https://www.youtube.com/watch?v=CF9QlFNVs28
ผู้บริหารของ Spotify อย่าง Sea Yen Ong เคยกล่าวถึง Intel เอาไว้อย่างน่าสนใจบนเวที DAAT Day 2019 ว่า Intel เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ผ่าน “เสียงเพลง” เพราะทุกวันนี้ ต่อให้ไม่มีโลโก้ใด ๆ ปรากฏแก่สายตา แต่ถ้ามีใครได้ยินเสียงโน้ตเพลง 4 ตัวที่คุ้นเคย เราก็จะนึกถึง Intel ขึ้นมาได้ทันที
โดยหากเอ่ยถึง Intel ในระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคือชื่อของบริษัทผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Samsung Electronics และเป็นบริษัทอันดับที่ 46 ในลิสต์ Fortune 500 ประจำปี 2018 แต่สำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเช่นกันก็คือ Intel ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ค่อยมีบทบาทนักในแวดวงการตลาด
ซึ่งเมื่อถามต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบอาจต้องย้อนไปถึงช่วงปี 2016 ที่ผู้บริหาร Intel ยอมรับว่ามีการปรับลดพนักงานจากที่เคยมีเป็นทีมใหญ่ 30 กว่าคน จนเหลือแค่หลักหน่วยเท่านั้น และเมื่อมีพนักงานน้อยลง รูปแบบการทำตลาดก็เปลี่ยนไป สถานที่ที่แบรนด์ Intel ปรากฏตัวจึงมักเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเกมเมอร์ แทนการทำตลาดในรูปแบบเดิมที่เคยจัดงานใหญ่โตอลังการ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหากหลายคนจะรู้สึกว่า Intel นั้น “หายไป” จริง ๆ
สัญญาณอะไรที่ทำให้ Intel “กลับมา”
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ครึ่งปีหลังของ 2019 จะมีสัญญาณว่า Intel พร้อมกลับมาบุกตลาดไทยอีกครั้งแล้ว เห็นได้จากการเปิดเผยของทีมบริหารว่ามีการเพิ่มพนักงานขึ้นเป็นเท่าตัวภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ปัจจุบันมีพนักงานแตะหลักสิบคน) ซึ่งหากพิจารณาจากตำแหน่งของทีมงานที่เพิ่มขึ้นมาก็พบว่า Intel น่าจะมองเห็นตลาดใหม่ในประเทศไทยนอกเหนือจากตลาดพีซีแล้วอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือกลุ่มคลาวน์, IoT, Data Center, กล้องวงจรปิด และโรงงานอัจฉริยะ ที่มีการเตรียมทีมงานไว้รองรับธุรกิจใหม่เหล่านี้แล้วเรียบร้อย
ส่วนสัญญาณที่นำไปสู่การเพิ่มทีมงานในตลาดไทยรอบใหม่นั้นก็คือเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล (Data) ที่ Intel พบว่ามีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ระดับ Exponential) ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งการเติบโตนี้จะส่งผลให้ตลาดมีความต้องการชิปประมวลผลรุ่นใหม่ ๆ เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลโตตามไปด้วย
พีซียังสำคัญ แต่กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว
ส่วนตลาดพีซีนั้น คุณ Santhosh Viswanathan กรรมการผู้จัดการของ Intel ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นกล่าวในงานเปิดตัวโปรเซสเซอร์ Intel Core Generation 10 ว่า มองเห็นสัญญาณการกลับมาของตลาดพีซีอยู่เช่นกัน เพียงแต่ว่า
พีซีในยุคต่อไป จะเป็นพีซีแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
“ผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนไปเป็นคนที่คุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น รวมถึงใช้เอไอในสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว พีซีจึงต้องพัฒนาตัวเองให้มีจุดขายที่แตกต่างจากเดิม เช่น ต้องมีเอไอมาช่วยงานได้, สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย, สามารถตัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถโฟกัสกับงานที่ทำ หรือการเปิดขึ้นมาปุ๊บก็พร้อมทำงานทันที ฯลฯ”
ส่วนการตั้งราคาก็เป็นความท้าทายของตลาดพีซีเช่นกัน เพราะหากเปรียบเทียบกับการรับรู้ของคนในตลาดสมาร์ทโฟน เราคุ้นเคยกับภาพที่ว่า ทันทีที่สมาร์ทโฟนแฟล็กชิปยี่ห้อดังเปิดตัว ราคาของมันจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้ง (กรณี iPhone 11 อาจเป็นข้อยกเว้น เนื่องจาก Apple จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์ม iOS อย่างเร่งด่วน เพื่อเหตุผลทางธุรกิจ เช่น เพื่อให้ตัวเลขผู้ใช้งาน Apple TV+ ดูว้าวมากขึ้น) ซึ่งกรณีนี้จะเกิดกับตลาดพีซีที่มีชิปประมวลผลตัวใหม่ด้วยหรือไม่นั้น คุณ Santhosh บอกว่า ตลาดอุปกรณ์ไอทีมีความพิเศษซ่อนอยู่ นั่นคือ สนนราคาค่าสินค้ามีตั้งแต่ศูนย์บาท (ให้ใช้ฟรี) ไปจนถึงเก็บเงินแพง ๆ เลยทีเดียว
“ไม่เสมอไปที่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จะทำให้สินค้ามีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะสมมติคุณเป็นนักพัฒนา (Developer) บริษัทต่าง ๆ อาจส่งสินค้าไม่ว่าจะซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ให้คุณใช้ฟรี เพื่อที่คุณจะได้พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาให้พวกเขาได้ แต่ถ้าคุณเป็นลูกค้า มันก็มีสินค้าหลายระดับให้เลือกใช้ ตั้งแต่ราคาหมื่นต้น ๆ ไปจนถึงหลายหมื่น หรือหลักแสน”
“ดังนั้นไม่เสมอไปที่จะมีชิปตัวใหม่แล้วราคาคอมพิวเตอร์จะต้องแพงขึ้น อยู่ที่ความต้องการใช้งานมากกว่า”
โดย Intel คาดการณ์ว่าธุรกิจในกลุ่มพีซี (ยุคใหม่) นี้จะมีมูลค่าแตะ 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2023 ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจะเติบโตขึ้น 7% แตะที่ 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 เช่นกัน