HomeBrand Move !!“จอยลดา” นิยายแชทที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้งเมื่อ “แอปฯ ล่ม” บทพิสูจน์ Right Content ต้องมาพร้อม Right Platform

“จอยลดา” นิยายแชทที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้งเมื่อ “แอปฯ ล่ม” บทพิสูจน์ Right Content ต้องมาพร้อม Right Platform

แชร์ :

ตามปกติ​ เวลาโซเชียลมีเดียเกิดปัญหาเข้าใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “แอปฯ ล่ม” ก็อาจจะได้ยินเสียงบ่นอื้ออึงอยู่แค่ในกลุ่ม Users นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่แมสมากๆ หรือ Global Platform ที่มีคนใช้งานในหลายประเทศ​​ มี Users แตะหลักสิบล้าน หลักร้อยล้าน อย่างเฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิตเตอร์ ที่เมื่อเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคจนไม่สามารถใช้งานได้ ก็อาจทำให้เสียงบ่นดังกว่าที่อื่นๆ จนติดเทรนด์กลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์และ​เกิดการรับรู้ทั่วไปในวงกว้าง   

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่หากเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่ไม่ได้แมสมากขนาดนั้น แถมยังเจาะเซ็กเม้นต์ชัดเจนว่าเป็น Community ของกลุ่มคนชอบอ่านนิยาย เวลาเกิดปัญหา “แอปฯ ล่ม” ก็ไม่น่าจะกลายเป็น Hot Issue จนถึงกับทำให้ติดอันดับเทรนด์ในทวิตเตอร์ได้

แต่เรื่องเหล่านี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับแพลตฟอร์มที่ชื่อ “จอยลดา” (Joylada) นิยายแชตเจ้าแรกของประเทศ และเป็น​แพลตฟอร์มที่มาแรงและเติบโตเร็วที่สุดใน​ Ookbee Ecosystem ​แม้ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ยังใหม่อยู่ ด้วยอายุเพียงแค่​ 2 ปีกว่าๆ เท่านั้น แต่ ทุกครั้งที่​ “จอยลดาล่ม” ​ก็​จะต้องได้เห็นแฮชแท็ก #joylada หรือ #จอยลดา ติดอยู่ใน Thailand Trend ของทวีตเตอร์แทบทุกครั้งไป จน​ทำให้หลายคนที่แม้อาจจะไม่เคยรู้จักจอยลดามาก่อน แต่เริ่มรู้สึกว่าคุ้นเคย​มากขึ้น เมื่อได้เห็นชื่อจากการติดเทรนด์ทวีตเตอร์อยู่บ่อยๆ

Powerful เบอร์ไหน? ล่มทีไร ติดเทรนด์แทบทุกครั้ง!!

แม้จะอายุแค่ 2 ปี แต่ จอยลดาก็กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดของ Ookbee ไปแล้ว ด้วยจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันแต่ละเดือนเกือบ 2 ล้านคน จำนวนนิยายที่มีเข้ามาทุกเดือนมากกว่า 1 ล้านตอน จากหลายหมื่นเรื่อง รวมทั้งตัวเลขการจอย (กดเพื่ออ่าน) ที่สูงมหาศาลถึง 2 พันล้านครั้งในแต่ละวัน ซึ่งถ้าคำนวณออกมาน่าจะมี Active Daily Users เฉลี่ยที่ราว 7-8 หมื่นคน​

ที่สำคัญ “จอยลดา” น่าจะเป็นเพียงแพลตฟอร์มเดียวในเซ็กเม้นต์นิยาย หรืออีบุ๊ค ​ที่มักกลายเป็นกระแสในวงกว้างจนถึงกับต้องติดเทรนด์ทวิตเตอร์เกือบทุกครั้งที่เกิดปัญหา “แอปฯล่ม” ​​​​      

Youtube: JoyladaOfficial

ทำไมจอยลดาถึงล่ม ล่มบ่อยแค่ไหน แล้วทำไมเวลาล่มถึงกับต้องติดเทรนด์ ​​รวมไปถึง​ Key Success ที่ทำให้จอยลดาประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น มี Active Users หลักล้าน ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากแนะนำแพลตฟอร์มต่อสาธารณะ คุณโจ้ สร้างบุญ แสงมณี Co Founder และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Ookbee หนึ่งในทีมพัฒนาและดูแลแพลตฟอร์มจอยลดา ให้ข้อมูลต่างๆ ไว้ดังนี้

เริ่มด้วยเหตุผลที่จอยลดาล่ม คุณโจ้ อธิบายให้ฟังว่า มาจากจำนวนทราฟฟิกที่เข้ามาค่อนข้างมาก ไม่ต่างกับเหตุผลในเชิงเทคนิคของการใช้งานแพลตฟอร์มทั่วๆ ไป ที่เมื่อมีคนจำนวนมากเข้าใช้งานพร้อมๆ กัน ก็อาจมีอาการหน่วง​​ หรืออาจขัดข้องไปช่วงหนึ่ง ซึ่งช่วงการใช้งานพีคๆ ที่ทำให้จอยลดาล่ม จะมีคนเข้ามาใช้งานพร้อมๆ กันไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนราย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ช่วงปิดเทอม หรือช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียน ทราฟฟิกของจอยลดาในช่วงเวลาเหล่านี้จะค่อนข้างสูง แต่ถ้าเป็นระหว่างวันหรือในช่วงสอบก็จะเห็นทราฟฟิกที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากทาร์เก็ตหลักคือ กลุ่มเด็กๆ และวัยรุ่น ที่ส่วนใหญ่มักจะมีเวลาว่างที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนเหตุผลที่เวลาแอปฯล่ม แล้วมักติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่นิยมใช้โซเชียลเป็นประจำ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มหลักที่​กลุ่มเป้าหมายของจอยลดาใช้อยู่ด้วยเช่นกัน เมื่อเวลามีปัญหา​ก็มักจะโพสต์สิ่งที่พบเจอลงไปและบอกต่อๆ กันไป จนทำให้ติดเทรนด์ ซึ่งก็ถือเป็น Feedback ที่ดี ทำให้ทางทีมได้รับข้อมูลการใช้งานต่างๆ โดยตรงจาก Users จริงๆ

Youtube : JoyladaOfficial

“ทางทีมให้ความสำคัญเรื่องประสบการณ์ในการใช้งาน และเพิ่มเรื่องแอปฯล่ม เป็นหนึ่งใน KPI ที่ต้องดูแลด้วย ทำให้เห็นได้ว่า ปัญหาแอปฯล่มในปีนี้น้อยลงจากปีก่อนหน้ามากแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่บ้างในกรณีที่ทราฟฟิกพุ่งสูงมากกว่าช่วงปกติ เช่น ช่วงพีคมากๆ มีคนเข้ามาในแพลตฟอร์มพร้อมๆ กันเป็นหลักล้านก็มี ​ซึ่งทางทีมได้ปรับสเกลของเซิร์ฟเวอร์ให้สามารถรองรับได้มากขึ้น รวมทั้งยังใช้เทคโนโลยีจากคลาวด์ถึง 2 ราย เพื่อมาช่วยบาลานซ์ระบบให้สามารถขยายสเกลตามทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาบ้าง เช่น กรณีที่มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ ก็อาจจะมีบักส์ หรือปัญหาเชิงเทคนิคบางอย่างกลายเป็นจุดที่อาจทำให้แอปฯล่มได้ ซึ่งเชิงเทคนิคต่างๆ ก็ทำกันอย่างเต็มที่ แต่ในเชิง Users Experience ต้องพยายามทำให้แอปฯกลับมาใช้งานให้เร็วที่สุด เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าการอธิบายเหตุผลต่างๆ คือ ต้องหาวิธีแก้ไข เพื่อให้ Users สามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติ” ​

จอยลดา นางเอกดาวรุ่งแห่ง Content Platform​ 

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นในการสร้างแพลตฟอร์มจอยลดา คุณโจ้ เล่าว่า แม้ตลาดอีบุ๊กจะยังเติบโตต่อไปได้ แต่ก็ค่อนข้างอิ่มตัว ขณะที่กลุ่มสำนักพิมพ์หรือพาร์ทเนอร์ที่เป็นต้นทางของคอนเทนต์ก็เริ่มลดจำนวนลง ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่ออุ๊คบี ซึ่งมีโมเดลธุรกิจ​เป็นแบบ PGC (Professional Generated Content) ​หรือการใช้คอนเทนต์จากกลุ่มมืออาชีพ เช่น สำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแวดวงสื่อสารมวลชนต่างๆ เป็นผู้ครีเอทคอนเทนต์ให้

ขณะที่ฟากของ​ UGC (Users Generated Content) หรือ คอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจากคนทั่วไปเป็นผู้ทำคอนเทนต์ขึ้นมาเอง เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมอย่างสูง ทางอุ๊คบีจึงขยายโอกาสให้ธุรกิจด้วยการเข้ามาในน่านน้ำใหม่ของธุรกิจในฟากของ UGC ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ธัญวลัย” ซึ่งเป็นแอปฯ รวบรวมนิยายไว้หลากหลายแนว และเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ที่ชื่นชอบงานเขียน เข้ามาเผยแพร่ผลงานของตัวเองได้ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

หนึ่งในคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มจอยลดา

“นิยายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดนิยมของคนไทยอยู่แล้ว และความพิเศษในธัญวลัยก็คือ ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งเล่ม แต่เลือกโหลดเฉพาะในตอนที่ต้องการได้ และยังมีคอนเทนต์ฟรีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ทำให้มีทั้งอุ๊คบีที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 30 ปีขึ้นไป และธัญวลัยที่ขยับมาในกลุ่ม 20-30 ปี แต่ก็ยังไม่แมตช์กับกลุ่มที่เด็กลงไปกว่านั้น จึงได้ปรับและต่อยอดจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ​ มาสู่การสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ในประเทศไทยยังไม่มีมาก่อน ในรูปแบบนิยายแชทชื่อ จอยลดา ที่ต้องการสื่อให้ชื่อดูเป็นผู้หญิงไทยๆ และมีความสอดคล้องกับแพลตฟอร์มที่เป็นแอพนิยาย“​

ส่วน Key Success ที่ทำให้จอยลดาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และนับเป็นแพลตฟอร์มที่แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็วที่สุดของอุ๊คบี มีจำนวนผู้ติดตามจำนวนมากในเวลาไม่นานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง​ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะตอนนี้จอยลดาได้เปิดตัวในอินโดนีเซียแล้วด้วยเช่นกัน โดยความสำเร็จต่างๆ มาจาก 4 เหตุผลสำคัญ ต่อไปนี้

1. จำนวนคอนเทนต์ที่หลากหลาย เพราะในฐานะ Content Platform จุดขายสำคัญก็คือเรื่องของคอนเทนต์จากเหล่านักเขียน และครีเอเตอร์หลากหลายแนว ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์ม ด้วยเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ใครๆ ก็สามารถเข้ามาสร้างงานของตัวเองได้ และยังนำมาซึ่งรายได้ด้วย

– สำหรับประเภทของคอนเทนต์ในจอยลดา จากช่วงแรกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มฟิคชั่นเกาหลีเป็นหลัก แต่ต่อมาเริ่มมีความหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะมีกลุ่มเรื่องผี และแนวตลก หรือสืบสวนสอบสวนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันคอนเทนต์ฟิคเกาหลีอยู่ที่ 60-65% ผี 30% และอื่นๆ ที่ราว 5-10%

– ขณะที่รายได้สำหรับคนสร้างคอนเทนต์ เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงๆ Writer จะมีรายได้สูงถึงหลักแสนบาท ซึ่งอาจจะน้อยกว่าธัญวลัยที่รายได้นักเขียนทะลุหลักล้าน เนื่องจาก กลุ่มเป้าหมายหลักที่ยังเป็นเด็ก ขณะที่ธัญวลัยหรือในอุ๊คบีจะเป็นกลุ่มที่โตกว่า หรือเริ่มทำงานมีรายได้ของตัวเองแล้ว แต่ จุดเด่นของแพลตฟอร์ม คือขนาดและความกลมเกลียวที่เกิดขึ้นใน Community ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลา “จอยลดาล่ม” เด็กๆ ก็จะช่วยกันทวิตจนทำให้ติดเทรนด์ทวิตอยู่บ่อยครั้ง

2. เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย และสะดวก เพราะมีคอนเทนต์ฟรีจำนวนมากให้เลือกอ่าน โดยไม่ติดเหรียญ ทำให้ง่ายต่อการชวนให้คนเข้ามาทดลองใช้ในครั้งแรก และเมื่อได้เข้ามาทดลองใช้ ทดลองอ่านจนคุ้นเคย ก็จะทำให้อยากอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป

3. รูปแบบการใช้งานที่แปลกใหม่ของแพลตฟอร์ม เพราะเป็นนิยายแชทรายแรกในประเทศไทย ลักษณะการอ่านที่เป็นการกดเพื่ออ่านทีละประโยค หรือกดค้างเพื่ออ่านแบบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะนิยายที่มีเรื่องราวให้ต้องลุ้นอย่าง เรื่องผี หรือสืบสวนต่างๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการจอย (แตะ) ครั้งต่อไป ก็จะยิ่งได้อรรถรสในการอ่านมากขึ้น

4. ตรงกับอินไซต์และพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความง่าย และสะดวก รวมทั้งสามารถเลือกอ่านได้เฉพาะในตอนที่ต้องการ ประกอบกับคนไทยชื่นชอบและคุ้นเคยกับการแชท กันอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดการตอบรับที่ดี

Right Content ไม่พอต้อง Right Platform ด้วย 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มจอยลดานั้น ทำให้ทีมที่ดูแลและพัฒนาเรียนรู้สิ่งสำคัญในการพัฒนาคอนเทนต์ว่า แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าคอนเทนต์ที่ดีเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มเดิมที่มี ​ไม่ได้ช่วยให้เรา Connect กับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ได้ดีนัก เพราะเด็กๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ แต่ชอบอะไรที่ย่อยได้ง่ายๆ อ่านทีละนิด แต่อ่านได้บ่อยๆ คนที่อ่านอีบุ๊คก็คือคนที่อ่านหนังสือมาก่อน แต่ไม่ใช่เด็กไทยไม่อ่าน แค่เลือกอ่านสิ่งที่ชอบ ซึ่งแค่คอนเทนต์ยังไม่พอ เพราะแม้เราจะดีลลิขสิทธิ์การ์ตูนดังๆ จากเกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่บนแพลตฟอร์มเดิม ผลก็เหมือนเดิม ทำให้เราต้องเพิ่มอุ๊คบี คอมมิคส์ ออกมา ที่สำคัญเด็กไม่ได้อ่านน้อยหรืออ่านแค่ 7-8 บรรทัด เพราะจากเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในแพลตฟอร์มไม่ต่ำกว่า 22 นาที ถ้าคำนวณเป็นบรรทัดหรือเป็นหน้าออกมาถือว่าไม่น้อยเลย เห็นได้ชัดว่าเด็กจะเลือกอ่านจากสิ่งที่ชอบ ซึ่งที่ผ่านมา มีเคสที่น่าสนใจ เช่น อาจารย์ใช้จอยลดา เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อให้เด็กสนใจประวัติศาสตร์ และตามไปอ่านเรื่องราวที่อาจารย์เขียนไว้บนแพลตฟอร์ม ซึ่งได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างมาก”

ดังนั้น การปรับตัวและพัฒนาแพลตฟอร์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเป็นคีย์สำคัญ​ รวมทั้งต้องพยายามสร้าง Engage เพื่อให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง ทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมสนุกอย่างประกวดแต่งนิยายในหมวดต่างๆ หรือต่อยอดมาสู่ Offline ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยจอยลดาเอง หรือร่วมกับพาร์ทเนอร์ในหลายๆ กลุ่ม ที่สำคัญคือการต่อยอดคอนเทนต์ไปในช่องทางที่หลากหลาย เช่น การนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงๆ ไปต่อยอดเป็นซีรีส์ กับ Media Strtegic Partner ต่างๆ

“หัสดินทร์” Side Story ของ ดอกไม้ราตรี อีกหนึ่งการต่อยอดจากนิยายแชทสุดฮิตในแอปพลิเคชัน Joylada

ขณะที่ใน Ookbee Ecosystem ​ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมคอนเทนต์ที่หลากหลาย และสร้างเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น a ดวง กับการขยับเข้ามาในแวดวงคอนเทนต์ยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย ด้วยการเป็น Marketplace สำหรับคนที่ชื่นชอบการดูดวงและหมอดู รูปแบบการดูดวงที่หลากหลาย พร้อมเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งกับหมอดูและคนดูดวง​ แม้จะเพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่เริ่มเป็นที่สนใจ มียอดผู้ติดตามราว 6-7 แสนราย

นอกจากนี้ ยังมี ฟังใจ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเพลงอินดี้ และโลคอลมิวสิค, Buddy Review แพลตฟอร์มสำหรับคนชื่นชอบการรีวิว และยังรวบรวมบรรดาไมโครอินฟลูเอนเซอร์ไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังมีหลายๆ แพลตฟอร์มที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองใช้งาน

การสร้าง Community ในเซ็กเม้นต์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มของอุ๊คบี

อุ๊คบี ยังเตรียมการพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่ในรูปแบบ Audio Content ที่ไม่ใช่พ็อดแคสท์ แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีพื้นที่ในการใช้เสียงเพื่อสร้างคอนเทนต์แบบ UGC และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้งานได้ด้วยเช่นกัน โดยเตรียมเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งทางอุ๊คบีเชื่อว่า โมเดล UGC จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดคอนเทนต์ให้ขยายตัวได้ในอนาคตนั่นเอง

Photo Credit: Facebook Joylada, YouTube: JoyladaOfficial


แชร์ :

You may also like