จากตัวเลขของสถาบันสุขภาพจิตของสหรัฐอเมริกา (The National Institute of Mental Health) พบข้อมูลน่าสนใจ นั่นคือมีชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ประมาณ 46.6 ล้านคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่เรื่องที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือรายงานเรื่อง Mental Health at Work 2019 ของ Mind Share Partners ที่พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตของคนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นใน “ที่ทำงาน” นั่นเอง
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของคน 1,500 คนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และทำงานอยู่ในบริษัทที่มีเพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 11 คน ซึ่งพบว่าเงินและหน้าที่การงานเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำงานในปัจจุบันเกิดความเครียดได้มากที่สุด
สำหรับอาการเครียดที่ร่างกายแสดงออกมามีตั้งแต่ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง ตัวสั่น มวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน โดยพบว่า กว่า 60% ของคนทำงานเคยมีอาการเหล่านี้ในรอบปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น กว่าครึ่งของชาวมินเลนเนียล (ในการสำรวจนี้คือคนที่อายุ 23-38 ปี) และ 75% ของ Gen-Z (อายุ 18-22 ปี) ต้องลาออกจากงานด้วยเหตุผลดังกล่าว
แต่สำหรับคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (55-73 ปี) มีจำนวนคนที่ออกจากงานเพราะปัญหาสุขภาพจิตน้อยที่สุด อยู่ที่ 10% เท่านั้น
ด้าน Kelly Greenwood ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Mind Share Partners เผยว่า คนรุ่นใหม่ค่อนข้างตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดกับตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และมองว่าควรพูดถึงปัญหานี้ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน พวกเขากลับพบว่าไม่สามารถพูดถึงมันได้มากนัก
รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า คนยุคมินเลนเนียลมีความเป็นไปได้ที่จะพบเจอกับอาการซึมเศร้ามากกว่าคนยุคเบบี้บูมถึง 3 เท่า แต่สำหรับชาว Gen-Z แล้ว ความเป็นไปได้เพิ่มเป็น 4 เท่า
แต่ข้อดีก็คือ คนยุคมินเลนเนียลกว่า 63% รู้ว่าหากพบเจอกับปัญหาทางสุขภาพจิตแล้ว จะต้องขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน (เช่น เข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์) มากกว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์
Greenwood กล่าวว่า ปรากฎการณ์นี้เกิดจาก “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทางสังคม” และความจริงที่ว่ามินเลนเนียลและ Gen-Z ต่างมีความเข้าใจกับสุขภาพจิตของตัวเองมากกว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์
นอกจากช่วงอายุแล้ว ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ก็เป็นผลต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน อาทิ คนผิวสีและชาวละตินกว่า 50% มีการลาออกจากงานเพราะปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่คนผิวขาวมีปัญหาน้อยกว่า หรืออุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่ด้วยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่กว่า 55% ลาออกจากงานเพราะปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน อย่างไรก็ดี พบว่า คนในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง และให้พื้นที่สำหรับพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตกับเพื่อนร่วมงานมากกว่าคนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ผลลัพธ์จากการสำรวจนี้ พบว่าสุขภาพจิตนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ถือเป็น 67% และ ในขณะที่ 37% มองว่าสภาพแวดล้อมส่งผลต่อความรู้สึกของพวกเขามากกว่า
Greenwood ให้คำแนะนำว่า อย่างน้อยที่สุดนายจ้างควรที่จะจัดหาสวัสดิการด้านสุขภาพจิตที่จับต้องได้เพื่อให้ลูกจ้างรู้สึกสบายใจที่จะใช้งาน เช่น อาจจะเริ่มจากตั้งกลุ่มให้กับคนที่มีความชอบเหมือนกันได้ทำความรู้จักกัน และอาจจะมีการเทรนเพื่อให้รับมือกับบทสนทนายากๆ และวิธีสังเกตสัญญาณและอาการของปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย