ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หลายคนอาจตกอยู่สภาวะการเป็นหนี้จากค่าครองชีพที่ดีดตัวสูงขึ้น หรืออาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดทำให้การเงินสะดุดต้องเร่งหาเงินมาแก้ปัญหา แต่ก็มีอีกหลายคนทีเดียวที่ยอมเป็นหนี้ด้วยการนำเงินในอนาคตของตัวเองมาใช้กับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากมาย เพียงเพื่อให้ชีวิตสุขสบาย และสามารถอัพโหลดรูปเพื่ออวดเพื่อนบนโลกโซเชี่ยล จนลุกลามกลายเป็นภาระหนี้บานปลายและส่งผลต่อความสามารถในการออม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง อาจจะลามลึกกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวได้
จากจุดนี้เอง ทำให้ “เงินติดล้อ” เล็งเห็นถึงปัญหา และอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเตือนสติผู้บริโภคให้ระมัดระวังและรู้จักวางแผนการใช้จ่ายรวมถึงการนำเงินกู้ไปใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็น ผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า “หนี้หรือความสุข”
ตอกย้ำจุดยืน “เงินติดล้อ” ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สังคม
แม้จะเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ติดดินจากการสื่อสารโฆษณาแบบบ้าน ๆ แต่ทุกครั้งที่ “เงินติดล้อ” ปล่อยภาพยนตร์โฆษณา ก็สร้างความฮือฮาจากคนดูได้เสมอ เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์นอกจากจะแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่ง ด้วยจุดเด่นที่ตรงไปตรงมาและเขย่าความรู้สึกคนดูอย่างกินใจ จนทำให้ชื่อ “เงินติดล้อ” กลายเป็นแบรนด์สินเชื่อทะเบียนรถที่กุมหัวใจกลุ่มเป้าหมายหลักของเงินติดล้อแบบอยู่หมัดมาจนถึงปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของการเป็น Top of Mind ในใจลูกค้า เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาตอนนั้นยังเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อทะเบียนรถให้เป็นรู้จักในวงกว้างเป็นหลัก ก่อนจะขยายรูปแบบมาสู่การให้ความรู้ด้านการเงินกับคนในสังคม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนได้รู้ถึงวิธีการบริหารจัดการการเงินขั้นพื้นฐาน และความรู้ที่มีประโยชน์ที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
กระทั่งในปี 2016 “เงินติดล้อ” จึงต่อยอดมาสู่การทำแคมเปญการตลาดเพื่อสังคมเป็นครั้งแรกผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่มีชื่อว่า “ชีวิตใหม่” ซึ่งถือว่าเป็นแคมเปญที่สร้างปรากฎการณ์ความสั่นสะเทือนจนกลายเป็นกระแสสังคมที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วทั้งวงการ เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์มุ่งถ่ายทอด “จุดยืน” ของแบรนด์เงินติดล้อที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดีกว่าเดิม ด้วยการสื่อสารให้ลูกค้าของเงินติดล้อนำเงินกู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างอาชีพและชีวิตที่มั่นคง ผ่านประโยคโดนใจทิ้งท้ายว่า ‘เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก’ เพราะเชื่อว่าการสอนคนให้คิดเป็น เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้อย่างยั่งยืนจนไม่ต้องกลับมากู้อีก
“แคมเปญนี้สามารถสร้างกระแสสังคมในวงกว้างได้มาก แต่ในแง่การรับรู้และการตระหนักถึงหนี้ที่เกิดจากการบริโภคที่ไม่จำเป็นยังค่อนข้างน้อย แม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลด้านการเงินมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ติดกระแสการบริโภคนิยมมากขึ้น จากการใช้ชีวิตบนสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นและมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการ เพราะมีร้านค้าออนไลน์ 24 ชม. จึงง่ายต่อการเลือกซื้อ ทั้งยังมีโปรโมชั่นผ่อนชำระสินค้า”
ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด บอกถึงพฤติกรรมทางการเงินของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็น และทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออมจนนำมาซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง อาจจะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว นั่นจึงทำให้ “เงินติดล้อ” ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และอยากเป็นหนึ่งเสียงที่กระตุ้นเตือนสังคมสะกิดใจให้คิดให้ดีก่อนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ผ่านแคมเปญสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมของ “เงินติดล้อ” ในปีนี้ว่า “หนี้หรือความสุข”
“เราใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน ก่อนปัญหาหนี้ครัวเรือนจะกลายเป็นกระแสในปัจจุบัน เพราะมีการลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นผู้บริโภค และจากการสำรวจพบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมีสัดส่วนคนเป็นหนี้สูงขึ้น ทำให้เราตกใจถึงอนาคตการใช้จ่ายของผู้บริโภค”
ครั้งแรก ‘หนังสือ’ เตือนสติมนุษย์เงินเดือน
“หนี้หรือความสุข” นับเป็นแคมเปญแรกที่ “เงินติดล้อ” เลือกสื่อสารกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งไม่ใช่ฐานลูกค้าหลักของเงินติดล้อ ซึ่ง “ปิยะศักดิ์” ให้เหตุผลว่า การสื่อสารที่จะสร้างอิมแพ็คให้กับคนในวงกว้างไม่จำเป็นต้องคุยกับผู้คนที่เป็นกลุ่มลูกค้าเท่านั้น อีกทั้งมนุษย์เงินเดือนเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น แต่เป็นกลุ่มที่สามารถบริหารการใช้จ่ายได้ง่ายกว่า เพราะรู้เงินเดือนแน่นอน ดังนั้น ถ้าสามารถเตือนสติคนกลุ่มนี้ให้ตระหนักและใช้ชีวิตอย่างระมัดได้ ก็จะสร้างอิมแพ็คได้อย่างมาก
นอกจากการกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว วิธีการสื่อสารครั้งนี้ยังแตกต่างไปจากเดิม ด้วยการสื่อสารผ่านวิดีโอสั้นชุด “หนี้นรก” ความยาว 11 นาที เนื้อหาสะท้อนชีวิตมนุษย์เงินเดือนยุคปัจจุบันผ่านเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่มีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่มุ่งหาความสุขจากการบริโภค ติดโซเชียล กู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถราคาแพง ใช้แบรนด์เนมตามเพื่อน กินหรู ท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่กลับไม่อดทนทำงาน กระทั่ง “ชีวิตตกอับ” เป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ โดยในทุกช่วงขณะของการตัดสินใจจะมีชายลึกลับโผล่มาเตือนถึงผลร้ายของการเป็นหนี้แต่กลับไม่เป็นผล จึงเปลี่ยนจากการเตือนมาเป็นการยุยง และในตอนจบชายลึกลับดังกล่าวได้เป็นผู้สรุปแนวคิดการใช้ชีวิตเพื่อความมั่นคงในระยะยาวกับคนดู พร้อมทิ้งท้ายด้วยวลีสั้นๆ ‘คิดให้ดีก่อนเป็นหนี้’ เพื่อเตือนสติ
เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อให้แคมปญมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงออกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก ที่มีชื่อว่า “25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย (25 วิธีคิดให้ชีวิตสบายๆ)” อีกด้วย ซึ่งเนื้อหาของหนังสือไม่เพียงแต่จะตีแผ่พฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่จำเป็นเพื่อเตือนใจคนก่อนที่คิดจะเป็นหนี้เท่านั้น แต่ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ ยังสามารถพลิกอ่านอีก 2 ด้าน ซึ่งอีกด้านนี้จะนำเสนอเคล็ดลับที่จะช่วยจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โอกาสของการสื่อสารผ่านหนังมากกว่า แต่ Message แคบกว่า เพราะเราไม่สามารถสื่อสาร 10 เรื่องให้จบในหนังหนึ่งเรื่องได้ หนังสือจึงเป็นเครื่องมือที่มีความยั่งยืนที่จะช่วยให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ แม้หลายคนจะมองว่าคนไทยเสพการอ่านน้อยกว่าการดูวิดีโอ แต่มองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาษาหรือเนื้อหาอาจไม่กระแทกใจคนอ่านมากพอ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ใช้ภาษาที่อ่านง่ายและตรงไปตรงมา เพราะการเตือนคนนั้น หากไม่กระแทกใจจริง ๆ คนก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม”
ปิยะศักดิ์ หยิบข้อความบางบทจากหนังสือมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง บทที่ 12 เงินในอนาคต ก็เงินเราปะ! มันก็คือเงินเดือนเดือนหน้า เดือนถัดไป …แล้วก็เดือนถัดไป โบนัส แต๊ะเอียและหวย (ออกชัวร์งวดนี้ เราจะรวยเละ) แล้วอื่น ๆ เท่าที่เราจะคิดออก โดยหลักการ ถ้ามันเข้ากระเป๋าเรา ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ มันก็เงินเรารึป่าววะ? แล้วทำไมเราจะใช้เงินเราไม่ได้ เราจึงใช้มันซะตั้งแต่ตอนนี้ เพราะมีของที่เราว้อนท์มากมาย เราจึงต้องการคลายความกดดัน แล้วจะใช้ยังไง? ก็บัตรเครดิตไง รูดไป เต็มทุกใบเมื่อไหร่ก็ Personal Loan และเงินด่วนอีกมากมาย เค้าอุตส่าห์โทรมาชวนเสียงหวานชื่นใจ แถมให้เราค่อย ๆ ผ่อนจ่ายด้วย แต่เราก็ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าถ้าถูกหวยซักล้านเมื่อไหร่ เราก็โปะไปดังโครม! เป็นอันจบหนี้
บทที่ 23 ประกันคือ การเลือกของคนชอบมีเรื่อง ซื้อประกันอุบัติเหตุ = อยากเสียเลือดเสียเนื้อ ซื้อประกันสุขภาพ = อยากนอนโรงพยาบาล อ้อนเพื่อนและแฟนซื้อประกันรถ = อยากจูบบั้นท้ายรถชาวบ้าน ซื้อประกันวงเงินกู้บ้าน = อยากตายไวและได้บ้านฟรี แต่ละเรื่องไม่เป็นมงคลทั้งนั้น เราไม่เอาไม่อยากข้องเกี่ยวกับเรื่องอัปมงคล ไม่ต้องมาอ้างเรื่องความเสี่ยง …ไม่เห็นชีวิตชั้นจะสี่ยงตรงไน อยู่มาป่านนี้ยังไม่เห็นมีอะไรบุบสลาย เราจึงไม่ประกันอะไร เพราะเรามีพระดีและเราเป็นคนไม่มีความเสี่ยง ที่สำคัญเคยลองนั่งคำนวณดูแล้ว เงินที่ต้องใช้ซื้อประกันนั้นไม่น้อย เราเอาไปถอยกระเป๋าดีกว่า
ปิยะศักดิ์ ยอมรับว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมคน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และสิ่งที่จะเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก ซึ่งในมุมมองส่วนตัวแล้ว การแก้กฎหมายยังง่ายกว่า ทำให้เขาหวังเพียงว่า “หนี้หรือความสุข” จะเป็นแคมเปญที่จุดประกายให้ทุกคนโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนได้ตระหนักก่อนจะเป็นหนี้โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบที่เกิดในวันนี้
สำหรับใครที่คิดจะเป็นหนี้จากการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น ลองหยิบหนังสือ “25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย (25 วิธีคิดให้ชีวิตสบายๆ)” มาพลิกอ่านดู บางทีหนังสือเล่มนี่อาจจะเปลี่ยนมุมมองการเป็นหนี้ของคุณไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว สำหรับผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
แล้วคุณหละอยากอยู่นรกบ้างแบบนั้นไหม ??