ที่มักจะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ที่เรียกได้ว่า มาทั้ง “กระแส” และ “ยอดขาย” เลยทีเดียว

ธุรกิจในเครือซีคอนกรุ๊ป

เมื่อเริ่มต้นทำงานที่บ้า​น ความเป็นเจ้าของก็สิ้นสุด

คุณจั๊ก ยอมรับว่า รูปแบบการทำธุรกิจของครอบครัวตัวเองนั้น ยังคงไว้ซึ่งความ Conservative เน้นการขับเคลื่อนธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่เน้นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างหวือหวา แต่ก็พยายามนำแนวคิด หรือเทรนด์การตลาด​​​​ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผสมผสาน โดยที่ยังคงรักษาแก่นเดิมของธุรกิจเอาไว้

โดยเฉพาะรองเท้าแตะนันยาง (ช้างดาว) นั้น บางคนเห็นอาจจะมองว่า “เชย” ไม่เท่ ไม่เข้ากับยุคสมัย แต่ในความคิดของคุณจั๊ก กลับเห็นว่า เป็นสินค้าที่มีความ “คลาสสิค” เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย​​ที่เราจะได้เห็นสินค้าที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยมาตลอดกว่า 60 ปี ไม่เคยวิ่งตามแฟชั่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ยังสามารถอยู่ได้ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดไว้ได้อยู่ ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นโปรดักต์ที่มีความแข็งแรงอยู่ในตัวเองอย่างมาก ดังนั้น แนวทางในการสานต่อธุรกิจของครอบครัวในแบบคุณจั๊ก จึงพยายามที่จะโฟกัสและเน้นในที่จุดแข็งแรงของธุรกิจ ​มากกว่าการเข้ามา​ปรับเปลี่ยนระบบให้กลายเป็นยุคสมัยใหม่ไปเสียทั้งหมด​ ​

ส่วนในฐานะทายาทที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อบริหารธุรกิจของครอบครัวนั้น คุณจั๊กมองว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการบาลานซ์ให้เกิดความพอดีของหมวก 3 ใบ ที่สวมไว้ ทั้งเรื่องของครอบครัว ในฐานะเจ้าของ และในฐานะที่ต้องรับผิดชอบการบริหารธุรกิจ

ครอบครัวซอโสตถิกุล ปี 2530 เมื่อเจนเนอเรชั่น 3 ยังเป็นเด็ก​

“ในแง่ของครอบครัว เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การรักษาความรักความสามัคคีกันของคนในครอบครัว ซึ่งครอบครัวผมมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีคุณตา คุณยาย มารุ่นคุณแม่ มีพี่น้อง 9 คน ส่วนในเจน 3 เหมือนผม มีกันอยู่ 24 คน และตอนนี้เริ่มมีเจน 4 ที่มีประมาณ 30 กว่าคนแล้ว โดยครอบครัวเราก็มีกฎเกี่ยวกับการทำธุรกิจในครอบครัวไว้ด้วยเช่นกัน เช่น ลูกหลานที่จะเข้ามาบริหารต้องมีประสบการณ์ในการทำงานข้างนอกอย่างน้อย 2 ปี หรือไม่อนุญาตให้เขย หรือสะใภ้มาทำงานด้วย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความขัดแย้งกันในครอบครัว”

ส่วนในแง่ของความเป็นเจ้าของ อาจจะอยู่ในบทบาทผู้ถือหุ้นผู้ลงทุน ที่จะมีผลตอบแทนจากการลงทุนให้ ขณะที่ในแง่การทำธุรกิจ ก็จะมีผู้บริหารที่เป็นผู้คอยขับเคลื่อนธุรกิจ​ โดยได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าจ้าง เงินเดือน ซึ่งคุณจั๊ก ในฐานะที่ต้องสวมหมวกทั้ง 3 ใบ พร้อมกัน ได้ให้วิธีคิดสำหรับทายาทธุรกิจต่างๆ ที่กำลังเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถรักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนเอาไว้​ อยู่ที่การแยกบทบาทในแต่ละส่วนออกจากกันโดยเด็ดขาด

ครอบครัวซอโสตถิกุล ปี 2562 สมาชิกครอบครัว มีถึงเจนเนอเรชั่นที่ื 4 แล้ว

สิ่งสำคัญที่เหล่าทายาททั้งหลายต้องระลึกไว้คือ ต้องคิดเสมอว่า “เราไม่ใช่เจ้าของ” แม้ว่าเราอาจจะเคยเป็นลูกเจ้าของ หลานเจ้าของ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราก้าวเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว ความเป็น “เจ้าของ”​ หรือ “ลูกเจ้าของ” ก็จะสิ้นสุดลง ​เราจะกลายเป็นเพียงพนักงาน หรือผู้บริหารคนหนึ่ง ที่มีบทบาท มีหน้าที่ ตามที่ถูกกำหนดไว้ใน Job Description มี KPI วัดผลการทำงาน และไม่ก้าวก่ายส่วนที่อยู่นอกเหนือจาก​งานที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ ขณะที่เจ้าของเองก็ไม่ใช่ผู้บริหารเช่นกัน จึงไม่ควรก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ทุกๆ ส่วนต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งหลายๆ ครั้งที่มักเกิดเป็นปัญหาให้เห็นกันบ่อยๆ เพราะการรวมทุกสถานะซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่มีการแยกบทบาทแต่ละส่วนให้ออกจากกันอย่างชัดเจน

“แม้จะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่ควรทำงานแบบมืออาชีพ มีระบบ ระเบียบ แบบ Professional เพราะที่ทำงานไม่ใช่ที่บ้าน แต่ละส่วน แต่ละแผนก จะมีบทบาท มีขอบเขตที่ต้องรับผิดชอบดูแลไว้ชัดเจน และต้องแยกเรื่องงานและเรื่องที่บ้านออกจากัน เช่น เมื่อต้องการนำเสนองาน หรือมีโปรเจ็กต์ใดๆ เพื่อขออนุมัติ ก็ควรมาคุยในที่ทำงาน แม้ผู้อนุมัติจะเป็นพ่อแม่หรือลุงป้าน้าอา แต่ ในที่ทำงานมีแค่คำว่า “หัวหน้า” และ “ลูกน้อง” ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ในบ้าน ดังนั้น ควรเขียนแผนต่างๆ มาโดยละเอียดให้ครบถ้วนทั้ง What When Who Where Why และ How รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยง ความเป็นไปได้ พร้อมประเมินความเสียหายในกรณีร้ายแรงที่สุด หากโปรเจ็กต์ที่เสนอมาล้มเหลว ธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงใดบ้าง เพื่อมาขอความเห็นร่วมกันของที่ประชุม และเป็นการแจ้งให้ผู้บริหารตามลำดับสายงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับรู้ร่วมกัน”

6 ข้อห้าม ทายาทธุรกิจไม่ควรทำ

คุณจั๊ก ยังได้แชร์ 6 วิธีคิด สำหรับเหล่าทายาทที่กำลังจะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นแนวคิดที่คุณจั๊กยึดถือสำหรับการเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจให้ครอบครัว ประกอบด้วย

1. เรียนจบแล้ว ไม่ควรทำงานกับที่บ้านทันที ก่อนจะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว บรรดาทายาททั้งหลายควรไปหาประสบการณ์ในการทำงานจากที่อื่นมาก่อน เพื่อเรียนรู้ทั้งระบบการทำงาน ระบบการแบ่งสายงาน สายการบังคับบัญชา วิธีคิด การนำเสนอไอเดีย การบริหารจัดการต่างๆ และประสบการณ์จากเนื้องานที่แตกต่างออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องอะไรที่เสียหาย

“คุณพ่อ คุณแม่ หรือแม้แต่ธุรกิจของเราน่าจะยังอยู่ต่อไปได้ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ดังน้ัน ยังไม่ต้องรีบเข้ามา ควรไปหาประสบการณ์จากข้างนอกมาก่อน ไปเรียนรู้งานที่ไม่เคยทำ ไปเรียนรู้จากหัวหน้างาน ไปหาเพื่อน หาประสบการณ์ เพราะถ้าเรารีบเกินไป เข้ามาโดยที่ยังไม่พร้อมหรือไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเรียนรู้อะไรมาก่อนเลย นี่แหละอาจจะเป็นสาเหตุให้ธุรกิจเสียหาย หรือเจ๊งภายใน 2-3 ปี ซึ่งที่บ้านผมจะกำหนดไว้เลย สำหรับลูกหลานที่อยากเข้ามาทำงานในครอบครัว ต้องมีประสบกาณ์ข้างนอกมาก่อนไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะเข้ามาทำงานกับที่บ้านได้” 

2. อย่าพยายามเปลี่ยนหัวหน้า แต่เลือกเปลี่ยนตัวเอง หัวหน้าในที่นี้อาจหมายถึง พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงต้องแก้ด้วยการปรับตัว หาวิธีพูด วิธีสื่อสาร เพื่อให้บรรลุผลการทำงานอย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะปัญหาจาก Generation Gap เพราะผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นคนในยุคเจนเนเรชั่นก่อนหน้า หรือคนทำงานที่อยู่กันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกยุคก่อตั้ง

“หน้าที่ของเราคือพยายามทำความเข้าใจ ​และอธิบายให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพเดียวกัน​ ค่อยๆ พูดเพื่อให้คนที่อยู่ในอีกยุคหนึ่งสามารถเข้าใจ​ หรือเห็นภาพใกล้เคียงได้กับสิ่งที่คุ้นเคยมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อต้องการขายงาน หรือเสนอโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ซึ่งช่วงที่เข้ามาดูแลนันยางใหม่ๆ ผมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อขออนุมัติงบ 3 แสนบาท เพื่อปรับเปลี่ยนระบบสื่อสารในองค์กรมาใช้อีเมลล์ ซึ่งแน่นอนเมื่อเกือบสิบปีก่อน การใช้อีเมลล์ยังไม่แพร่หลาย ผู้บริหารครึ่งห้องที่ฟังผมเสนองานก็ไม่เคยใช้อีเมลล์ แต่เราต้องพยายามอธิบายว่า อีเมลล์ไม่ต่างกับการส่งแฟ็กซ์ แต่สามารถโต้ตอบกันได้ทันทีเหมือนโทรศัพท์ เหมือนเป็นตู้ ปณ. พร้อมหาเหตุผล และชี้ให้เห็นความสำคัญ​ ซึ่งต้องระลึกไว้​เสมอว่าการเสนองานหรือโปรเจ็กต์ต้องทำให้คนซื้อเข้าใจว่าสิ่งที่นำมาขายดีอย่างไร​ เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร ไม่ใช่การพูดโชว์ความเก่งความรอบรู้ของเรา โดยไม่สนใจว่าคนฟังเข้าใจหรือไม่ และต้องพยายามเรียนรู้วิธีคิด หรือคาแร็คเตอร์ของแต่ละคน​ เพื่อเลือกใช้วิธีโน้มน้าวหรือสื่อสารได้ในบริบทที่คนฟังจะสามารถเข้าใจได้ง่าย” ​

3. อย่าทำงานแบบเป็นเจ้าของ แต่ให้คิดแบบเจ้าของ สำหรับทายาทที่เข้ามาทำงานธุรกิจของครอบครัว ไม่ควรทำงานในฐานะเจ้าของธุรกิจ แต่ให้ทำงานแบบมืออาชีพ ทำงานอย่างรู้บทบาท รู้ขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง หรือ ให้ทำงานแบบ Professional แต่ให้คิดแบบคนที่เป็นเจ้าของ ดังนั้น เราจะทำงานได้เหนือกว่าคนอื่น และมีมุมมองบางอย่างที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พนักงานทั่วไปคิด ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่เหมาะกับแค่ทายาทเท่านั้น แต่สามารถ Apply ได้กับคนทำงานทุกคน ที่แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ก็สามารถคิดจากมุมของเจ้าของธุรกิจได้เช่นเดียวกัน

4. เสนองานแบบ One Time shot ซึ่งส่วนใหญ่การนำเสนองานในลักษณะนี้มักจะถูกปฏิเสธ ทำให้บรรดาทายาททั้งหลายกลัว หรืออาจจะหมดกำลังใจในการเสนอโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในคร้ังต่อไป ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้มองเหมือนเป็นการลองผิดลองถูก เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่จะให้โอกาสเราเสมอ

5. คนทำงานไม่ควรมีเฉพาะแค่สมาชิกครอบครัว แต่ควรหาผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาร่วมงานด้วย เพราะจะได้มุมมองใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเข้ามาผสมผสาน​ รวมทั้งเป็นหนึ่งใน Buffer ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวอาจจะมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ที่สำคัญ เมื่อมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาร่วมในธุรกิจแล้ว ไม่ควรข้ามลำดับขั้น แต่ให้ทำงานตามกรอบและขอบเขตที่กำหนด ​

6. รีแบรนด์ไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องรีสตรัคเจอร์องค์กร หลายครั้งที่ลูกหลานรุ่นใหม่ๆ เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ และอยากปรับภาพลักษณ์ธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย และส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการเข้าไปในรีแบรนด์ในส่วนของโปรดักต์​ ซึ่งไม่น่าใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ควรเลือกปรับโครงสร้าง หรือทำการ Restructure องค์กรให้ดำเนินธุรกิจภายใต้ความเป็น Professional เพิ่มมากขึ้น เพราะในยุคบุกเบิก ไม่ว่าจะเป็นรุ่นปู่ รุ่นพ่อ คงไม่ได้ทำงานกันแบบมืออาชีพมากนัก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของลูกที่จะไปปรับเปลี่ยนพ่อแม่ แต่สามารถเข้าไปเริ่มต้นในการพัฒนา เริ่มปรับหรือเปลี่ยนโครงสร้างให้มีความเป็นมืออาชีพได้เพิ่มมากขึ้น ในบริบทที่เราดูแลหรือในส่วนที่เรามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงได้​

Source : งานสัมมนาทายาทรุ่นสอง โดย The Cloud


แชร์ :

You may also like